จตุรงคินีเสนา (บาลีวันละคำ 2,682)
จตุรงคินีเสนา
ยังไม่ใหญ่เกินชราแลมฤตยู
อ่านว่า จะ-ตุ-รง-คิ-นี-เส-นา
แยกศัพท์เป็น จตุร + องคินี + เสนา
(๑) “จตุร”
รูปคำเดิมคือ “จตุ” (จะ-ตุ) แปลว่า สี่ (จำนวน 4) เมื่อสนธิกับ “องคินี” ลง ร อาคมระหว่าง “จตุ” กับ “องคินี”
(๒) “องคินี”
รูปคำเดิมในบาลีคือ “องฺค” (อัง-คะ) รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
“องฺค” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)
องฺค + อี ปัจจัย = องฺคี (อัง-คี) แปลว่า “-มีองค์ประกอบ” หรือ “-มีส่วนประกอบ” (เท่านั้นเท่านี้อย่าง)
องฺคี + อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ = องฺคินี (อัง-คิ-นี)
ที่ต้องลง อินี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ก็เพราะเป็นคำขยาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “วิเสสนะ”) ของ “เสนา” ซึ่งเป็นอิตถีลิงค์
ในภาษาไทยเขียนเป็น “-องคินี” (มีคำอื่นมาสมาสข้างหน้า) อ่านว่า อง-คิ-นี (บาลีอ่านว่า อัง-คิ-นี)
(๓) “เสนา”
บาลีอ่านว่า เส-นา รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = ผูก, มัด) + น ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: สิ > เส + น = เสน + อา = เสนา แปลตามศัพท์ว่า –
(1) “ผู้ที่ผูกกันไว้” คือ ผู้ที่ต้องเกาะกลุ่มกันเป็นพวก เป็นหมู่ เป็นกอง จึงจะสามารถปฏิบัติงานได้
(2) “ผู้เป็นเหตุให้ผูกมัดข้าศึกได้” คือ เมื่อมีข้าศึกศัตรูมารุกราน (หรือจะไปรุกรานบ้านเมืองอื่น) ต้องอาศัยหมู่คนชนิดเช่นนี้จึงจะสามารถจับข้าศึกได้
“เสนา” หมายถึง กองทัพ (an army)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“เสนา ๑ : (คำนาม) ไพร่พล. (ป., ส.).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 แก้ไขบทนิยามใหม่ เป็น –
“เสนา ๑ : (คำโบราณ) (คำนาม) ข้าราชการฝ่ายทหาร. (ป., ส.).”
คำว่า “ไพร่พล” กับ “ข้าราชการฝ่ายทหาร” ให้ความรู้สึกที่ต่างกันอย่างมาก
การประสมคำ :
๑ จตุ + องฺคินี ลง ร อาคมระหว่างศัพท์
: จตุ + ร + องฺคินี = จตุรงฺคินี แปลว่า “-มีองค์ประกอบสี่อย่าง” หรือ “-มีส่วนประกอบสี่อย่าง”
“จตุรงฺคินี” เขียนทับศัพท์แบบไทยเป็น “จตุรงคินี” (จะ-ตุ-รง-คิ-นี)
๒ ในภาษาบาลี “จตุรงฺคินี” กับ “เสนา” เป็นคนละคำ คือเขียนแยกกันเป็น จตุรงฺคินี เสนา (“จตุรงฺคินี” วิเสสนะของ “เสนา”)
ในภาษาไทย “จตุรงคินี” กับ “เสนา” รวมเป็นคำเดียวกัน คือเขียนติดกันเป็น “จตุรงคินีเสนา”
ขยายความ :
สมัยโบราณ กองทัพที่เป็นมาตรฐานจะประกอบด้วยกำลังพลสี่เหล่า คือ พลช้าง, พลรถ, พลม้า และพลราบ เรียกว่า “จตุรงฺคินี เสนา” (จะ-ตุ-รัง-คิ-นี-เส-นา) แปลตามศัพท์ว่า “กองทัพมีองค์สี่”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “จตุรงฺคินี เสนา” ว่า comprising four parts of an army consisting of elephants, chariots, cavalry & infantry (กองทัพที่ประกอบด้วยพลช้าง, พลรถ, พลม้า และพลราบ)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“จตุรงคินีเสนา : (คำนาม) กองทัพมีกำลัง ๔ เหล่า คือ เหล่าช้าง เหล่ารถ เหล่าม้า เหล่าราบ, จตุรงคเสนา ก็ว่า. (ป., ส. จตุรงฺคินี + เสนา).”
เจริญธรรม :
ยะถาปิ เสลา วิปุลา
นะภัง อาหัจจะ ปัพพะตา
สะมันตา อะนุปะริเยยยุง
นิปโปเถนตา จะตุททิสา.
ภูเขาศิลาล้วนกว้างใหญ่
สูงเสียดฟ้า
กลิ้งบดสัตว์มาในสี่ทิศ
หมุนเวียนอยู่โดยรอบ แม้ฉันใด
เอวัง ชะรา จะ มัจจุ จะ
อะธิวัตตันติ ปาณิโน
ขัตติเย พราหมะเณ เวสเส
สุทเท จัณฑาละปุกกุเส.
ความแก่และความตายก็เหมือนฉันนั้น
ย่อมครอบงำสัตว์ทั้งหลาย
คือกษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร
จัณฑาล และเหล่าชนชั้นต่ำ
นะ กิญจิ ปะริวัชเชติ
สัพพะเมวาภิมัททะติ
นะ ตัตถะ หัตถีนัง ภูมิ
นะ ระถานัง นะ ปัตติยา.
ความแก่ตายไม่ละเว้นใครๆ ไว้เลย
ย่อมครอบงำย่ำยีให้อยู่ในอำนาจทั้งสิ้น
สมรภูมิที่จะยกพลช้าง ม้า รถ พลเดินเท้า
ไปสัประยุทธกับความแก่ตายนั้นมิได้มีเลย
นะ จาปิ มันตะยุทเธนะ
สักกา เชตุง ธะเนนะ วา
ตัสมา หิ ปัณฑิโต โปโส
สัมปัสสัง อัตถะมัตตะโน
พุทเธ ธัมเม จะ สังเฆ จะ
ธีโร สัทธัง นิเวสะเย.
อนึ่ง บุคคลไม่อาจสู้รบชนะความแก่ความตาย
ด้วยมนตร์คาถาแลวิทยายุทธต่างๆ
ฤๅจะใช้สินทรัพย์ติดสินบนก็หาอาจทำได้ไม่
เหตุนั้นแล บัณฑิตผู้มีปัญญา
เมื่อเล็งเห็นความปรารถนาแห่งตน (ที่จะล่วงพ้นแก่ตาย)
พึงตั้งศรัทธาในพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ให้มั่นคงเถิด
โย ธัมมะจารี กาเยนะ
วาจายะ อุทะ เจตะสา
อิเธวะ นัง ปะสังสันติ
เปจจะ สัคเค ปะโมทะตีติ.
บุคคลใดประพฤติปฏิบัติธรรม
ด้วยกาย วาจา ใจ อยู่เป็นปกติ
ประชุมชนผู้ปราชญ์ย่อมสรรเสริญบุคคลนั้นในโลกนี้
ผู้นั้นไปโลกหน้าแล้วย่อมบันเทิงในสรวงสถานแล.
ที่มา:ปัพพโตปมสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 415
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผจญพาล มิใช่ด้วยการรบ
: แต่สยบได้ด้วยธรรม
#บาลีวันละคำ (2,682)
16-10-62