บาลีวันละคำ

สหาย (บาลีวันละคำ 2,724)

สหาย

คำง่ายๆ แต่เป็นยาก

ภาษาไทยอ่านว่า สะ-หาย

ภาษาบาลีอ่านว่า สะ-หา-ยะ

สหาย” รากศัพท์มาจาก –

(1) สห + อยฺ ธาตุ

(ก) “สห” (สะ-หะ) เป็นคำบุรพบทและคำอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)

(ข) สห + อยฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อะ ที่ (ส)- และทีฆะ อะ ที่ -(ยฺ) เป็น อา (อย > อาย)

ทบทวนไวยากรณ์ง่ายๆ :

สูตร “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” ปกติจะหมายถึง ธาตุ + ปัจจัย : ธาตุอยู่หน้า = สระหน้า ปัจจัยอยู่หลัง = สระหลัง

ลบสระหน้า” หมายถึง ลบสระที่พยางค์ท้ายของธาตุ

ทีฆะสระหลัง” หมายถึง ทีฆะ (ยืดเสียง) สระที่พยางค์แรกของปัจจัย (อะ เป็น อา, อิ เป็น อี, อุ เป็น อู)

แต่ในที่นี้ –

ลบสระหน้า” หมายถึง ลบสระที่พยางค์ท้ายของบทหน้า (ในที่นี้คือ “สห” : ลบ อะ ที่ –)

ทีฆะสระหลัง” หมายถึง ทีฆะ อะ ที่ -(ยฺ) ธาตุเป็น อา : อยฺ > อาย

: สห + อย = สหยฺ + = สหย > สหาย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ไปร่วมกันในกิจทั้งหลาย

(2) สห (คำบุรพบทและคำอุปสรรค = พร้อม, กับ, พร้อมด้วย) + อย (ความเสื่อมหรือความเจริญ), “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง

: สห + อย = สหย > สหาย แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความเสื่อมหรือความเจริญร่วมกัน

สหาย” (ปุงลิงค์)  หมายถึง สหาย, เพื่อน (companion, friend)

บาลี “สหาย” สันสกฤตก็เป็น “สหาย” รูปคำเดียวกัน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สหาย : (คำนาม) มิตร, อนุจร; ผู้อุปการะ; หงษ์ทองหรือสุวรรณหงษ์, ‘ห่านเทศ’ ก็เรียก; a companion, a follower; a patron or helper; the ruddy goose.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สหาย : (คำนาม) เพื่อนร่วมทุกข์ร่วมสุข. (ป., ส.).”

อภินันทนาการ :

ในพระไตรปิฎกมีข้อความที่กล่าวถึง “สหาย” ไว้หลายแห่ง ขอยกบางแห่งมาเป็นอภินันทนาการแก่ญาติมิตรเป็นอลังการแห่งความคิดและประดับปัญญา ดังนี้ –

(สำนวนแปลเป็นของผู้เขียนบาลีวันละคำ ซึ่งจะไม่เหมือนกับสำนวนในพระไตรปิฎกแปล)

…………..

มิตฺโต  หเว  สตฺตปเทน  โหติ

สหาโย  ปน  ทฺวาทสเกน  โหติ

มาสฑฺฒมาเสน  จ  ญาติ  โหติ

ตตุตฺตรึ  อตฺตสโมปิ  โหติ.

เดินทางร่วมกัน 7 ก้าว* ชื่อว่าเป็นมิตร

เดินทางร่วมกัน 12 ก้าว* ชื่อว่าเป็นสหาย

อยู่ร่วมกันเดือนหนึ่งหรือกึ่งเดือน ชื่อว่าเป็นญาติ

นานกว่านั้นขึ้นไป ชื่อว่าร่วมเป็นร่วมตายกัน

ที่มา: กาฬกัณณิชาดก เอกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 83

*อรรถกถาอธิบายว่า 7 ก้าว ทำให้มีเยื่อใยต่อกัน 12 ก้าว ทำให้ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน

…………..

อตฺถมฺหิ  ชาตมฺหิ  สุขา  สหายา.

สหายคือผู้ช่วยแก้ปัญหาเมื่อเกิดความจำเป็น

ที่มา: นาควรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 33

…………..

สหาโย  อตฺถชาตสฺส

โหติ  มิตฺตํ  ปุนปฺปุนํ

สยํ  กตานิ  ปุญฺญานิ

ตํ  มิตฺตํ  สมฺปรายิกํ.

เมื่อเกิดความจำเป็น

สหายเป็นเพื่อนได้เสมอ (ในชาตินี้)

บุญที่ทำไว้เอง

เป็นเพื่อนได้ในชาติหน้า

ที่มา: มิตตสูตร สังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 163

…………..

นตฺถิ  พาเล  สหายตา.

คนพาลเป็นเพื่อนกับใครไม่ได้

ที่มา:

– โกสัมพีขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 247

– อุปกิเลสสูตร มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ พระไตรปิฎกเล่ม 14 ข้อ 443

– พาลวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 15

…………..

คัมภีร์สารัตถปกาสินี ภาค 1 อรรถกถาสังยุตนิกาย อธิบายความในชราวรรค เทวตาสังยุต กล่าวถึง “มิตร-สหาย” ไว้ตอนหนึ่งน่าฟัง ท่านว่าดังนี้ —

…………..

อุปฺปนฺนกิจฺจสฺส  โย  ตํ  กิจฺจํ  วหติ  นิตฺถรติ  โส  กิจฺเจสุ  สห  อยนภาเวน  สหาโย  มิตฺตํ  สุราปานาทิสหายา  ปน  น  มิตฺตา.

เมื่อมีกิจธุระเกิดขึ้น ผู้ใดช่วยนำพากิจนั้น คือช่วยทำให้สำเร็จ ผู้นั้นชื่อว่า “สหาย” เพราะร่วมด้วยช่วยกันไปในกิจการงาน สหายเช่นนั้นแหละชื่อว่า “มิตร” ส่วนสหายในเรื่องอื่น เช่นสหายในวงเหล้าเป็นต้น หาใช่มิตรไม่

ที่มา: สารัตถปกาสินี ภาค 1 หน้า 128-129

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นเพื่อนที่ดีก่อน

: แล้วท่านจะได้เพื่อนที่ดี

#บาลีวันละคำ (2,724)

27-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย