ชักผ้า-วัฒนธรรมทางภาษาของชาติ
ชักผ้า-วัฒนธรรมทางภาษาของชาติ
———————————-
ชื่อเรื่องนี้อ่าน ชัก-ผ้า นะครับ
ชัก- ช ช้าง
ไม่ใช่ ซัก- ซ โซ่
“ชักผ้า” เป็นคำเก่าที่คนสมัยนี้ไม่รู้จัก และกำลังจะลืม
ในงานเผาศพ เมื่อเชิญแขกขึ้นไปทอดผ้าบังสุกุลแล้ว เวลานิมนต์พระไป-ทำอะไร-กับผ้า พิธีกรมักจะใช้คำว่า “ขอนิมนต์พระ… พิจารณาผ้า…”
คือใช้คำว่า “พิจารณาผ้า”
แต่คนรุ่นเก่าท่านใช้คำว่า “ชักผ้า”
สมัยก่อน พอมีงานเผาศพ เจ้าภาพจะนิมนต์พระบางรูปที่คุ้นเคยไป “ชักผ้า” คือระบุตรงๆ ว่างานนี้ขอนิมนต์ท่านไปชักผ้า (เหมือนกับที่ในบัดนี้เจ้าภาพบางรายก็นิยมนิมนต์พระเถระผู้ใหญ่บางรูปไปในงานศพเพื่อไป “พิจารณาผ้า” โดยเฉพาะ)
พระรุ่นเก่าท่านก็จะพูดกันว่า “โยมนิมนต์ไปชักผ้า”
ไม่มีใครพูดว่า “พิจารณาผ้า”
เรื่องนี้ต้องสาวไปหาเหตุจึงจะเข้าใจความหมายของคำ
เดิมที เครื่องนุ่งห่มของภิกษุในพระพุทธศาสนาได้มาจากผ้าที่คนทิ้งแล้ว เรียกว่า “ผ้าบังสุกุล” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “ผ้าคลุกฝุ่น” ก็คือผ้าที่เขาทิ้งไว้กับดิน
ภิกษุต้องเที่ยวเลือกเก็บผ้าเช่นนั้นเลือกเอาแต่ส่วนที่ยังพอใช้ได้มาซักย้อมเย็บเข้าเป็นผืนพอเป็นผ้านุ่งผ้าห่ม
ที่ต้องทำเช่นนี้ก็เพื่อลดละความต้องการเสื้อผ้าที่งดงามหรูหราเป็นการฝึกหัดขัดเกลาตัวเองในชีวิตประจำวัน
ชาวบ้านที่มีศรัทธา รู้กฎกติกาของพระ ประสงค์จะสงเคราะห์พระให้ได้ความสะดวกบ้างตามควรแก่เหตุ ก็จึงทำอุบายเอาผ้าไปทอดหรือพาดวางไว้ตามกิ่งไม้ตามทางที่รู้ว่า-หรือคาดว่า-พระท่านจะผ่าน เป็นทีว่าเป็นผ้าทิ้งแล้ว
เวลาพระไปพบผ้าเช่นนี้ ท่านก็จะ “ชัก” คือดึงออกมาจากที่ที่วางหรือพาดไว้นั้น ก่อนชักก็จะพูดดังๆ ว่า “อิมัง วัตถัง อัสสามิกัง มัยหัง ปาปุณาติ” พูดดังๆ อย่างนี้ ๓ เที่ยว เมื่อเห็นว่าไม่มีใครแสดงตัวเป็นเจ้าของแน่แล้วท่านจึงจะ “ชัก” เอาไป
คำที่พระท่านพูดนั้นแปลเป็นไทยว่า “ผ้าผืนนี้ไม่มีเจ้าของ ตกเป็นของข้าพเจ้า” หรือแปลให้ชัดกว่านี้ ผ้าไม่มีเจ้าของ ฉันเอานะ
เวลาชักผ้าป่า พระรุ่นเก่าท่านจะว่าคำที่ว่านี้ เพราะผ้าป่าก็คือผ้าที่ทอดทิ้งไว้ตามทาง ต้นกำเนิดมาจากผ้าบังสุกุลดังกล่าวแล้ว
แต่เวลานี้ ชักผ้าป่าได้ยินพระท่านใช้บท “อนิจจา วะตะ สังขารา …” อันเป็นบทพิจารณาสังขาร
ตรงนี้ก็มีเรื่องที่งอกออกมาจากผ้าบังสุกุล นั่นคือ ในบรรดาแหล่งที่พระท่านจะหาผ้าได้ นอกจากกองขยะแล้วก็ยังมีตามป่าช้าอีกแหล่งหนึ่ง คือผ้าที่ห่อศพซึ่งไม่มีใครต้องการแล้ว ประกอบกับพระที่เจริญอสุภกรรมฐานท่านก็มักจะหาโอกาสไปพิจารณาซากศพตามป่าช้าด้วย ถ้ามีผ้าอยู่กับศพท่านก็จะหาวิธี “ชัก” เอาไปพร้อมไปกับพิจารณาซากศพเป็นการเจริญพระกรรมฐานไปด้วย
