มหาปวารณา (บาลีวันละคำ 1,246)
มหาปวารณา
อ่านว่า มะ-หา-ปะ-วา-ระ-นา
ประกอบด้วย มหา + ปวารณา
(๑) “มหา”
คำเดิม “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) แปลว่า มาก, ใหญ่, ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต, สำคัญ, เป็นที่นับถือ
(๒) “ปวารณา”
รากศัพท์มาจาก ป (ทั่วไป, ข้างหน้า) + วรฺ (ธาตุ = ขอ, ปรารถนา, ห้าม) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ, ทีฆะ อะ ที่ ว-(รฺ) เป็น อา (วรฺ > วาร), + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: ป + วรฺ = ปวร + ยุ > อน = ปวรน > ปวารน > ปวารณ + อา = ปวารณา
“ปวารณา” แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “กิริยาเป็นเหตุให้ปรารถนาปัจจัย” = การยอมให้ขอ คือ รับปากว่าเมื่อต้องการสิ่งใดๆ ก็ให้บอก จะจัดหาให้ตามที่รับปากไว้
(2) “กิริยาเป็นเหตุให้ขอร้องสงฆ์เป็นต้น ด้วยเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องที่ได้เห็นเป็นต้น” = การยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน คือ เมื่อได้เห็นด้วยตนเองว่าทำไม่ถูกไม่ควร หรือไม่ได้เห็น แต่ได้ฟังมาจากคนอื่น หรือแม้ไม่ได้เห็นและไม่ได้ฟังมาจากใคร แต่นึกสงสัยขึ้นมาเอง ก็เปิดโอกาสให้เตือนหรือให้ทักท้วงได้
(3) “การห้ามที่ประกอบด้วยองค์ประกอบ” = การปฏิเสธเมื่อมีเหตุอันควร เช่น รับประทานพอแก่ความต้องการแล้ว แม้เห็นอาหารที่อร่อยก็ไม่ตามใจปาก
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ปวารณา : (คำกริยา) ยอมให้ภิกษุสามเณรขอหรือเรียกร้องเอาได้ เช่น ขอของจากผู้ปวารณา ใบปวารณา; บอกยอมให้ใช้ได้ด้วยความเต็มใจ เช่น ขอปวารณาจะใช้อะไรก็บอก; พิธีกรรมทางศาสนายอมให้สงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนได้ ทําในวันขึ้น ๑๕ คํ่า เดือน ๑๑ ซึ่งเป็นวันออกพรรษา, เรียกวันออกพรรษาว่า วันปวารณา หรือ วันมหาปวารณา. (ป.).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกไว้ตอนหนึ่งว่า –
ปวารณา :
1. ยอมให้ขอ, เปิดโอกาสให้ขอ
2. ยอมให้ว่ากล่าวตักเตือน, เปิดโอกาสให้ว่ากล่าวตักเตือน, ชื่อสังฆกรรมที่พระสงฆ์ทำในวันสุดท้ายแห่งการจำพรรษา คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ เรียกว่า วันมหาปวารณา โดยภิกษุทุกรูปจะกล่าวปวารณา คือ เปิดโอกาสให้กันและกันว่ากล่าวตักเตือนได้
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “ปวารณา” เป็นอังกฤษไว้ดังนี้ –
Pavāraṇā : 1. invitation; giving occasion or opportunity; allowance. 2. invitation to ask. 3. invitation to speak; the act of inviting others to advise one or to speak of one’s offences or any unbecoming behaviour; the ecclesiastical ceremony at the end of the rains retreat, in which monks invite one another to speak of any offences or unbecoming behaviour they have seen, heard or suspected to have been committed during the rains. v. to invite to ask or to speak.
มหา + ปวารณา = มหาปวารณา มีความหมายว่า “การปวารณาครั้งสำคัญ” เป็นชื่อเรียกสังฆกรรมพิเศษที่มีพุทธานุญาตให้สงฆ์กระทำในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 แทนการทำอุโบสถสังฆกรรม (วันพระใหญ่ทุกครั้งพระสงฆ์จะต้องประชุมฟังสวดพระปาติโมกข์ แต่เฉพาะวันพระใหญ่สุดท้ายของการจำพรรษา (ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) พระสงฆ์จะทำ “ปวารณากรรม” หรือ “มหาปวารณา” แทน) สาระสำคัญก็คือการเปิดโอกาสให้เพื่อนสหธรรมิกว่ากล่าวตักเตือนในเมื่อเห็นข้อบกพร่องผิดพลาดของกันและกัน อันเป็นความหมายของ “ปวารณา” ตามข้อ (2)
: การยอมรับผิด เป็นวิสัยของปราชญ์
: การไม่ยอมรับความผิดพลาด เป็นวิสัยของพาล
27-10-58