บาลีวันละคำ

อลัง (บาลีวันละคำ 2,686)

อลัง

ตัดคำโดยไม่ระวังอาจจะเสียความ

อ่านว่า อะ-ลัง

อลัง” เป็น “ภาษาปาก” ใช้พูดหรือเขียนอย่างไม่เป็นทางการ นิยมพูดกันทั่วไป ตัดมาจากคำว่า “อลังการ” (อะ-ลัง-กาน)

อลังการ” เขียนแบบบาลีเป็น “อลงฺการ” (อะ-ลัง-กา-ระ) รากศัพท์มาจาก อลํ (การประดับ) + กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ปัจจัย, ลบ , แปลงนิคหิตที่ (อ)-ลํ เป็น งฺ (อลํ > อลงฺ), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) เป็น อา (กรฺ > การ)

: อลํ + กรฺ = อลํกรฺ + = อลํกรณ > อลํกร > อลงฺกร> อลงฺการ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำการประดับ” = การประดับ (2) “สิ่งเป็นเครื่องอันเขาทำการประดับ” = เครื่องประดับ (3) “สิ่งเป็นเครื่องทำการประดับ” = เครื่องประดับ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อลงฺการ” ตามศัพท์ว่า “getting up” (ทำให้ใช้ได้) และบอกความหมายว่า fitting out, ornament, decoration (การปรับรูป, การประดับ, การตกแต่ง)

อลงฺการ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อลังการ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อลังการ : (คำนาม) การตกแต่ง, การประดับ; เครื่องตกแต่ง, เครื่องประดับ. (คำวิเศษณ์) งามด้วยเครื่องประดับตกแต่ง. (ป., ส.).”

อภิปรายขยายความ :

สรุปว่า –

การ” แปลว่า “การกระทำ

อลํ” เมื่อสมาสกับ “การ” แปลว่า “การประดับ

อลังการ” จึงหมายถึง –

(1) การตกแต่ง, การประดับ

(2) เครื่องตกแต่ง

(3) งามด้วยเครื่องประดับตกแต่ง

แต่เมื่อพูดตัดคำจาก “อลังการ” เหลือแค่ “อลัง” คำเดียว คำว่า “อลัง” คือ “อลํ” ในภาษาบาลีมีความหมายหลายหลากที่ไม่ใช่หมายถึง “งามด้วยเครื่องประดับตกแต่ง” ดังที่ตั้งใจจะให้หมายถึง

อลํ” ในบาลีมีความหมายที่พอประมวลได้ดังนี้ –

(1) แน่นอน, เป็นอย่างนั้นแน่, จริง ๆ, แน่แท้ (sure, very much so, indeed, truly)

(2) พอ! เท่านั้นละ! หยุด! แหม! (enough! have done with! fie! stop! alas!) (ใช้ในความหมายตำหนิ)

(3) พอกันที (enough of)

ในกรณีใช้ร่วมกับคำอื่น (ยังถือว่าเป็นคนละคำกับคำอื่นนั้น ไม่ใช่สมาสเป็นคำเดียวกันเหมือน “อลงฺการ”) ความหมายขยายตัวออกไปอีก เช่น –

(4) อลํ+อตฺถ = อลมตฺถ (อะ-ละ-มัด-ถะ): นั่นแหละถูกแล้ว, ดีจริง ๆ, ได้ประโยชน์มาก, มีประโยชน์ (quite the thing, truly good, very profitable, useful)

(5) อลํ+อริย = อลมริย (อะ-ละ-มะ-ริ-ยะ): แท้จริง, ประเสริฐแน่, มีเกียรติยศจริง ๆ (truly genuine, right noble, honourable indeed)

(6) อลํ+กมฺมนิย = อลงฺกมฺมนิย (อะ-ลัง-กำ-มะ-นิ-ยะ): เหมาะจริง ๆ หรือเหมาะทุกประการ (quite or thoroughly suitable)

จะเห็นได้ว่า “อลํ” คำเดียวในภาษาบาลีไม่ได้หมายถึง “งามด้วยเครื่องประดับตกแต่ง

เวลาพูดว่า “อลัง” ผู้พูดย่อมรู้และหมายใจจะให้หมายถึง “อลังการ” แต่พูดออกไปแล้ว เกิดไปตรงกับ “อลํ” คำเดียวในภาษาบาลีซึ่งมีความหมายเป็นอย่างอื่น เช่นนี้ ความหมายของภาษาก็เบี่ยงเบนไป

คำว่า “อลัง” นี้ กล่าวตามหลักวิชาก็ว่าเป็นกรณีศึกษา ช่วยให้เรารู้สาเหตุอย่างหนึ่งที่ว่า-ทำไมภาษาบาลีหลายๆ คำที่เราเอามาใช้ในภาษาไทย ความหมายจึงเคลื่อนที่หรือเบี่ยงเบนไปได้

การพูดตัดคำนั้นไม่มีใครห้ามใครได้ แต่ก็ไม่มีใครห้ามใครไม่ให้ศึกษาหาความรู้เรื่องถ้อยคำได้เช่นเดียวกัน

ถ้าหมั่นหาความรู้กันไว้สักหน่อย เวลาคิดจะตัดคำอะไร คงจะช่วยให้เรายับยั้งชั่งใจได้มากขึ้น นั่นหมายถึงช่วยกันรักษาความงามของภาษาไทยให้อยู่ได้นานขึ้นนั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำเดียวมีหลายความ

เหมือนคนงามมีหลายใจ (?)

: ตัดคำจะยากไย

แต่ตัดใจช่างยากเย็น

#บาลีวันละคำ (2,686)

20-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย