ตน ตนุ ดนู ดนัย ดนยะ ดนยา (บาลีวันละคำ 2,654)
ตน ตนุ ดนู ดนัย ดนยะ ดนยา
มากันเป็นขบวน
ผู้เขียนบาลีวันละคำเกิดความสงสัยขึ้นมาว่า คำว่า “ตน” ที่รู้กันว่าหมายถึงตัวตนของเรานี้ เป็นภาษาอะไร หรือมาจากภาษาอะไร
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ตน : (คำนาม) ตัว (ตัวคน) เช่น ตนเป็นที่พึ่งของตน; ลักษณนามใช้เรียกฤๅษี อมนุษย์ หรือพวกกายสิทธิ์ เป็นต้น เช่น ฤๅษี ๒ ตน ยักษ์ตนหนึ่ง วิทยาธร ๓ ตน.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกที่มาของคำไว้ (ตามปกติถ้ารู้แน่ว่ามาจากภาษาอะไร พจนานุกรมฯ จะบอกไว้ เช่น ป. คือ มาจากบาลี ส. มาจากสันสกฤต ข. มาจากเขมร เป็นต้น)
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอว่า คำว่า “ตน” เลือนมาจากคำว่า “ตนุ” ในบาลีสันสกฤต
“ตนุ” ในบาลีอ่านว่า ตะ-นุ รากศัพท์มาจาก ตนุ (ธาตุ = แผ่ไป) + อุ ปัจจัย
: ตนุ + อุ = ตนุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้แผ่ไปสู่สังสารทุกข์” (2) “ผู้อันกรรมเป็นต้นขยายไปสู่ความเติบโต” (3) “สิ่งที่แผ่ไปสู่ฐานะนั้นๆ”
“ตนุ” ในบาลีเป็นคำนาม (ธาตุปปทีปิกาว่าเป็นอิตถีลิงค์ พจนานุกรมบาลี-อังกฤษว่าเป็นปุงลิงค์และนปุงสกลิงค์) และเป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) ร่างกาย (the body)
(2) บาง, อ่อนนุ่ม ,น้อย, เอวบางร่างน้อย (thin, tender, small, slender)
บาลี “ตนุ” สันสกฤตก็เป็น “ตนุ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ตนุ : (คำวิเศษณ์) เล็ก, จิ๋ว; อ่อนโยน; บอบบาง, ผอม; น้อย, เล็ก; small, minute; delicate; thin, emaciated; little; – (คำนาม) องค์, ร่าง; หนัง; สตรี; สูรยโคจรสู่ราศีใหม่; สตรีผู้บอบบางหรือเอวบางร่างน้อย; โศลกสี่บันทัด ๆ ละยี่สิบสี่อักษร; the body; the skin; a woman; point of conjunction, or the sun’s entrance into the new sign; a delicate or slender woman; a stanza of four lines, and twenty-four syllables in each.”
