บาลีวันละคำ

เภสัชทาน (บาลีวันละคำ 2,672)

เภสัชทาน

ไม่ใช่การประกอบเวชกรรม

อ่านว่า เพ-สัด-ชะ-ทาน

ประกอบด้วยคำว่า เภสัช + ทาน

(๑) “เภสัช

บาลีเป็น “เภสชฺช” (เพ-สัด-ชะ) รากศัพท์มาจาก ภิสช + ณฺย ปัจจัย

(ก) “ภิสช” (พิ-สะ-ชะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ภิสฺ (ธาตุ = เยียวยา) + ปัจจัย

: ภิสฺ + = ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เยียวยา

(2) วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สชฺ (ธาตุ = แจกแจง) + ปัจจัย, แปลง วิ เป็น ภิ

: วิ + สชฺ = วิสชฺ + = วิสช > ภิสช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้คลี่คลายโรค

ภิสช” (ปุงลิงค์) หมายถึง หมอยา, แพทย์ (a physician)

(ข) ภิสช + ณฺย ปัจจัย, แผลง อิ ที่ ภิ-(สช) เป็น เอ (ภิสช > เภสช), แปลง กับ ณฺย เป็น ชฺช

: ภิสช + ณฺย = ภิสชณฺย > เภสชณฺย > เภสชฺช (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งแก้หรือป้องกันโรคของหมอ” (สิ่งที่หมอใช้แก้หรือป้องกันโรค) หมายถึง โอสถหรือของแก้, เภสัช, ยา (a remedy, medicament, medicine)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

เภสัช, เภสัช– : (คำนาม) ยาแก้โรค. (ป. เภสชฺช; ส. ไภษชฺย).”

(๒) “ทาน

บาลีอ่านว่า ทา-นะ รากศัพท์มาจาก ทา (ธาตุ, = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: ทา + ยุ > อน = ทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้” “สิ่งของสำหรับให้

ทาน” มีความหมายว่า –

(1) การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น

(2) สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ทาน” ว่า giving, dealing out, gift; almsgiving, liberality, munificence (การให้, การแจกให้, ของขวัญ; การให้ทาน, การมีใจคอกว้างขวาง)

ทาน” ใช้ในรูปเดียวกันทั้งบาลีและสันสกฤต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ทาน : (คำนาม) ‘ทาน’, การให้, การบริจาค; มันเหลวซึ่งเยิ้มออกจากขมับช้างตกน้ำมัน; การอุปถัมภ์, การบำรุง; วิศุทธิ, นิรมลีกรณ์; การตัด, การแบ่ง; ทักษิณา, ของถวาย, ของให้เปนพิเศษ; การตี, การเฆาะ; อรัณยมธุ, น้ำผึ้งป่า; giving, gift, donation; fluid that flows from the temples of an elephant in rut; nourishing, cherishing; a present, a special gift; striking, beating; wild honey.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ขยายความคำว่า “ทาน” ไว้ว่า –

ทาน : การให้, ยกมอบแก่ผู้อื่น, ให้ของที่ควรให้ แก่คนที่ควรให้ เพื่อประโยชน์แก่เขา, สละให้ปันสิ่งของของตนเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่น; สิ่งที่ให้, ทรัพย์สินสิ่งของที่มอบให้หรือแจกออกไป;

ทาน ๒ คือ

1. อามิสทาน ให้สิ่งของ

2. ธรรมทาน ให้ธรรม;

ทาน ๒ อีกหมวดหนึ่ง คือ

1. สังฆทาน ให้แก่สงฆ์ หรือให้เพื่อส่วนรวม

2. ปาฏิบุคลิกทาน ให้เจาะจงแก่บุคคลผู้ใดผู้หนึ่งโดยเฉพาะ …”

เภสัช + ทาน = เภสัชทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้เภสัช” หมายถึง การให้เภสัชเป็นทาน คือการทำยาบำรุงสุขภาพหรือยารักษาโรคแจกให้เป็นทานแก่คนที่ต้องการ

อภิปรายขยายความ :

สมัยก่อน วัดต่างๆ จะมีพระที่มีความรู้ทางสมุนไพร ท่านก็จะทำยาต่างๆ ไว้สงเคราะห์ชาวบ้าน เป็นการสงเคราะห์ด้วยกุศลจิตเมตตาจิตแท้ๆ ไม่หวังลาภผลใดๆ ทั้งสิ้น ชาวบ้านที่มีศรัทธาก็จะช่วยกันบำรุงตามกำลัง ปัจจัยที่ได้มาพระท่านก็เอาไปจัดหาสมุนไพรมาทำยาไว้สงเคราะห์ชาวบ้านต่อไปอีก สนับสนุนหมุนเวียนกันไปอย่างนี้ เป็นกิจที่เกื้อกูลกันและกัน

พระเดชพระคุณท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ฟื้น ชุตินธรมหาเถระ วัดสามพระยา ผู้คิดจัดตั้งหน่วย อ.ป.ต. (หน่วยอบรมประชาชนประจำตำบล) ของคณะสงฆ์ ท่านกำหนดให้การสงเคราะห์ชาวบ้านในด้านสาธารณสุขเป็นกิจอย่างหนึ่งของ อ.ป.ต. มีผู้เรียกกิจนี้ว่า “เภสัชทาน” (เพ-สัด-ชะ-ทาน) แปลความว่า “ให้ยาเป็นทาน

สมัยผู้เขียนบาลีวันละคำเป็นเด็กวัดหนองกระทุ่ม อำเภอปากท่อ พระท่านทำยาดองมะกรูดใส่กระถางมังกรตั้งไว้ที่นอกชานหอฉัน ชาวบ้านไปมาก็ตักกินเหมือนยาอายุวัฒนะ รสเปรี้ยวๆ เค็มๆ อร่อยดี ไม่ทราบว่าเดี๋ยวนี้มีวัดไหนทำกันบ้าง

ถ้ารื้อฟี้นกระถางยาดอง หรือ “เภสัชทาน” ขึ้นมาได้ จะเป็นมหากุศลอีกอย่างหนึ่งของวัด

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เงินซื้อยารักษาโรคได้

: แต่ซื้อความไม่มีโรคไม่ได้

#บาลีวันละคำ (2,672)

6-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย