ถวายพรพระ (๒)
ถวายพรพระ (๒)
เรื่องที่สอง ที่ผมเจอคำผิดในบทถวายพรพระ ก็คือ คำว่า “… คาถาโย” ใน “พุทธชัยมงคลคาถา” หรือ “ชยมังคลัฏฐกคาถา” หรือ “คาถาพาหุง” บทที่ ๙
ข้อความเต็มๆ ในบทนี้เป็นดังนี้ –
เขียนแบบบาลี :
เอตาปิ พุทฺธชยมงฺคลอฏฺฐคาถา
โย วาจโน ทินทิเน สรเตมตนฺที
หิตฺวานเนกวิวิธานิ จุปทฺทวานิ
โมกฺขํ สุขํ อธิคเมยฺย นโร สปญฺโญ.
เขียนแบบคำอ่าน :
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา
โย วาจะโน ทินะทิเน สะระเตมะตันที
หิต๎วานะเนกะวิวิธานิ จุปัททะวานิ
โมกขัง สุขัง อะธิคะเมยยะ นะโร สะปัญโญ.
คำแปล :
นรชนใดมีปัญญา ไม่เกียจคร้าน สวดก็ดี ระลึกก็ดี
ซึ่งพระพุทธชัยมงคล ๘ คาถาเหล่านี้ทุกๆ วัน
นรชนนั้นจะขจัดอุปัทวันตรายทั้งหลายเป็นอเนกประการเสียได้
ถึงซึ่งพระนิพพานอันเป็นบรมสุขแล.
…………..
พุทธชัยมงคลคาถาบทที่ ๙ นี้เป็นบทสรุปอานิสงส์ของพุทธชัยมงคลคาถาทั้ง ๘ บท (คำขึ้นต้นแต่ละบทคือ พาหุํ-มารา-นาฬา-อุกฺขิตฺ-กตฺวา-สจฺจํ-นนฺโท-ทุคฺคา-)
พุทธชัยมงคลคาถาบทที่ ๙ นี้มีคำที่หนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์เผยแพร่ในเวลานี้มักพิมพ์ผิด ซึ่งควรที่จะช่วยกันทำความเข้าใจ คือคำว่า “คาถา” ที่ท้ายวรรคแรก หนังสือสวดมนต์มักพิมพ์เป็น “คาถาโย” (ดูภาพประกอบ)
นั่นคือ เอาคำว่า “โย” ซึ่งเป็นคำแรกของวรรคที่สองมารวมกับคำว่า “คาถา” ซึ่งเป็นคนละคำกัน
หลักวิชาการที่ควรทราบไว้เป็นพื้นฐานก็คือ –
๑ พุทธชัยมงคลคาถาแต่งเป็นคำฉันท์ที่เรียกว่า “วสันตดิลกฉันท์”
๒ วสันตดิลกฉันท์กำหนดจำนวนคำบาทละ ๑๔ พยางค์หรือ ๑๔ คำ (เปล่งเสียงออกมาคำหนึ่ง นับเป็น ๑ พยางค์)
ลองนับจำนวนพยางค์ในวรรคแรกดู
เอตาปิ พุทธะชะยะมังคะละอัฏฐะคาถา
(1) เอ (2) ตา (3) ปิ (4) พุท (5) ธะ (6) ชะ (7) ยะ (8) มัง (9) คะ (10) ละ (11) อัฏ (12) ฐะ (3) คา (14) ถา
วรรคอื่นๆ ก็เช่นกัน แต่ละวรรคจะมี ๑๔ พยางค์เหมือนกันทั้งหมด
สวดพาหุงกันมานานแล้ว ถ้ายังไม่เคยสังเกต โปรดสังเกตไว้เป็นความรู้นะครับ ศรัทธากับปัญญาควรมาคู่กัน
เป็นอันยืนยันได้ว่า ข้อความในวรรคแรกครบ ๑๔ พยางค์ตรงคำว่า “-คาถา”
ถ้ามี “โย” มาต่อท้ายอีก ๑ คำ เป็น “-คาถาโย” จำนวนคำในวรรคนี้ก็จะเป็น ๑๕ พยางค์ เกินกำหนดตามกฎของวสันตดิลกฉันท์ แล้วยังจะทำให้จำนวนคำในวรรคต่อไปขาดไป ๑ พยางค์อีกด้วย
นี่เป็นเทคนิคการสังเกตแบบง่ายๆ โดยที่ยังไม่ต้องเรียนรู้ไปถึงกฎเกณฑ์ที่ซับซ้อนอื่นๆ แต่ประการใด
…………..
