รัฏฐาภิปาลโนบาย (บาลีวันละคำ 2,702)
รัฏฐาภิปาลโนบาย
ยาวดี เลยไม่มีใครเอาไปใช้
อ่านว่า รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-โน-บาย
แยกศัพท์เป็น รัฏฐ + อภิปาลน + อุบาย
(๑) “รัฏฐ”
เขียนแบบบาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง ฐต เป็น ฏฐ
: รฐฺ + ต = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง”
(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ต ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ, แปลง ชต เป็น ฏฐ
: รชิ > รช + ต = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)
“รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง
ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ฏ ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐบาล” อ่านว่า รัด-ถะ-บาน
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน)
(๒) “อภิปาลน”
เป็นคำบาลีตรงตัว อ่านว่า อะ-พิ-ปา-ละ-นะ รากศัพท์มาจาก อภิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, จำเพาะ, ข้างหน้า) + ปาลฺ (ธาตุ = ระวังรักษา, เก็บรักษา [guarding, keeping]) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: อภิ + ปาลฺ + ยุ > อน = อภิปาลน แปลตามศัพท์ว่า “การระวังรักษาอย่างยิ่ง” หมายถึง การคุ้มครองป้องกัน (protecting)
(๓) “อุบาย”
บาลีเป็น “อุปาย” (อุ-ปา-ยะ) รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + อิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) แผลง อิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (อิ > เอ > อาย) + อ ปัจจัย
: อุป + อิ = อุปิ > อุเป > อุปาย + อ = อุปาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “กลวิธีเป็นเหตุให้ถึงความชนะศัตรู” (2) “วิธีเป็นเหตุให้เข้าถึง” “การเข้าใกล้” หมายถึง หนทาง, วิธี, กลวิธี, เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม (way, means, expedient, stratagem)
ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อุบาย” (แผลง ป เป็น บ ตามหลักนิยมของไทย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุบาย : (คำนาม) วิธีการอันแยบคาย; เล่ห์กล, เล่ห์เหลี่ยม. (ป., ส. อุปาย).”
การประสมคำ :
๑ รฏฺฐ + อภิปาลน = รฏฺฐาภิปาลน (รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-นะ) แปลว่า “การปกครองบ้านเมือง”
๒ รฏฺฐาภิปาลน + อุปาย = รฏฺฐาภิปาลโนปาย (รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-โน-ปา-ยะ) แปลว่า “กลวิธีในการปกครองบ้านเมือง”
“รฏฺฐาภิปาลโนปาย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “รัฏฐาภิปาลโนบาย” (รัด-ถา-พิ-ปา-ละ-โน-บาย)
โปรดสังเกตว่า คำบาลีว่า “รฏฺฐ” เมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยท่านให้ตัดตัวสะกดออก เขียนเป็น “รัฐ” แต่ในกรณีมีคำที่ขึ้นต้นด้วยสระมาสมาสหรือสนธิข้างท้าย ตัวสะกดตัวเดียว คือ “ฐ” จะเป็นทั้งตัวสะกด เป็นทั้งตัวสนธิกับสระของคำหลังด้วยไม่ได้ คือจะสะกดเป็น “รัฐา-” แบบนี้ไม่ได้ กรณีเช่นนี้ท่านให้คงตัวสะดไว้ตามเดิม คือยังคงสะกดเป็น “รัฏฐ” (ฏ ปฏักเป็นตัวสะกด ฐ ฐาน เป็นตัวเชื่อมกับ “อ-” คำหลัง : ฐ + อ [อะ] = ฐา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รัฏฐาภิปาลโนบาย : (คำนาม) วิธีการปกครองบ้านเมือง.”
อภิปราย :
สำนักแห่งหนึ่งบอกว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” ใช้คำอังกฤษว่า statesmanship
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล statesmanship เป็นไทยว่า การเป็นรัฐบุรุษ, รัฏฐาภิปาลโนบาย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี ไม่มีคำว่า statesmanship แต่มีคำว่า statesman แปลเป็นบาลีว่า :
rājanītinipuṇa ราชนีตินิปุณ (รา-ชะ-นี-ติ-นิ-ปุ-นะ) = ผู้ฉลาดล้ำลึกในหลักของนักปกครอง
แต่บางสำนักพอใจที่จะให้ “รัฏฐาภิปาลโนบาย” ตรงกับคำอังกฤษว่า governmentality ซึ่งก็ดูจะตรงกับคำนิยามของพจนานุกรมฯ ที่ว่า “วิธีการปกครองบ้านเมือง”
พอจับความได้ว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” หรือ statesmanship หรือ governmentality ก็คงหมายความตรงกัน คือหมายถึงกลวิธีหรือเล่ห์เหลี่ยมทุกรูปแบบที่ผู้ปกครองบ้านเมืองนำออกมาใช้ในการบริหารบ้านเมืองเพื่อให้เกิดผลเป็นการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขแก่ประชาชนเป็นที่ตั้ง หมายความว่า ทำอะไรก็ได้และทำอย่างไรก็ได้-ซึ่งบางกรณีหรือหลายๆ กรณีอาจจะไม่สุจริตนัก-ขอให้ประชาชนหมดทุกข์และมีสุขก็แล้วกัน
แต่ข้อสำคัญที่สุด ต้องเป็นการบำบัดทุกข์และบำรุงสุขของประชาชนจริงๆ ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ของตัวผู้ปกครองเอง
คำว่า “รัฏฐาภิปาลโนบาย” เป็นคำประเภท “รูปงามความเพราะ” เป็นคำที่กล่าวได้ว่าออกมาจากวัดโดยตรง เคยพบเห็นเสมอในสำนวนเทศนา โดยเฉพาะ “มงคลวิเศษกถา” อันเป็นพระธรรมเทศนาพิเศษที่สมเด็จพระสังฆราชทรง “เทศน์ถวายหลวง” ในโอกาสพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษาทุกๆ รัชกาล
อาจเป็นเพราะรูปคำหรูหราเกินไป หรือเพราะเหตุอันใดก็ไม่อาจทราบได้ เวลานี้แทบจะไม่มีใครใช้คำนี้ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน หรือบางทีจะไม่มีใครรู้จักคำนี้ไปแล้วก็เป็นได้ ทั้งๆ ที่พจนานุกรมฯ ท่านก็อุตส่าห์เก็บไว้เป็นอย่างดี
…………..
ดูก่อนภราดา!
: การเมืองจะไม่สกปรก
: ถ้ามีคนยอมตกนรกเพื่อให้ประชาชนได้ขึ้นสวรรค์
5-11-62