บาลีวันละคำ

อากัปกิริยา (บาลีวันละคำ 2,723)

อากัปกิริยา

ไม่ใช่ “อากัปกริยา

อ่านว่า อา-กับ-กิ-ริ-ยา

ประกอบด้วยคำว่า อากัป + กิริยา

(๑) “อากัป

บาลีเป็น “อากปฺป” อ่านว่า อา-กับ-ปะ รากศัพท์มาจาก อา (คำอุปสรรค = ทั่ว, ทั่วไป, ยิ่ง, อย่างยิ่ง) + กปฺปฺ (ธาตุ = เหมาะ, สมควร) + ปัจจัย

: อา + กปฺปฺ = อากปฺปฺ + = อากปฺป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่เหมาะอย่างยิ่ง

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “อากปฺป” ว่า อากัปกิริยา, บุคลิก, ท่าทางสง่า, อาการ, มารยาท ฯลฯ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อากปฺป” ว่า –

(1) attire, appearance (เครื่องแต่งตัว, รูปร่างลักษณะ)

(2) deportment (กิริยาท่าทาง)

อากปฺป” ในภาษาไทยใช้เป็น “อากัป” (อา-กับ) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อากัป : (คำนาม) การแต่งตัวดี. (ป. อากปฺป; ส. อากลฺป).”

บาลี “อากปฺป” สันสกฤตเป็น “อากลฺป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

อากลฺป : (คำนาม) เครื่องประดับ, เครื่องตกแต่ง; การเพิ่มพูน; พยาธิ, โรค; ornament, decoration; increasing; sickness, disease.”

โปรดสังเกตว่า “อากลฺป” ในสันสกฤต มีความหมายต่างไปจาก “อากปฺป” ในบาลีด้วย

(๒) “กิริยา

อ่านว่า กิ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง อะ ที่ -(รฺ) เป็น อิ (กรฺ > กิรฺ), ลง อิ อาคม ที่ (ก)- (กรฺ > กิรฺ > กิริ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: กรฺ > กิรฺ + อิ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย > กิริย + อา = กิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” ความหมายทั่วไป คือ การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป (action, performance, deed; the doing)

กิริยา” ตามความหมายพิเศษ คือ การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม (promise, vow, dedication, intention, pledge; justice)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กิริยา : (คำนาม) การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท, เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).”

อากปฺป + กิริยา = อากปฺปกิริยา > อากัปกิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำที่เหมาะสมอย่างยิ่ง

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อากัปกิริยา : (คำนาม) กิริยาท่าทาง. (ป.).”

โปรดสังเกตว่า จากความหมายเดิม “การกระทำที่เหมาะสมอย่างยิ่ง” ในภาษาไทยความหมายเปลี่ยนไปเป็น “กิริยาท่าทาง” ซึ่งไม่ได้ชี้ชัดว่าเหมาะสมหรือไม่เหมาะสม

ข้อสังเกตพิเศษ :

คำว่า “กิริยา” ในบาลี ภาษาไทยเอามาใช้เป็น 2 รูป คือ คือ “กิริยา” (กิ– สระ อิ) และ “กริยา” (– ไม่ใช่ กิ-, อ่านว่า กฺริ-ยา หรือ กะ-ริ-ยา ก็ได้)

รูปคำ “กริยา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

กริยา : (คำที่ใช้ในไวยากรณ์) (คำนาม) คําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม. (ส. กฺริยา; ป. กิริยา).”

เป็นอันได้หลักว่า –

(1) การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท ใช้ว่า “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา

(2) คำที่ใช้ในไวยากรณ์ คือคําที่แสดงอาการของนามหรือสรรพนาม ใช้ว่า “กริยา” (แต่ในบาลีไวยากรณ์ใช้ว่า “กิริยา”)

กล่าวอีกนัยหนึ่ง ในทางไวยากรณ์ ใช้ทั้ง “กริยา” และ “กิริยา

แต่กิริยาอาการ กิริยามารยาท ใช้เฉพาะ “กิริยา” ไม่ใช่ “กริยา

เพราะฉะนั้น —

อากัปกิริยา” จึงต้องสะกดอย่างนี้ ไม่ใช่ “อากัปกริยา

ปฏิกิริยา” ก็ต้องสะกดอย่างนี้ ไม่ใช่ “ปฏิกริยา

กิริยามารยาท” ก็ต้องสะกดอย่างนี้ ไม่ใช่ “กริยามารยาท

กิริยา” – “กริยา” ใช้ต่างกัน อย่ามั่ว

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คำหยาบที่ออกมาจากสันดาน

: ดีกว่าคำหวานที่ออกมาจากใจลวง

#บาลีวันละคำ (2,723)

26-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย