บาลีวันละคำ

บุปฺผภาณี (บาลีวันละคำ 2,658)

บุปฺผภาณี

พูดจาภาษาดอกไม้ คืออย่างไร

อ่านว่า บุบ-ผะ-พา-นี

ประกอบด้วยคำว่า บุปผ + ภาณี

(๑) “บุปผ

บาลีเป็น “ปุปฺผ” (ปุบ-ผะ) รากศัพท์มาจาก ปุปฺผฺ (ธาตุ = แย้ม, บาน) + ปัจจัย

: ปุปฺผ + = ปุปฺผ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่แย้มบาน” (2) “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้

ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่แย้มบาน” หมายถึง ดอกไม้ (a flower) เป็นความหมายทั่วไป

ปุปฺผ” ที่แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบ่งบานเหมือนดอกไม้” หมายถึง เลือด (blood) เป็นความหมายเฉพาะในบางแห่ง โดยเฉพาะเมื่อกล่าวถึงระดูของสตรี (the menses)

บาลี “ปุปฺผ” สันสกฤตเป็น “ปุษฺป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปุษฺป : (คำนาม) ดอกไม้หรือผกาทั่วไป; ฤดู (ของสตรี); ความเบิกบาน, การเบิกบาน; ยานของท้าวกุเวร; ราชธานีของกรรณ, หรือภาคัลปูร; a flower in general; the menses; expansion, expanding; the vehicle of Kuvera; the capital of Karṇa, or Bhāgalpur.”

ในภาษาไทยใช้เป็น “บุปผ-” (ขีดหลังหมายถึง มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย เช่นในที่นี้มี “-ภาณี” มาสมาส) และ “บุปผา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุปผ-, บุปผา : (คำนาม) ดอกไม้. (ป. ปุปฺผ; ส. ปุษฺป).”

(๒) “ภาณี

บาลีอ่านว่า พา-นี รากศัพท์มาจาก ภณฺ (ธาตุ = กล่าว, ส่งเสียง) + ณี ปัจจัย, ลบ (ณี > อี), ทีฆะต้นธาตุ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ภณฺ > ภาณฺ)

: ภณฺ + ณี > อี = ภณี > ภาณี (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้กล่าว” หมายถึง พูด, สาธยายหรือสวด (speaking, reciting)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ภาณี : (คำนาม) ผู้สวด, ผู้กล่าว, ผู้บอก, คนช่างพูด, เพศหญิง ใช้ว่า ภาณินี.”

ปุปฺผ + ภาณี = ปุปฺผภาณี (ปุบ-ผะ-พา-นี) แปลว่า “ผู้มีปกติกล่าวถ้อยคำประดุจดอกไม้

คำนี้แปลตรงตัวว่า “พูดเหมือนดอกไม้” หมายถึงคำพูดของเขาเปรียบเหมือนดอกไม้ ในภาษาไทยมักเข้าใจกันว่า คนปากหอม พูดจาดี ก่อให้เกิดความรักความชื่นใจแก่ผู้ที่ได้ฟัง เรียกเทียบคำบาลีว่า “พูดจาภาษาดอกไม้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปุปฺผภาณี” ว่า “speaking flowers,” i. e. speaking the truth (“ผู้กล่าวภาษาดอกไม้” คือ ผู้พูดความจริง)

ปุปฺผภาณี” ในภาษาไทยใช้เป็น “บุปผภาณี

ขยายความ :

พูดอย่างไรเรียกว่า “บุปผภาณี” = ปากหอม?

ในพระไตรปิฎก มีพระสูตรหนึ่งชื่อ “คูถภาณีสูตร” คัมภีร์ติกนิบาต อังคุตรนิกาย เป็นคำตรัสของพระพุทธเจ้า ขออัญเชิญมาทั้งคำบาลีและคำแปลเพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

กตโม  จ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  ปุปฺผภาณี

บุคคลบุปผภาณีเป็นอย่างไร?

อิธ  ภิกฺขเว  เอกจฺโจ  ปุคฺคโล 

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บุคคลลางคนในโลกนี้

สภาคโต  วา

เข้าสภาก็ดี

ปริสคโต  วา

เข้าชุมนุมชนก็ดี

ญาติมชฺฌคโต  วา

เข้าหมู่ญาติก็ดี

ปูคมชฺฌคโต  วา

เข้าหมู่ข้าราชการก็ดี

ราชกุลมชฺฌคโต  วา

เข้าหมู่เจ้าก็ดี

อภินีโต  สกฺขิ  ปุฏฺโฐ

ถูกนำตัวไปซักถามเป็นพยานว่า —

เอหมฺโภ  ปุริส  ยํ  ชานาสิ  ตํ  วเทหีติ 

เอาละท่านผู้เจริญ ท่านรู้อันใด จงบอกอันนั้น

โส  อชานํ  วา  อาห  น  ชานามีติ 

บุคคลนั้น ไม่รู้ ก็บอกว่าไม่รู้

ชานํ  วา  อาห  ชานามีติ

รู้ ก็บอกว่ารู้

อปสฺสํ  วา  อาห  น  ปสฺสามีติ

ไม่เห็น ก็บอกว่าไม่เห็น

ปสฺสํ  วา  อาห  ปสฺสามีติ

เห็น ก็บอกว่าเห็น

น  สมฺปชานมุสาภาสิตา  โหติ

ไม่เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งรู้

อตฺตเหตุ  วา

เพราะเห็นแก่ตนบ้าง

ปรเหตุ  วา

เพราะเห็นแก่คนอื่นบ้าง

อามิสกิญฺจิกฺขเหตุ  วา

เพราะเห็นแก่ลาภผลเล็กน้อยบ้าง

อยํ  วุจฺจติ  ภิกฺขเว  ปุคฺคโล  ปุปฺผภาณี.

บุคคลเช่นนี้แหละภิกษุทั้งหลาย เราเรียกว่าบุปผภาณี

ที่มา: ติกนิบาต อังคุตรนิกาย

พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ ข้อ ๔๖๗

…………..

อภิปราย :

เป็นอันยืนยันได้ว่า “บุปผภาณี” ในพระพุทธศาสนาหมายถึงคนพูดความสัตย์ความจริง ความหมายเช่นนี้อาจไม่ตรงกับคำว่า “ภาษาดอกไม้” ที่เราเข้าใจ แต่นั่นคือความหมายที่แท้จริง

เมื่อกล่าวถึงคำสัตย์ เราก็นิยมอ้างภาษิต “สจฺจํ เว อมตา วาจา” แปลว่า “คำสัตย์แลเป็นวาจาไม่ตาย

แล้วก็จะได้ยินคำเหน็บแนมว่า คำจริงไม่ตาย แต่คนพูดความจริงมักตาย

ความคิดเช่นนี้นับเป็นการบั่นทอนกำลังใจอย่างหนึ่ง ทำให้คนไม่อยากพูดความจริง ซึ่งเท่ากับเป็นการส่งเสริมให้คนพูดความเท็จไปในตัว

คำสัตย์” ในภาษิตนั้นท่านหมายถึง “สัจธรรม” คือหลักธรรมอันแสดงข้อปฏิบัติที่ถูกต้องแท้จริง เมื่อนำมาแสดงแล้วมีผู้ปฏิบัติดำเนินตามก็จะเป็นเหตุให้บรรลุอมตธรรมคือพระนฤพานอันไม่มีภพใหม่ คือไม่ต้องเกิดอีก เมื่อไม่มีเกิด ก็เป็นอันไม่มีแก่เจ็บตาย อันเป็นความหมายของ “อมตะ”

สจฺจํ เว อมตา วาจา” มีความหมายเช่นนี้

แต่เพราะไม่ศึกษาสำเหนียก จึงไม่รู้ เมื่อไม่รู้แล้วเอาไปพูดตามที่เข้าใจเอาเอง ความหมายของภาษิตจึงผิดเพี้ยนไป

คนควรพูดคำสัตย์ พระพุทธศาสนาไม่ได้หลับตาสอนให้พูดแต่คำสัตย์แต่สอนองค์ประกอบของ “วาจาสุภาษิต” คือหลักการพูดที่ถูกต้องควบคู่ไว้ด้วยเสมอ กล่าวคือ –

(1) กาเลน ภาสิตา = รู้กาลเทศะที่จะพูด

(2) สจฺจา ภาสิตา = พูดเรื่องจริง

(3) สณฺหา ภาสิตา = พูดอย่างสุภาพ

(4) อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา = พูดสร้างสรรค์

(5) เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา = พูดด้วยไมตรีจิต

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำสัตย์ไม่ใช่หลักประกันว่าคนพูดจะไม่ตาย

: แต่รับประกันได้ทุกรายว่าคำพูดของเขาจะเป็นอมตะ

#บาลีวันละคำ (2,658)

22-9-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย