บาลีวันละคำ

แม่ครัวหัวป่าก์ (บาลีวันละคำ 2,704)

แม่ครัวหัวป่าก์

แปลว่าอะไร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

หัวป่า : (คำนาม) คนทําอาหาร ในคำว่า แม่ครัวหัวป่า พ่อครัวหัวป่า, โบราณเขียนเป็น หัวป่าก์.”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “หัวป่า” โบราณเขียนเป็น “หัวป่าก์

หัวป่าก์” แปลว่าอะไร?

รูปคำ “ป่าก์” แสดงว่าคำเดิมต้องเป็น “ป่าก” (ไม่มีการันต์ที่ ก)

แต่ “ปาก” เป็นเสียงเอกอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น จึงไม่ต้องใส่วรรณยุกต์เอก (ไม้เอก) คือสะกดเป็น “ปาก” ไม่ใช่ “ป่าก

ถ้าคำเดิมเป็น “ปาก” ใส่เครื่องหมายทัณฑฆาตที่ เป็น “ปาก์” ต้องอ่านว่า ปา เป็นเสียงสามัญ เมื่อต้องการจะให้เป็นเสียงเอกเท่าคำเดิม จึงใส่วรรณยุกต์เอก สะกดเป็น “ป่าก์” อ่านว่า ป่า เสียงเท่ากับ “ปาก” คำเดิม เพราะฉะนั้น “ป่า” จึงเป็นเสียงที่ล้อมาจาก “ปาก” ไม่ใช่คำใหม่ที่มีความหมายใหม่ เช่น “ป่า” ที่หมายถึงป่าดงพงไพร

เป็นอันว่าคำหลักในที่นี้คือ “ปาก

แม่ครัวหัวป่าก์” ก็คือ “แม่ครัวหัวปาก

แล้ว “หัวปาก” แปลว่าอะไร?

พจนานุกรมฯ มีคำว่า “หัวปาก” บอกไว้ดังนี้ –

หัวปาก : (คำโบราณ) (คำนาม) นายร้อย. (จ. ปัก, แป๊ะ, ว่า ร้อย).”

ไม่ใช่ “หัวปาก” = นายร้อย แน่นอน

ดูต่อไปถึงความหมายของคำว่า “ปาก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาก : (คำนาม) (1) ส่วนหนึ่งของร่างกายคนและสัตว์ อยู่ที่บริเวณใบหน้า มีลักษณะเป็นช่องสําหรับกินอาหารและใช้สําหรับเปล่งเสียงได้ด้วย; (2) โดยปริยายหมายถึงส่วนต่าง ๆ ที่อยู่ในบริเวณปาก เช่น ปากเปื่อย; (3) ขอบช่องแห่งสิ่งต่าง ๆ เช่น ปากหม้อ ปากไห; (4) ต้นทางสําหรับเข้าออก เช่น ปากช่อง ปากตรอก; (5) กลีบดอกกล้วยไม้คล้ายรูปกรวยหรือหลอดที่อยู่ตรงกลางเป็นที่อยู่ของเกสร, กระเป๋า ก็เรียก; (6) ใช้เป็นลักษณนามของสิ่งบางอย่างเช่นแหอวนหรือพยานบุคคล เช่น แหปากหนึ่ง อวน ๒ ปาก พยาน ๓ ปาก. (คำกริยา) (7) พูด เช่น ดีแต่ปาก.”

ปาก” ในภาษาไทยไม่ได้หมายถึง “คนทําอาหาร” (หัวป่า-ตามพจนานุกรมฯ) หรือการหุงหาอาหาร

ก็คงต้องพาเข้าวัดจนได้

ปาก” บาลีอ่านว่า ปา-กะ รากศัพท์มาจาก ปจฺ (ธาตุ = ทำให้สิ้นสุด; หุง, ต้ม; สุก, ไหม้) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อาด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” (ปจฺ > ปาจ), แปลง ที่สุดธาตุเป็น

: ปจฺ + = ปจณ > ปจ > ปาจ > ปาก แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำให้สุก” (คือการหุงต้ม) (2) “สิ่งที่ถูกทำให้สุก” (อาหาร)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปาก” ว่า that which is cooked, cooking, quantity cooked (สิ่งที่ทำให้สุก; การหุงหาอาหาร, จำนวน [ของวัตถุดิบ] ที่ปรุงเป็นอาหารแล้ว)

ดูความหมายในบาลีแล้ว เหมาะอย่างยิ่งที่ “หัวป่า” จะมาจาก “หัวปาก” (ปา-กะ คำบาลี)

ถ้า “หัวป่า” โบราณเขียนว่า “หัวป่าก์” และ “-ป่าก์” มาจาก “ปาก” ในบาลี “หัวป่า” ก็คือ “หัวปาก” นั่นเอง

หัวปาก” (“หัว” คำไทย “ปาก” คำบาลี) ก็แปลว่า “หัวหน้าในการหุงต้ม” เข้ากันได้พอดีกับคำว่า แม่ครัวหัวป่า หรือพ่อครัวหัวป่า

เดิมก็คงพูดหรือเขียนกันว่า “แม่ครัวหัวปาก” นั่นแหละ แต่ฟังกันไปฟังกันมาได้ยินเป็น “แม่ครัวหัวป่า” เพราะ “ปาก” กับ “ป่า” เป็นเสียงเอกเท่ากัน แล้วก็เลยมีผู้สะกดแบบประนีประนอมเป็น “แม่ครัวหัวป่าก์” คนภายหลังไม่เข้าใจว่า “หัวป่าก์” คืออะไร ก็เลยตัดตัวการันต์ออก เขียนเป็น “หัวป่า” แล้วปัดให้ “หัวป่าก์” เป็นของโบราณไป

แต่อีกนัยหนึ่ง ไม่ต้องคิดลึกคิดมาก คิดแต่เพียงว่า “ปาก” ก็คือช่องทางการกิน คนปรุงอาหารอย่างไรเสียก็ต้องชิมหรือต้องลองกินดูก่อน เรียกว่าเป็นปากแรก ซึ่งก็คือ “หัวปาก” คือปากที่อยู่หัวแถวนั่นเอง

ถ้าเป็นอย่างนี้ “หัวป่า” ก็คือ “หัวปาก” –ปาก คำไทยที่มุ่งถึงเรื่องกินนี่แหละ ไม่ได้มาจากบาลีหรือจากอะไรที่ไหนหรอก แล้วก็เพี้ยนเสียงเพี้ยนรูปเป็น “หัวป่า” อย่างที่เห็นกันในปัจจุบัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กินเพื่ออยู่เป็นเรื่องสำคัญ

: แต่ถ้าอยู่ไปวันๆ ก็ไร้สาระ

#บาลีวันละคำ (2,704)

7-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย