สมณโคดม (บาลีวันละคำ 2,683)
สมณโคดม
คำคนนอกศาสนาเรียกพระบรมศาสดาของเรา
อ่านว่า สะ-มะ-นะ-โค-ดม
ประกอบด้วยคำว่า สมณ + โคดม
(๑) “สมณ”
อ่านว่า สะ-มะ-นะ รากศัพท์มาจาก สมฺ (ธาตุ = สงบ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง น เป็น ณ
: สมฺ + ยุ > อน = สมน > สมณ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้สงบจากบาปด้วยประการทั้งปวงด้วยอริยมรรค” หรือแปลสั้นๆ ว่า “ผู้สงบ” หมายถึง นักบวช, ภิกษุ, บรรพชิต
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สมณ” ว่า a wanderer, recluse, religieux (นักบวช, ฤๅษี, สมณะ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สมณ-, สมณะ : (คำนาม) ผู้สงบกิเลสแล้ว โดยเฉพาะหมายถึงภิกษุในพระพุทธศาสนา. (ป.; ส. ศฺรมณ).”
(๒) “โคดม”
บาลีเป็น “โคตม” อ่านว่า โค-ตะ-มะ รากศัพท์มาจาก –
(ก) โค (รัศมี, รังสี) + ตม ปัจจัย
: โค + ตม = โคตม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีรัศมีสว่างที่สุด” หมายถึง ดวงอาทิตย์
(ข) โคตม (ดวงอาทิตย์) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: โคตม + ณ = โคตมณ > โคตม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้เป็นเหล่ากอของมุนีชื่อโคตมะเพราะเกิดในวงศ์โคตมะ” (2) “ผู้เป็นโอรสแห่งโคตมะ” (3) “เหล่ากอของพระอาทิตย์”
“โคตม” เขียนแบบไทยเป็น “โคตมะ” อ่านว่า โค-ตะ-มะ เป็นชื่อวงศ์ของชนวรรณะกษัตริย์พวกหนึ่ง (ชื่อวงศ์เช่นนี้เทียบกับคำที่เราคุ้นกันดีก็คือ “นามสกุล” นั่นเอง) ผู้ที่เกิดในวงศ์นี้จึงมีนามเรียกขานกันว่า “โคตมะ”
ในที่นี้ “โคตมะ” หมายถึงพระพุทธเจ้า เนื่องจากพระพุทธองค์ประสูติในวงศ์ “โคตมะ”
บาลี “โคตม” นอกจากเขียนแบบไทยเป็น “โคตมะ” แล้ว ยังแปลงรูปเป็น “โคดม” (โค-ดม) อีกด้วย
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “โคดม” “โคตมะ” ไว้ดังนี้ –
“โคดม, โคตมะ : ชื่อตระกูลของพระพุทธเจ้า มหาชนเรียกพระพุทธเจ้าตามพระโคตรว่า พระโคดม พระโคตมะ หรือ พระสมณโคดม.”
คำว่า “โคดม” และ “โคตมะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
สมณ + โคตม = สมณโคตม (สะ-มะ-นะ-โค-ตะ-มะ) แปลว่า “พระโคดมผู้เป็นสมณะ” หรือ “พระสมณะผู้เกิดในวงศ์โคดม”
“สมณโคตม” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สมณโคดม” นิยมแปลทับศัพท์ว่า “พระสมณโคดม”
อภิปราย :
คำว่า “สมณโคดม” ในภาษาบาลี มีทั้งที่แยกกันเป็น “สมณ” คำหนึ่ง “โคตม” อีกคำหนึ่ง แต่พูดควบกัน เช่น “สมโณ โคตโม” (สะ-มะ-โน โค-ตะ-โม) และมีทั้งที่สมาสเป็นคำเดียวกัน คือเป็น “สมณโคตม” เช่น “สมณโคตโม” (สะ-มะ-นะ-โค-ตะ-โม)
ข้อที่ควรทราบคือ คำว่า “สมณโคดม” เป็นคำที่มหาชนคือคนทั่วไปเรียกพระพุทธเจ้าพระองค์นี้ และเป็นคำที่ใช้เมื่อกล่าวถึงพระพุทธเจ้าในฐานะเป็นบุคคลทั่วไป หรืออย่างเป็นกลางๆ
แต่บรรดาพุทธบริษัท ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ จะใช้คำเรียกพระพุทธเจ้าว่า “ภควา” (พระผู้มีพระภาค) “พุทฺโธ” (พระพุทธองค์) หรือ “สตฺถา” (พระศาสดา, พระบรมครู)
ตรวจดูในคัมภีร์ ไม่พบเลยว่าพุทธบริษัทเรียกพระพุทธเจ้าด้วยคำว่า “สมณโคตม”
จึงได้หลักว่า พุทธบริษัทจะไม่เรียกพระพุทธเจ้าด้วยคำว่า “สมณโคดม” เป็นอันขาด
เทียบกับวัฒนธรรมการใช้ภาษาของไทยเรา ก็เหมือนพ่อกับลูก สมมุติว่าพ่อชื่อ “สมชาย” คนทั่วไปย่อมเรียกขานว่า “นายสมชาย” หรือ “คุณสมชาย” แต่ลูกของนายสมชายย่อมจะไม่เรียกพ่อของตนว่า “นายสมชาย” หรือ “คุณสมชาย” เหมือนที่คนทั่วไปเรียก
ถ้าลูกเรียกพ่อโดยใช้คำระบุชื่อเช่นนั้น ก็จะรู้สึกได้ทันทีว่าขาดความเคารพ หรือไม่มีความรู้สึกผูกพันเป็นพ่อเป็นลูกกัน (ลูกเรียกแม่ก็ทำนองเดียวกัน)
วัฒนธรรมของชาวตะวันตกก็มีร่องรอยอย่างเดียวกัน ถ้าลูกคนไหนเรียกพ่อหรือแม่โดยใช้คำระบุชื่อเหมือนที่คนทั่วไปเรียก ก็พึงรู้ได้ทันทีว่าลูกกับพ่อหรือลูกกับแม่คู่นั้นมีความสัมพันธ์ที่ไม่ปกติเช่นพ่อแม่ลูกปกติทั่วไป
วัฒนธรรมทางภาษาเป็นเรื่องละเอียดอ่อน ถ้าไม่ศึกษาเรียนรู้ให้เข้าใจถึงระดับซาบซึ้ง ก็อาจไม่รู้สึก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่รับวัฒนธรรมจากต่างสังคมในขณะที่ขาดความเข้าใจซาบซึ้งในวัฒนธรรมของตัวเอง ก็อาจมองไม่เห็นความสำคัญของการใช้ถ้อยคำเรียกขานกันตามวัฒนธรรมที่เคยกำหนดนิยมกันมา
ในอนาคต ลูกของนายสมชายอาจเรียกพ่อของตนว่า “คุณสมชาย” หรือแม้แต่ “สมชาย” เฉยๆ เหมือนที่คนทั่วไปเรียก โดยไม่มีใครเห็นว่าเป็นเรื่องเสื่อมทรามเสียหายแต่ประการใดเลย-ก็เป็นได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพราะไม่เรียนจึงไม่รู้ จึงลบหลู่จึงดูเบา
: ชื่อแท้พ่อแม่เรา จะเรียกขานจงรู้ควร
#บาลีวันละคำ (2,683)
17-10-62