บาลีวันละคำ

ปฏิคม (บาลีวันละคำ 2,687)

ปฏิคม

คำบาลี แต่ความหมายแบบไทย

อ่านว่า ปะ-ติ-คม

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิคม : (คำนาม) ผู้ต้อนรับ, ผู้รับแขก, ผู้ดูแลต้อนรับ.”

ปกติคำที่มาจากบาลีสันสกฤต พจนานุกรมฯ จะมีวงเล็บบอกไว้ด้วยว่า . คือบาลี หรือ . คือสันสกฤต แต่คำว่า “ปฏิคม” นี้ พจนานุกรมฯ ไม่ได้บอก

ถ้าเช่นนั้น “ปฏิคม” มาจากภาษาอะไร?

ปฏิคม” หน้าตาเป็นคำบาลี คือประกอบด้วย ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) แปลตามศัพท์ว่า “ทวนไป” หรือ “สวนไป

วาดเป็นภาพว่า มีคนเดินมาหาเรา เราก็เดินสวนไปหาเขา นี่คือ “ปฏิคม” – แบบตีความช่วยความหมายในภาษาไทย

แต่ในภาษาบาลี ปฏิ + คมฺ ธาตุ คำกริยาเป็น “ปฏิคจฺฉติ” (ปะ-ติ-คัด-ฉะ-ติ) ไม่ได้แปลว่า “ต้อนรับ” แต่แปลว่า “กลับไป” (ปฏิ = กลับ, คม = ไป) หมายถึง เลิกละ, ละทิ้ง (give up, leave behind)

ขยายความ :

ภาษาบาลีที่หมายถึง “ต้อนรับ” –

คำกริยาใช้ว่า “ปจฺจุคฺคจฺฉติ” (ปัด-จุก-คัด-ฉะ-ติ) แปลว่า ออกไป, เริ่มเดินทาง, ไปต้อนรับ (to go out, set out, go out to meet)

คำนามใช้ว่า “ปจฺจุคฺคมน” (ปัด-จุก-คะ-มะ-นะ) แปลว่า การออกไป, การไปพบ, การต้อนรับ (going out to, meeting, receiving)

โดยเฉพาะ คำว่า “ปจฺจุคฺคมน” ถ้าเขียนแบบไทยก็สะกดเป็น “ปัจจุคมน์” อ่านว่า ปัด-จุ-คม เสียงเท่ากับ “ปฏิคม” พอดี

ปจฺจุคฺคมน” รากศัพท์มาจาก ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง ปฏิ เป็น ปจฺจ, ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (อุ + คฺ + คมฺ)

: ปฏิ > ปจฺจ + อุ = ปจฺจุ + คฺ + คมฺ = ปจฺจุคฺคมฺ + ยุ > อน = ปจฺจุคฺคมน แปลตามศัพท์ว่า “การสวนกลับไปข้างนอก

วาดเป็นภาพว่า มีแขกมาที่บ้าน เจ้าของบ้านออกไปรับถึงนอกบ้าน นี่คือ “ปัจจุคมน์

เมื่อกล่าวถึง “ปฏิคม” หรือผู้ทำหน้าต้อนรับ เราคุ้นกับคำอังกฤษว่า reception

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล reception เป็นไทยว่า การรับรอง, การต้อนรับแขก, การต้อนรับ (หนังสือ, นโยบาย, ละครที่ออกใหม่), การรับวิทยุ, การรับความคิด

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล reception เป็นบาลีดังนี้ :

(1) paṭiggahaṇa ปฏิคฺคหณ (ปะ-ติก-คะ-หะ-นะ) = การยอมรับ (acceptance)

(2) ādāna อาทาน (อา-ทา-นะ) = การถือเอา (taking up)

(3) sammānana สมฺมานน (สำ-มา-นะ-นะ) = การให้เกียรติ (honouring)

(4) sakkāra สกฺการ (สัก-กา-ระ) = การต้อนรับ (hospitality)

(5) paṭisanthāra ปฏิสนฺถาร (ปะ-ติ-สัน-ถา-ระ) = การต้อนรับฉันเพื่อน (friendly welcome)

อภิปราย :

การต้อนรับแขกเป็นวัฒนธรรมอย่างหนึ่งของอารยชน พระพุทธศาสนามีคำสอนเรื่องโภคทรัพย์ที่ควรจ่ายในกรณีต่างๆ หนึ่งในกรณีที่ควรจ่ายคือ “อติถิพลี” = ต้อนรับแขก

ในวัฒนธรรมไทย คำกลอนที่เราชอบอ้างถึงกันบ่อยก็คือ “เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ”

คติอย่างหนึ่งที่ผู้รู้กล่าวไว้คือ แขกคือผู้นำสิริมงคลมาให้ ถ้าเจ้าของบ้านต้อนรับดี สิริมงคลก็จะอยู่ด้วย ถ้าเจ้าของบ้านต้อนรับไม่ดี สิริมงคลก็จะกลับไปพร้อมกับแขก พร้อมทั้งพาสิริมงคลในบ้านไปด้วย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: การต้อนรับแขกเป็นมารยาทที่ดี

: แต่การต้อนรับที่ดีไม่ใช่เพียงทำไปตามมารยาท

#บาลีวันละคำ (2,687)

21-10-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย