สาธารณูปโภค (บาลีวันละคำ 2,703)
สาธารณูปโภค
จะแบ่งกันใช้หรือจะแย่งกันใช้
อ่านว่า สา-ทา-ระ-นู-ปะ-โพก
ประกอบด้วยคำว่า สาธารณ + อุปโภค
(๑) “สาธารณ”
บาลีอ่านว่า สา-ทา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สห (คำบุรพบทและอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สห เป็น ส, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ)
: สห + อา + ธรฺ = สหาธรฺ + ยุ > อน = สหาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เป็นไปพร้อมกับการรองรับทั่วไป”
(2) สม (เสมอกัน) + อา (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ยิ่ง) + ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง สม เป็น ส, ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (ธรฺ > ธาร), แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ (ยุ > อน > อณ)
: สม + อา + ธรฺ = สมาธรฺ + ยุ > อน = สมาธรน > สาธรน > สาธารน > สาธารณ แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่อันบุคคลรับรองสิ่งทั้งหลายเสมอภาคกัน”
“สาธารณ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ทั่วไป, ธรรมดา, ร่วมกัน (general, common, joint)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาธารณ-, สาธารณะ : (คำวิเศษณ์) เพื่อประชาชนทั่วไป เช่น สวนสาธารณะ โทรศัพท์สาธารณะ บ่อน้ำสาธารณะ, ทั่วไป เช่น ถนนนี้ไม่ใช่ถนนสาธารณะ อย่าแต่งตัวประเจิดประเจ้อในที่สาธารณะ. (ป., ส.).”
(๒) “อุปโภค”
บาลีอ่านว่า อุ-ปะ-โพ-คะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + อ ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ แล้วแปลง ช เป็น ค (ภุชฺ > โภช > โภค)
: อุป + ภุชฺ = อุปภุชฺ + อ = อุปภุช > อุปโภช > อุปโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่นำเข้าไปไว้ใกล้แล้วใช้สอย” (คือโดยปกติต้องนำเอาสิ่งนั้นมาไว้ใกล้ตัวก่อนแล้วจึงใช้ ไม่ใช่สิ่งนั้นอยู่ที่หนึ่ง แต่ผู้ใช้อยู่อีกที่หนึ่ง) หมายถึง เครื่องอุปโภค, เครื่องใช้สอย, สิ่งที่เป็นประโยชน์ (enjoyment, profit)
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน มีศัพท์ว่า “อุปโภค” บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อุปโภค : (คำนาม) ความสนุก, ความอิ่มใจ; การเสพ, การใช้; การอยู่ร่วม; เครื่องอาศรัย; pleasure, satisfaction; enjoyment, use; cohabitation; usufruct.”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุปโภค : (คำกริยา) เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์, คู่กับ บริโภค. (คำวิเศษณ์) ที่เอามาใช้ให้เกิดประโยชน์ ในคำว่า เครื่องอุปโภค. (ป., ส.).”
สาธารณ + อุปโภค = สาธารณูปโภค
โปรดสังเกตกระบวนการกลายเสียง
สาธารณ + อุปโภค ถ้าออกเสียงตามที่ตาเห็น ก็ต้องพูดว่า สา-ทา-ระ-นะ-อุ-ปะ-โพก
แต่กฎของการกลายเสียงไม่ใช่เช่นนั้น ท่านว่า –ณ + อุ– ทีฆะ อุ เป็น อู
: –ณ + อุ– = –ณุ– > –ณู–
ดังนั้น สา-ทา-ระ-นะ-อุ- จึงกลายเป็น สา-ทา-ระ-นู-
วิธีพิสูจน์ก็คือ จงลองพูดคำว่า “นะ-อุ” จากช้าๆ แล้วค่อยเร็วขึ้น เสียง “นะ-อุ” จะกลายเป็น “นู” ได้จริงๆ
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาธารณูปโภค : (คำนาม) บริการสาธารณะที่จัดทําเพื่ออํานวยประโยชน์แก่ประชาชนในสิ่งอุปโภคที่จําเป็นต่อการดําเนินชีวิต เช่น การไฟฟ้า การประปา การเดินรถประจําทาง โทรศัพท์. (อ. public utility).”
อภิปราย :
พจนานุกรมฯ บอกว่า “สาธารณูปโภค” ตรงกับคำอังกฤษว่า public utility
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล public utility เป็นไทยว่า สาธารณูปโภค เช่น การไฟฟ้า ประปา, หุ้นของบริษัทสาธารณูปโภค
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่ได้เก็บคำว่า public utility ไว้เต็มคำ แต่มีคำว่า public แปลเป็นบาลีว่า:
sabbasādhāraṇa สพฺพสาธารณ (สับ-พะ-สา-ทา-ระ-นะ) = ทั่วไปแก่ทุกคน
และมีคำว่า utility แปลเป็นบาลีว่า:
sappayojanatta สปฺปโยชนตฺต (สับ-ปะ-โย-ชะ-นัด-ตะ) = สิ่งที่มีประโยชน์ใช้สอย
ถ้าลองเอาคำหลักคือ “สาธารณ” ในคำว่า “สพฺพสาธารณ” กับ “ปโยชน” ในคำว่า “สปฺปโยชนตฺต” มาต่อกันเข้า ก็จะได้คำว่า “สาธารณปโยชน” (สา-ทา-ระ-นะ-ปะ-โย-ชะ-นะ) ตรงกับคำว่า “สาธารณประโยชน์” ที่เราคุ้นกันในภาษาไทย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สาธารณประโยชน์ : (คำนาม) ประโยชน์ทั่วไปแก่ประชาชน เช่น บริจาคเงินสร้างโรงพยาบาลเพื่อเป็นสาธารณประโยชน์.”
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำยกพจนานุกรมต่างๆ มาเทียบอยู่บ่อยๆ มิได้เจตนาจะให้เอาคำจากพจนานุกรมนั้นๆ มาใช้ในภาษาไทย หรือนับถือเลื่อมใสพจนานุกรมนั้นๆ เป็นแต่เพียงวิธีจูงใจให้ชวนคิดเรื่องคำบาลีเท่านั้น คือชวนให้คิดว่า คำนี้ไทยว่าอย่างนี้ อังกฤษว่าอย่างนั้น แล้วบาลีว่าอย่างไร เป็นการฝึกสมองให้คุ้นเคยกับคำบาลี เป็นอย่างที่นักเรียนบาลีในบางสำนักฝึกหัดสนทนากันเป็นภาษาบาลี เป็นการยืนยันว่า บาลีไม่ใช่ “ภาษาที่ตายแล้ว” ดังที่มักจะมีผู้บอกกล่าวกันเช่นนั้น
หวังว่าญาติมิตรที่ติดตามบาลีวันละคำจะเข้าใจในเจตนา
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แบ่งกันใช้ ได้ใช้ทุกคน
: แย่งกันใช้ บรรลัยทุกคน
#บาลีวันละคำ (2,703)
6-11-62