ลัทธิศักดินา (บาลีวันละคำ 2,661)
ลัทธิศักดินา
ปัญหาเรื่องมนุษย์ต้องเท่าเทียมกัน
อ่านว่า ลัด-ทิ-สัก-ดิ-นา
ประกอบด้วยคำว่า ลัทธิ + ศักดินา
(๑) “ลัทธิ”
บาลีเขียน “ลทฺธิ” (ลัด-ทิ) รากศัพท์มาจาก ลภฺ (ธาตุ = ได้) + ติ ปัจจัย, แปลง ต เป็น ธ, ภ เป็น ท
: ลภฺ > ลท + ติ > ธิ = ลทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “การได้รับ” คือการรับเอาสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาไว้
(2) “สิ่งอันควรรับไว้” คือสิ่งที่แต่ละคนเห็นว่าตนควรรับเอาไว้
“ลทฺธิ” หมายถึง ความเชื่อ, ทัศนะ, ทฤษฎี อันเกี่ยวกับศาสนา, โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ความเห็นที่นอกรีต (religious belief, view, theory, esp. heretical view)
พจนานุกรมบางฉบับ แปล “ลทฺธิ” เป็นอังกฤษว่า a view of theory
พจนานุกรมบาลี-ไทย สำหรับนักศึกษา BUDSIR 7 for Windows บอกว่า –
“ลทฺธิ : ลัทธิ, ความเห็น.”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต บอกว่า –
“ลัทธิ : หลักการและความคิดเห็นที่เชื่อถือยึดถือร่วมกันเป็นหมู่พวกสืบกันมา, ทิฏฐิ, ความรู้เข้าใจและประเพณีที่ได้รับไว้และยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมา.”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ลัทธิ : (คำนาม) คติความเชื่อถือ ความคิดเห็น และหลักการ ที่มีผู้นิยมนับถือและปฏิบัติตามสืบเนื่องกันมา เช่น ลัทธิสังคมนิยม ลัทธิชาตินิยม ลัทธิทุนนิยม. (ป. ลทฺธิ ว่า ความเห็น, ความได้).”
“ลัทธิ” ที่เกิดขึ้นและดำเนินไปได้จะต้องประกอบด้วยบุคคล 2 ฝ่ายเสมอ คือ :
(1) ผู้ตั้งลัทธิ หรือ “ศาสดา”
(2) ผู้เลื่อมใสในลัทธิ หรือ “สาวก”
(๒) “ศักดินา”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศักดินา : (คำโบราณ) (คำนาม) อำนาจหรือสิทธิที่พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานให้แก่ไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินตามศักดิ์ของแต่ละคน เดิมเป็นการถือครองที่ดินคิดเป็นจำนวนไร่ ต่อมาถือเป็นการกำหนดสถานะ สิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบของคนในสังคม เช่น มหาอุปราช มีศักดินา ๑๐๐๐๐๐ เจ้าพระยาจักรี มีศักดินา ๑๐๐๐๐ ภิกษุรู้ธรรม เสมอนา ๖๐๐ ไพร่มีครัว มีศักดินา ๒๐ ยาจก วณิพก ทาส ลูกทาส มีศักดินา ๕ (สามดวง); (ภาษาปาก) คำประชดเรียกชนชั้นสูงหรือผู้ดีมีเงินว่าพวกศักดินา.”
พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอกว่า “ศักดินา” เป็นภาษาอะไร แต่คำนิยามที่ว่า “อำนาจหรือสิทธิ” เป็นความหมายที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “ศักดิ” ก็คือ “ศกฺติ” ในสันสกฤตนั่นเอง
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ศกฺติ” ไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศกฺติ : (คำนาม) ‘ศักติ,’ กำลัง, แรง, ความกล้า; หอกหรือศรเหล็ก; เตชัส (หรือเดช) ของเทพดา, อันโรปยติเปนชายาของเธอ; นัยหรือความหมายของศัพท์; power, strength, prowess; an iron spear or dart; the energy of a deity, personified as his wife; signification or meaning of words.”
สันสกฤต “ศกฺติ” บาลีเป็น “สตฺติ” (สัด-ติ) รากศัพท์มาจาก –
(1) สกฺ (ธาตุ = สามารถ) + ติ ปัจจัย, แปลง กฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (นัยหนึ่งว่า ลบ กฺ ซ้อน ตฺ)
: สกฺ + ติ = สกฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่สามารถ” หมายถึง ความสามารถ, กำลัง, อำนาจ (ability, power)
(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ
: สสฺ + ติ = สสฺติ > สตฺติ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เบียดเบียน” หมายถึง หอก, หลาว; มีด, กริช, ดาบ (a spear, javelin; knife, dagger, sword)
ภาษาไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ศักดิ” ถ้าออกเสียงว่า “สัก” ก็สะกดเป็น “ศักดิ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศักดิ์ : (คำนาม) อํานาจ, ความสามารถ, เช่น มีศักดิ์สูง ถือศักดิ์; กำลัง; ฐานะ เช่นมีศักดิ์และสิทธิแห่งปริญญานี้ทุกประการ; หอก, หลาว. (ส. ศกฺติ; ป. สตฺติ).”