เคยมีนักเรียนบาลีพยายามอธิบายแก้แทนให้ว่า คำว่า “คาถา” ในภาษาบาลี หลักไวยากรณ์บอกว่าเป็นอิตถีลิงค์ เมื่อเป็นพหูพจน์สามารถแจกวิภัตติเปลี่ยนรูปเป็น “คาถาโย” (แปลว่า “คาถาทั้งหลาย”) ได้ “คาถาโย” จึงไม่ผิดไวยากรณ์
ใช่ครับ ไม่ผิดไวยากรณ์ แม้แต่ผู้สวดสาธยายคาถาพาหุง ถ้ากำหนดแต่เสียง ไม่ได้กำหนดรูปคำ ก็อาจจะนึกภาพคำนี้เป็น “คาถาโย” ด้วยก็ยังได้
แต่เฉพาะในที่นี้จะเป็น “คาถาโย” ไม่ได้ เพราะเกินจำนวนคำในวรรคซึ่งต้องมี ๑๔ พยางค์ตามกฎของวสันตดิลกฉันท์ดังกล่าวแล้ว
โปรดดูภาพที่แสดงผังของวสันตดิลกฉันท์ จะเข้าใจได้ชัดเจน
…………..
แถมให้อีกคำหนึ่งครับ คือตรงคำว่า “สะระเต มะตันที”
ตามหลักภาษาบาลี ๒ คำนี้จะต้องเขียนติดกันเป็น “สะระเตมะตันที” เวลาแปลแยกศัพท์เป็น “สะระเต” คำหนึ่ง แปลว่า “ระลึกถึง” “อะตันที” อีกคำหนึ่ง แปลว่า “ผู้ไม่เกียจคร้าน”
“สะระเต อะตันที” เขียนแบบบาลีเป็น “สรเต อตนฺที”
ระหว่าง สรเต กับ อตนฺที ท่านเติม “ม” (มะ) ลงไป ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “มะ-อาคม” เพื่อความสละสลวยในเวลาสวด
สรเต + ม + อตนฺที = สรเตมตนฺที
เพราะฉะนั้น “สรเตมตนฺที” (สะระเตมะตันที) จึงต้องเขียนติดกัน
แต่ไปดูเถอะครับ หนังสือสวดมนต์ที่พิมพ์เผยแพร่กัน ฉบับไหนฉบับนั้น พิมพ์แยกคำเป็น สะระเต มะตันที ทั้งนั้น
ต่อไปก็คงจะมีผู้ออกมาอธิบายว่า แยกเป็นคนละคำแบบนี้ถูกต้อง ใช้ได้ ไม่ผิด ด้วยเหตุผล ๑… ๒… ๓… ๔…
แล้วผิดก็จะกลายเป็นถูกไปในที่สุด
…………..
ปัญหาน่าคิดก็คือ จะทำอย่างไรกันดีกับการผลิตและเผยแพร่หนังสือสวดมนต์ในบ้านเราซึ่งมีอิสระเสรีอย่างยิ่ง กฎหมายว่าด้วยการพิมพ์และโฆษณายังคลุมมาไม่ถึงตรงนี้
ใครจะพิมพ์บทอะไร จะพิมพ์ผิดพลาดคลาดคลาดเคลื่อนขนาดไหน สามารถทำได้อย่างเสรี ไม่มีมาตรการกำกับดูแลและไม่มีบทเอาโทษเอาผิดใดๆ ทั้งสิ้น
นี่ก็เป็นงานอีกอย่างหนึ่งที่คณะสงฆ์ควรออกมารับผิดชอบ
ที่น่าเจ็บปวดที่สุดก็คือ บ้านเรามีนักเรียนบาลีทั้งที่จบแล้วและที่กำลังเรียนเป็นจำนวนมาก
แต่หาคนที่เจ็บร้อนกับเรื่องนี้ไม่ได้เลย
ทุกคนคิดอย่างเดียวกัน-ไม่ใช่หน้าที่
ผมนึกถึงภาพคนเรียนหมอ
คนป่วยมาอยู่ตรงหน้า
แต่หมอบอกว่า-ไม่ใช่หน้าที่
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๘ สิงหาคม ๒๕๖๔
๑๕:๔๖