จะเห็นได้ว่า “ตนุ” ที่เป็นคำนาม กับ “ตน” ที่ใช้ในภาษาไทยมีความอย่างเดียวกัน
ดังนั้น ตามความน่าจะเป็น หรือจะว่าลากเข้าวัดก็แล้วแต่ “ตน” เลือนมาจาก “ตนุ” แน่ๆ
จาก “ตนุ” ยังกลายรูปตามหลักภาษาเป็นคำอื่นอีก คือ “ตนย” (ตะ-นะ-ยะ) (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เกิดจากกาย” (2) “ผู้แผ่ความรักไว้ในตน”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตนย” ว่า offspring, son (ลูกหลาน, ลูกชาย)
คำนี้ถ้าจะให้หมายถึงลูกสาว ก็เป็น “ตนยา” (ตะ-นะ-ยา) หรือ “ตนุยา” (ตะ-นุ-ยา)
“ตนย” และ “ตนยา” นี่เองที่มาเป็นคำไทยว่า “ดนยะ” และ “ดนยา”
“ดนยะ” พจนานุกรมฯ ให้อ่านว่า ดะ-นะ-ยะ
“ดนยา” พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 ให้อ่านว่า ดะ-นะ-ยา แต่ชะรอยว่าจะมีคนอ่านกันว่า ดน-ยา มากขึ้น พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 จึงโอนอ่อนผ่อนตามแบบพบกันครึ่งทาง คือให้อ่านว่า ดน-นะ-ยา คาดว่าพจนานุกรมฯ ฉบับต่อไปในอนาคตคงจะเพิ่มคำอ่านเป็น ดน-ยา อีกแบบหนึ่ง คล้อยตามกฎสังคมที่ว่า “คนส่วนใหญ่ไม่ชอบเรียนรู้ แต่ชอบทำตามใจ”
นอกจากนี้ “ตนุ” ยังกลายรูปในภาษาไทยเป็น “ดนู” (ดะ-นู) และ “ตนย” กลายเป็น “ดนัย” (ดะ-ไน) ได้อีกด้วย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) ดนุ, ดนู : (แบบ; กลอน) (สรรพนาม) ฉัน, ข้าพเจ้า, เช่น ดนุถามก็เจ้าไซร้ บมิตอบณคำถาม วนิดาพยายาม กะละเล่นสำนวนหวล ก็และเจ้ามิเต็มจิต จะสดับดนูชวน (มัทนะ), เปนสังวาลย์วรรเวจเขบจขบวน คือคำนวณในดนูดูงามกว่าชื่นแล (ม. คำหลวง ทศพร). (ป., ส. ตนุ ว่า ตัวตน; เล็กน้อย, เบาบาง).
(2) ดนยะ, ดนัย : (แบบ) (คำนาม) ลูกชาย. (ป., ส. ตนย).
“แบบ” หมายถึง คำแบบ คือ คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป
“กลอน” หมายถึง คำที่ใช้ในบทร้อยกรอง
แถม :
คำว่า “ตนุ” ในภาษาไทย ถ้าให้คนทั่วไปอ่านก็มักจะออกเสียงว่า ตะ-หฺนุ คือ –นุ ออกเสียงแบบมี ห นำ
เสียง ตะ-หฺนุ คนส่วนมากก็จะนึกถึงเต่าทะเลชนิดหนึ่ง พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 อธิบายไว้ว่า – เต่าชนิดนี้เกล็ดกระดองหลังแต่ละเกล็ดมีลายเป็นทางคล้ายแสงอาทิตย์ จึงมีผู้เรียกว่า เต่าแสงอาทิตย์ ตีนแบนเป็นพาย ตีนหน้าใหญ่ยาวใช้เป็นหลักในการว่ายน้ำ ปรกติอาศัยอยู่ในทะเล จะขึ้นมาตามชายหาดเฉพาะเมื่อจะวางไข่เท่านั้น
คำว่า “ตนุ” ในภาษาไทย ถ้าเป็นชื่อเต่า ก็ออกเสียงว่า ตะ-หฺนุ แต่ถ้าหมายถึง ตัวหรือตน ดังที่ยกมาแสดงตั้งแต่ต้น ท่านให้ออกเสียงว่า ตะ-นุ
คำว่า “ตนุ” ยังใช้เป็นศัพท์ทางโหราศาสตร์อีกด้วย ถ้าพูดเป็นอ่านว่า ตะ-นุ, กะ-ดุม-พะ, สะ-หัด-ชะ …. คนที่ถนัดทางโหราศาสตร์จะร่ายต่อไปเป็นสูตรสำเร็จได้ครบทุกคำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: คนกับคำจำไว้มันหลายเล่ห์
: มักถ่ายเทไถถากถลากถลน
: แต่คำเดียวเจียวยังกลายเป็นหลายกล
: แล้วใจคนหรือจะมิกลายเป็นหลายใจ
#บาลีวันละคำ (2,654)
18-9-62