ในที่นี้ออกเสียงว่า สัก-ดิ จึงสะกดเป็น “ศักดิ” และหมายถึง อำนาจ, ความสามารถ ซึ่งเป็นความหมายเดียวกับ “อำนาจหรือสิทธิ” ดังคำนิยามในคำว่า “ศักดินา” (ดูข้างต้น)
แล้ว “นา” มาจากไหน? :
ดูความหมายของคำว่า “ศักดินา” แล้วจะเห็นได้ว่า “นา” ก็คือคำไทยอันหมายถึงที่ดินสําหรับปลูกข้าวนั่นเอง
“นา” มาต่อกับ “ศักดิ” ได้อย่างไร?
ผู้เขียนบาลีวันละคำสันนิษฐานว่า ข้อความดั้งเดิมในภาษาไทยคงประสงค์จะพูดว่า “ท่านผู้นั้นชื่อนั้นมีตำแหน่งนั้นได้รับพระราชทานศักดิมีอำนาจครอบครองนาเป็นจำนวนเท่านั้นไร่”
คำว่า “อำนาจครอบครอง” ท่านใช้คำสันสกฤตว่า “ศักดิ” (เข้าใจว่าเจตนาเดิมคงอ่านว่า “สัก” พยางค์เดียว)
พูดสั้นๆ ว่า “ท่านผู้นั้นมีศักดิถือครองนาเท่านั้นไร่”
ต่อมาก็เขียนตัดลัดสั้นเข้าไปอีกเป็น “มีศักดินาเท่านั้นไร่”
บางทีเมื่อเอาข้อความนี้ไปพูดไปเขียนก็อาจจะละจำนวนที่นากี่ไร่ไว้ในฐานเข้าใจ คงพูดแต่เพียงว่า “มีศักดินา” (เท่านั้นเท่านี้ไร่)
แล้วในที่สุดก็เหลือแต่เพียง “ศักดินา” แล้วเลยอ่านกันว่า สัก-ดิ-นา กลายเป็นคำอีกคำหนึ่งที่มีความหมายเฉพาะขึ้นมา
ลัทธิ + ศักดินา = ลัทธิศักดินา เป็นคำประสม แปลจากหน้าไปหลัง แปลเอาความตามประสงค์ว่า “กฎกติกาที่ตั้งขึ้นตามอำนาจฐานะของบุคคล” หรือ “กฎเกณฑ์ที่ยึดเอาฐานะของบุคคลเป็นที่ตั้ง”
ยกตัวอย่างง่ายๆ เช่น กำหนดกันขึ้นว่า คนนี้เป็นเจ้า คนนี้เป็นไพร่ คนนี้เป็นนาย คนนี้เป็นบ่าว เจ้ามีอำนาจอย่างนี้ นายมีอำนาจอย่างนั้น ไพร่มีสิทธิ์แค่นี้ บ่าวมีสิทธิ์แค่โน้น ครั้นกำหนดเช่นนี้แล้วก็พากันยินดีให้เป็นอย่างนั้น ยินยอมให้ทำตามนั้น – นี่คือ “ลัทธิศักดินา”
“ลัทธิศักดินา” อาจเป็นคำที่คิดขึ้นแทนคำว่า “ระบบศักดินา” ที่ใช้พูดกันอยู่
ที่ว่ามานี้เป็นความเห็นและถ้อยคำของผู้เขียนบาลีวันละคำที่คิด เข้าใจ และสรุปเอาเอง
อภิปราย :
ผู้เขียนบาลีวันละคำได้อ่านข้อความที่มีผู้เขียนไว้ ดังนี้ –
…………..
ถ้าเราสอนคนให้รู้จักเคารพความเป็นมนุษย์ซึ่งกันและกัน รู้จักว่ามนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน เราก็เลิกเอาสถานะของคนมาเป็นตัวตั้ง เช่นความเป็นผู้ใหญ่ ผู้น้อย อันเป็นกากเดนของลัทธิศักดินา
…………..
ตามข้อความนี้ ผู้เขียนบาลีวันละคำเข้าใจว่า ผู้เขียนข้อความนี้ต้องการจะบอกว่า การที่มนุษย์เรามีผู้ใหญ่ผู้น้อยนั้นเป็น “กากเดนของลัทธิศักดินา” ซึ่งเลวไร้สาระยิ่งกว่าตัว “ลัทธิศักดินา” เสียอีก และหมายความว่า สังคมมนุษย์ต้องไม่มีผู้ใหญ่ผู้น้อยจึงจะถูกต้อง เพราะ “มนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน”
ศิษย์ไม่ต้องเคารพครูบาอาจารย์ เพราะครูบาอาจารย์คือมนุษย์ และศิษย์ก็คือมนุษย์ จึงมีความเท่าเทียมกัน
ลูกไม่ต้องเคารพพ่อแม่ เพราะพ่อแม่คือมนุษย์ และลูกก็คือมนุษย์ จึงมีความเท่าเทียมกัน
– อย่างนี้คือ “มนุษย์นั้นเท่าเทียมกัน เราก็เลิกเอาสถานะของคนมาเป็นตัวตั้ง” ใช่ไหม?
ถ้าไม่ใช่ คำว่า “เท่าเทียมกัน” ใช้อะไรเป็นเกณฑ์ และใช้อย่างไร?
ขอบเขตของบาลีวันละคำไม่ใช่อภิปรายปัญหาสังคม จึงขอฝากให้ช่วยกันคิดเพียงแค่นี้ แล้วไปแสดงความเห็นกันในเวทีอื่น
…………..
ดูก่อนภราดา!
ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.
: เสื่อมจากธรรม
: คนก็ระยำพอๆ กับสัตว์
#บาลีวันละคำ (2,661)
25-9-62