บาลีวันละคำ

เพียญชนังเครื่องมังสา (บาลีวันละคำ 3,092)

เพียญชนังเครื่องมังสา

คืออะไร

ในนิราศภูเขาทอง ของสุนทรภู่ ตอนท้ายใกล้จบท่านบรรยายไว้ว่า –

…………..

เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพะแนงผัด

สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา

อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา

ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ

หมายเหตุ: สะกดคำตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

เครื่องมังสา” พอเข้าใจได้ไม่ยาก คืออาหารจำพวกปลาเนื้อ คือเนื้อสัตว์ต่างๆ

แต่ “เพียญชนัง” นี่คืออะไร?

เพียญชนัง” อ่านว่า เพียน-ชะ-นัง เปิดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ไม่พบคำนี้

วิธีการหาที่มาของคำก็คือ สันนิษฐานเทียบเคียง

เพียญชนัง” รูปและเสียงใกล้เคียงกับ “พยัญชนะ

พยัญชนะ” บาลีเป็น “พฺยญฺชน” และ “วฺยญฺชน” รากศัพท์มาจาก –

(1) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อญฺช (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , เป็น พฺ, ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ > วฺย + อญฺช = วฺยญฺช + ยุ > อน = วฺยญฺชน > พฺยญฺชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องให้ถึงภัตโดยพิเศษ” (คือทำให้รู้รสชาติอาหาร หรือช่วยให้กินอาหารได้อย่างออกรส) หมายถึง เครื่องปรุง, แกง, กับข้าว (condiment, curry)

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + อญฺช (ธาตุ = ประกาศ) + ยุ ปัจจัย, แปลง อิ (ที่ วิ) เป็น , เป็น พฺ, ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: วิ > วฺย + อญฺช = วฺยญฺช + ยุ > อน = วฺยญฺชน > พฺยญฺชน แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ประกาศความหมาย” ความหมายที่เราเข้าใจกันโดยทั่วไปคือ ตัวหนังสือ (letter)

อภิปรายขยายความ :

(๑) “พฺยญฺชน” ตามรากศัพท์ในข้อ (1) ที่หมายถึง กับข้าว ในความหมายนี้มักมาคู่กับ “สูป” (สู-ปะ) คือ น้ำเนื้อต้ม, ซุป, แกง (broth, soup, curry)

ตามความเข้าใจทั่วไป “สูป” กับ “พฺยญฺชน” เมื่อพูดควบคู่กัน จะแยกความหมายกันชัดเจน คือ :

สูป” หมายถึง กับข้าวชนิดที่เป็นน้ำ ( = น้ำๆ)

พฺยญฺชน” หมายถึง กับข้าวชนิดที่ไม่เป็นน้ำ ( = แห้งๆ)

(๒) “พฺยญฺชน” ตามรากศัพท์ในข้อ (2) ที่หมายถึง ตัวหนังสือ ในความหมายนี้ มีความหมายอย่างอื่นและมีข้อควรรู้ดังนี้ :

(1) ตัวหนังสือ (letter)

ความหมายนี้มักมาคู่กับ “อตฺถ” > อรรถะ (อัด-ถะ) ซึ่งแปลว่า เนื้อความ, ความหมาย, ความสำคัญ, การหมายถึง (sense, meaning, import (of a word), denotation, signification) เช่นในคำว่า –

– แปล “โดยพยัญชนะ” (according to the letter, by letter, orthographically)

– แปล “โดยอรรถ” (according to its meaning, by the correct sense)

(2) เครื่องบ่งชี้, เครื่องหมาย, คุณลักษณะติดตัว, เครื่องหมายเฉพาะ, ลักษณะพิเศษ (sign, mark, accompanying attribute, distinctive mark, characteristic), เครื่องหมายเพศ เช่น –

ปุริสวฺยญฺชน = อวัยวะเพศของบุรุษ (membrum virile)

อุภโตพฺยญฺชนก = มีลักษณะของทั้งสองเพศ, กะเทย (having the characteristics of both sexes, hermaphrodite)

บาลี “พฺยญฺชน” และ “วฺยญฺชน” สันสกฤตเป็น “วฺยญฺชน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

วฺยญฺชน : (คำนาม) ‘วยัญชน, พยัญชนะ,’ เครื่องหมาย; ลักษณะ, ลิงค์หรือเครื่องหมายบอกลักษณะ; เครา; ส่วน- ภาค- หรือองค์ที่ลับ; อุปสกร, เครื่องชูรสอาหาร (ได้แก่-น้ำสอซ, น้ำปลา, น้ำพริก, ฯลฯ); อักษรตัวหนึ่งในหมวดพยัญชนะ (อันมิใช่สระ); สาลังการพจน์หรืออุปมาโวหาร; บริภาษณ์; a token; an insignia; the beard; A privy part; sauce or condiment; a consonant; a figurative expression; an irony, a sarcasm.”