ญาติของผู้ตายที่รู้กฎกติกาของพระก็จะถือโอกาสเอาผ้าไปคลุมหรือพาดไว้ที่ศพ แล้วนิมนต์พระไป “พิจารณา” ศพ เพื่อให้พระได้ชักเอาผ้านั้นไปทำจีวรต่อไป ได้ประโยชน์ ๒ ทาง คือได้เจริญอสุภกรรมฐานด้วย ได้ผ้าไปทำจีวรด้วย
ในคัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถา (อรรถกถาธรรมบท) มีเรื่อง-เวลามีคนเอาศพมาทิ้งที่ป่าช้า คนเฝ้าป่าช้าจะนิมนต์พระที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าช้าไปพิจารณาศพ และเรื่องนางสิริมาหญิงงามเมือง (น้องสาวหมอชีวก) ถึงแก่กรรม พระพุทธเจ้ารับสั่งให้ภิกษุไปพิจารณาศพ – เป็นพยานเรื่องที่ว่านี้
การทอดผ้าในงานศพมีปฐมเหตุมาจากเรื่องดังที่ว่ามานี้
จะเห็นได้ว่า เดิมทีนั้นพระไป “พิจารณาศพ” แล้ว “ชักผ้า”
ปัจจุบันการจัดการศพทำด้วยวิธีมิดชิด มองไม่เห็นศพ เวลาทอดผ้าก็ไม่ได้ทอดที่ตัวศพ (เมื่อก่อนยังเคยเห็นทอดผ้าที่โลงศพซึ่งยังพอนึกภาพออกว่ามีศพอยู่ในนั้น) พระไปพิจารณาก็เห็นแต่ผ้า ไม่ได้เห็นศพ
คำว่า “พิจารณาศพ” ก็เลยถูกเปลี่ยนเป็น “พิจารณาผ้า” ซึ่งคลาดเคลื่อนจากความมุ่งหมายเดิม เพราะสิ่งที่จะต้องพิจารณาคือ “ศพ” ส่วน “ผ้า” นั้นไม่มีเหตุอะไรที่จะต้องพิจารณา
แม้กระนั้น ก็ยังมีคนพยายามอธิบายลากไปว่า – “พิจารณาผ้า” หมายถึง
(๑) พิจารณาว่าผ้านี้มีเจ้าของหรือไม่มี-ตามหลักเดิมของผ้าบังสุกุล (ทั้งๆ ที่คนทอดหรือเจ้าของก็ยืนอยู่ตรงนั้น!!) หรือไม่ก็ –
(๒) พิจารณาผ้าแล้วน้อมไปพิจารณาศพ เพราะผ้านั้นทอดต่อมาจากศพ
ไปน้ำขุ่นๆ จนได้
ส่วนคำว่า “ชักผ้า” ก็เลยหายไป และกลายเป็นคำที่ไม่มีใครรู้จัก
อันที่จริง จะว่าหายไปก็ไม่ถูก ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ ก็ยังกล่าวถึงคำนี้อยู่ คือที่คำว่า “ชัก” พจนานุกรมฯ บอกความหมายและยกตัวอย่างไว้หลายความหมาย
หนึ่งในความหมายเหล่านั้น พจนานุกรมฯ บอกว่า “ชัก” คือ “ดึงเอามา เช่น ชักผ้าป่า ชักผ้าบังสุกุล”
ก็คือยังไม่หายไปไหน เพียงแต่คนรุ่นใหม่ไม่รู้จัก
ผมขอเสนอว่า ต่อไปนี้
๑ เวลามีการทอดผ้าป่า ให้ใช้คำในการนิมนต์พระว่า “ขอนิมนต์…ชักผ้าป่า”
เลิกใช้คำว่า “ขอนิมนต์…พิจารณาผ้าป่า”
๒ ในงานศพ ให้ใช้คำในการนิมนต์พระว่า “ขอนิมนต์…ชักผ้าบังสุกุล”
เลิกใช้คำว่า “ขอนิมนต์…พิจารณาผ้าบังสุกุล”
เป็นการชุบชีวิตคำว่า “ชักผ้า” ให้กลับฟื้นคืนมา
เรื่องเล็กๆ ครับ แต่ว่ามันเป็นวัฒนธรรมทางภาษาของชาติ
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๖๒
๑๗:๔๕
…………………………….