พฺยญฺชน” และ “วฺยญฺชน” ในภาษาไทยใช้เป็น “พยัญชนะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พยัญชนะ” ไว้ว่า –

(1) เสียงพูดที่เปล่งออกมาโดยใช้อวัยวะส่วนต่าง ๆ ในปากและคอ เช่น เสียง ป โดยทั่วไปจะออกเสียงพยัญชนะร่วมกับเสียงสระ, เสียงพยัญชนะ ก็เรียก.

(2) ตัวอักษรที่ใช้แทนเสียงพยัญชนะ เช่น ก ข, รูปพยัญชนะ ก็เรียก, ตัวหนังสือ เช่น แปลโดยพยัญชนะ.

(3) กับข้าวที่ไม่ใช่แกง, คู่กับ สูปะ ซึ่งหมายถึง แกง. (ป. พฺยญฺชน, วฺยญฺชน; ส. วฺยญฺชน).

(4) ลักษณะของร่างกาย.

สรุปว่า “พยัญชนะ” ไม่ได้หมายถึงตัวหนังสืออย่างเดียวดังที่เรามักคุ้นกัน

เมื่อเอาความหมายของ “วฺยญฺชน” หรือ “พฺยญฺชน” ในบาลีสันสกฤต หรือ “พยัญชนะ” ในภาษาไทยเข้าจับ ก็เป็นอันแน่ใจได้ว่า “เพียญชนัง” ในนิราศภูเขาทองดังที่ยกมาข้างต้นก็คือคำที่แปลงรูปไปจาก “พยัญชนะ” ที่พจนานุกรมฯ ให้ความหมายว่า “กับข้าวที่ไม่ใช่แกง

อาจให้ความหมายกว้างๆ ได้ว่า “เพียญชนัง” ก็คือ อาหารการกินทั่วๆ ไปที่คนเราทำกินกันในชีวิตประจำวันนั่นเอง

การแปลง “พยัญชนะ” เป็น “เพียญชนัง” ไม่ใช่แปลงตามใจชอบ แต่แปลงอย่างมีหลัก กล่าวคือ คำว่า “พฺยญฺชน” ในบาลีนั้นไม่ได้ออกเสียงว่า พะ-ยัน-ชะ-นะ ตรงๆ เหมือนภาษาไทย เฉพาะ “พฺยญฺ-” (มีจุดใต้ พ) ไม่ได้ออกเสียงว่า พะ-ยัน- เพราะ พฺ ออกเสียงกึ่งเสียงควบกับ –ยญฺ เสียงจะกลายเป็น เพียน-

พฺยญฺชน” จึงออกเสียงว่า เพียน-ชะ-นะ

พยัญชนะ” จึงกลายเป็น “เพียญชนัง

“-ชนะ” เป็น “-ชนัง” ก็เป็นไปตามลีลากลอน คือแปลงคำทำให้ได้เสียงสัมผัส “-ชนังมังสา” (สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา)

นับว่าเป็นเอกลักษณ์หรือภูมิปัญญาอย่างยอดเยี่ยมของกวีไทย-ภาษาไทย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เราอาจจำเป็นต้องเปลี่ยนแปลงเพื่อให้อยู่กับสังคมได้

: แต่อย่าเปลี่ยนจนไม่เหลืออะไรที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง

————–

แถลง:

เนื่องจากเมื่อวานนี้ (29 พฤศจิกายน 2563) เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ผู้เขียนบาลีวันละคำใช้งานอยู่เกิดเหตุขัดข้องเมื่อเวลาประมาณ 20:30 นาฬิกา ทำให้บทบาลีวันละคำที่เขียนไว้เตรียมจะโพสต์ในเวลา 21:00 นาฬิกา มีอันแปรปรวนไป พยายามแก้ไขก็ไม่สำเร็จและไม่สามารถใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์ได้ ตอนนี้เพิ่งจะมีอาการทุเลาพอใช้งานได้บ้างแล้ว จึงขอนำเอาบาลีวันละคำที่เขียนไว้เมื่อวานนี้มาโพสต์ในวันนี้เป็น

การชดเชย ส่วนบาลีวันละคำประจำวันนี้ถ้าเครื่องคอมพิวเตอร์เป็นใจก็

คงมีเสนอได้ตามปกติ

จึงขออภัยในความไม่ปกติมา ณ ที่นี้

#บาลีวันละคำ (3,092)

30-11-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย