บาลีวันละคำ

อวาจี – อุทีจี (บาลีวันละคำ 2,725)

อวาจีอุทีจี

คำแปลก แต่ไม่ใหม่

อวาจี” อ่านว่า อะ-วา-จี เป็นคำบาลี

ไม่น่าเชื่อว่าพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำนี้ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

อวาจี : (คำนาม) ทิศใต้. (ป.).”

คำว่า “อวาจี” ปรากฏในนามพระเถระที่เป็นพระครูปลัดขวา-ปลัดซ้าย ของสมเด็จพระสังฆราช สา วัดราชประดิษฐฯ

พระครูปลัดขวา มีนามว่า “พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์” (–อะ-วา-จี-คะ-นา-นุ-สิด)

พระครูปลัดซ้าย มีนามว่า “พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์” (–อุ-ทิด-จะ-ยา-นุ-สาด)

(๑) “อวาจีคณานุสิชฌน์” แยกศัพท์เป็น อวาจี + คณ + อนุสิชฌน์

อวาจี” รากศัพท์มาจาก อว (คำอุปสรรค = ลง, ข้างลาง) + อญฺจฺ (ธาตุ = ก้มหน้า) + อี ปัจจัย, แปลง อญฺจฺ เป็น อจ หรืออีกนัยหนึ่ง ลบ ญฺ ที่ อญฺจฺ (อญฺจฺ > อจฺ), “ลบสระหน้า ทีฆะสระหลัง” คือลบ อะ ที่ (อ)- ทีฆะ อะ ที่ -(จฺ) เป็น อา (อจ > อาจ)

: อว + อญฺจ = อวญฺจฺ + อี = อวญฺจี > อวจี > อวาจี (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ทิศที่ดวงอาทิตย์ก้มหน้าให้” (คือหลบหน้าไม่ตกในทิศนั้น) หมายถึง ทิศใต้

คณ = หมู่

อนุสิชฌน์ เขียนแบบบาลีเป็น “อนุสิชฺฌน” (อะ-นุ-สิด-ชะ-นะ, มีจุดใต้ ชฺ) = ตามเผด็จงาน, กิจอันใดพึงทำก็ติดตามไปกำกับดูแลให้กิจนั้นสำเร็จสมประสงค์

อวาจีคณานุสิชฺฌน” (อะ-วา-จี-คะ-นา-นุ-สิด-ชะ-นะ) เขียนแบบคำไทยเป็น “อวาจีคณานุสิชฌน์” อ่านว่า อะ-วา-จี-คะ-นา-นุ-สิด แปลว่า “ผู้ตามเผด็จงานคณะฝ่ายใต้” = ปลัดขวา (หันหน้าไปทางตะวันออก ทิศใต้จะอยู่ทางขวา) 

(๒) “อุทิจยานุสาสน์” แยกศัพท์เป็น อุทิจิ + อนุสาสน์

อุทิจิ” ศัพท์ปกติเป็น “อุทีจี” (สระ อี ทั้งสองพยางค์) รากศัพท์มาจาก –

(1) อุ + ทิ (แทนศัพท์ “อุทฺธํ” = เบื้องบน, สูงขึ้น) + อญฺจฺ (ธาตุ = ไป) + อี ปัจจัย, แปลง อญฺจฺ เป็น อจ หรืออีกนัยหนึ่ง ลบ ญฺ ที่ อญฺจฺ (อญฺจฺ > อจฺ), “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือลบ อะ ที่ -(ญฺจฺ) (อญฺจฺ ลบ > อจฺ ลบ ะ > จฺ) ทีฆะ อิ ที่ ทิ เป็น อี (ทิ > ที)

: อุ + ทิ = อุทิ + อญฺจฺ > อจฺ > จฺ : อุทิ + จฺ = อุทิจฺ + อี = อุทิจี > อุทีจี แปลตามศัพท์ว่า “ทิศเป็นที่โคจรสูงขึ้นไปแห่งดวงอาทิตย์

(2) อุ ( = ปราศจาก) + ทิ ( = ให้) + อญฺจฺ (ธาตุ = ไป) + อี ปัจจัย, แปลง อญฺจฺ เป็น อจ หรืออีกนัยหนึ่ง ลบ ญฺ ที่ อญฺจฺ (อญฺจฺ > อจฺ), “ลบสระหลัง ทีฆะสระหน้า” คือลบ อะ ที่ -(ญฺจฺ) (อญฺจฺ ลบ > อจฺ ลบ ะ > จฺ) ทีฆะ อิ ที่ ทิ เป็น อี (ทิ > ที)

: อุ + ทิ = อุทิ + อญฺจฺ > อจฺ > จฺ : อุทิ + จฺ = อุทิจฺ + อี = อุทิจี > อุทีจี แปลตามศัพท์ว่า “ทิศเป็นที่โคจรให้ภาวะที่ปราศจากความหนาวแห่งดวงอาทิตย์” > ทิศที่ดวงอาทิตย์โคจรไปแล้วไม่มีความหนาว > ทิศที่ดวงอาทิตย์โคจรไปแล้วให้ความอบอุ่น

อุทีจี” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ทิศเหนือ

อนุสาสน์ เขียนแบบบาลีเป็น “อนุสาสน” (อะ-นุ-สา-สะ-นะ) = ตามสั่งสอน, สั่งสอนอยู่เนืองๆ

ในที่นี้ “อุทีจี” แผลงรูปเป็น “อุทิจิ” (สระ อิ ทั้งสองพยางค์)

อุทิจิ + อนุสาสน = อุทิจฺยานุสาสน (แผลง อิ ที่ (อุทิ)-จิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อย = อุทิจิ > อุทิเจ > อุทิจฺย)

อุทิจฺยานุสาสน” เขียนแบบบาลีมีจุดใต้ จฺ (จฺ เป็นตัวสะกด) อ่านตรงเสียงบาลีว่า อุ-ทิด-เจีย-นุ-สา-สะ-นะ

อุทิจฺยานุสาสน” ปรับรูปเป็นคำไทย เขียนเป็น “อุทิจยานุสาสน์” อ่านว่า อุ-ทิด-จะ-ยา-นุ-สาด แปลว่า “ผู้ตามสั่งสอนฝ่ายเหนือ” = ปลัดซ้าย (หันหน้าไปทางตะวันออก ทิศเหนือจะอยู่ทางซ้าย)

อภิปราย :

นาม “อวาจีคณานุสิชฌน์” นั้น ถ้าจับเอานาม “อุทิจยานุสาสน์” เป็นคำหลัก “อนุสาสน์” แปลว่า “ตามสั่งสอน” “อนุสิชฌน์” แปลว่า “ตามไปทำให้สำเร็จ” ความหมายไปคนละทาง ถ้าจะให้มีความหมายตรงกันก็น่าจะเป็น “อนุสิฏฐ์” (รูปคำอดีตกาลของ “อนุสาสน์”) ซึ่งแปลว่า “ตามสั่งสอน” เหมือนกัน

แต่เนื่องจากเป็น “อสาธารณนาม” คือชื่อเฉพาะ (proper name) ดังนั้น จะสะกดอย่างไรต้องเป็นไปตามเจตนาของผู้ตั้ง ในที่นี้แปลความไปตามรูปศัพท์เท่าที่ตาเห็น

น่าสังเกตว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “อวาจี” (ทิศใต้) แต่ไม่ได้เก็บคำว่า “อุทิจิ” (หรือ “อุทีจี”) (ทิศเหนือ) ซึ่งเป็นคำที่คู่กัน ตามธรรมดาเมื่อได้คำว่า “อวาจี” มาคำหนึ่ง ก็ควรจะได้คำคู่กัน คือ “อุทิจิ” (หรือ “อุทีจี”) มาด้วย

ขยายความ :

มีเอกสารระบุนามเต็มของพระครูปลัดขวา-ปลัดซ้าย ว่าด้งนี้ (สะกดตามต้นฉบับ-ดูภาพประกอบ-ภาพหมายเลข 2) –

…………..

พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์ สังฆอิศริยาลังการ วิจารณกิจโกศล วิมลสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ณวัดราชประดิษฐ สถิตยมหาสิมารามวรวิหาร พระอารามหลวง พระครูปลัดขวา มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑

พระครูปลัดอุทิจยานุสรณ์ วิจารโณภาศภาคยคุณ สุนทรสังฆานุคุติ วิสุทธิสังฆนายก ปิฎกธรรมรักขิต สถิตย์ณวัดราชประดิษฐ สถิตยมหาสิมารามวรวิหาร พระอารามหลวง พระครูปลัดซ้าย มีนิตยภัตรราคาเดือนละ ๓ ตำลึง ๑

…………..

หมายเหตุ: คำว่า “พระครูปลัดอุทิจยานุสรณ์” คลาดเคลื่อนแน่ เพราะวรรคต่อไปว่า “วิจารโณภาศภาคยคุณ” ไม่มีคำที่รับสัมผัสคำว่า “…นุสรณ์”

คำที่ถูกต้องควรเป็น “พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์” คำว่า “วิจารโณภาศ…” รับสัมผัสกับ “…สาสน์” เป็นพยานยืนยันอยู่

…………..

ส่วนภาพประกอบหมายเลข 1 มีคำบรรยายกำกับภาพดังนี้ –

(ดูภาพประกอบ-ภาพหมายเลข 1)

…………..

ภาพถ่ายต้นฉบับ: พระมหาเถระในคณะธรรมยุติกนิกาย ถ่ายรูปร่วมกันในพระอุโบสถวัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เข้าใจว่าน่าจะเป็นงานฉลองยุคของคณะธรรมยุติกนิกาย ในภาพจากซ้ายไปขวา

๑.พระธรรมปาโมกข์ (ถม วราสโย) วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็น พระราชกวี

๒.พระราชเมธี (ท้วม กณฺณวโร) วัดพิชยญาติการามวรวิหาร เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดอุทิจยานุสาสน์

๓.พระธรรมราชานุวัตร (แสง พุทฺธทตฺโต) วัดนิเวศธรรมประวัติราชวรวิหาร พระนครศรีอยุธยา

๔.พระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจนฺโท) วัดบรมนิวาสราชวรวิหาร เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระญาณรักขิต

๕.พระพรหมมุนี (แฟง กิตติสาโร) วัดมกุฎกษัตริยารามราชวรวิหาร

๖.พระวินัยรักขิต (นาม กาฬนาโม) วัดเทพศิรินทราวาสราชวรวิหาร

๗.พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เมื่อยังทรงดำรงพระสมณศักดิ์เป็นที่ หม่อมเจ้าพระสถาพรพิริยพรต

๘.พระราชมุนี (ชม สุสมาจาโร) วัดบวรนิเวศราชวรวิหาร เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดจุลานุนายก

๙.พระราชพงษ์ปฏิพัทธ์ (ม.ร.ว โล้น ญาณวโร) วัดโสมนัสราชวรวิหาร

๑๐.พระพรหมมุนี (แย้ม อุปวิกาโส) วัดราชประดิษฐสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เมื่อยังดำรงสมณศักดิ์เป็นที่ พระครูปลัดอวาจีคณานุสิชฌน์

๑๑.พระพุทธวิริยากร (จิตร ฉันโน) วัดสัตตนารถปริวัตรวรวิหาร จ.ราชบุรี

๑๒.ยังไม่ทราบนาม

ที่มาภาพและคำบรรยาย:

โพสต์ของ บุญตา แอนติค

7 ธันวาคม 2015

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าไม่มีลูกน้องไว้รองรับ

: จะใหญ่คับฟ้าได้อย่างไรหรือ

: ไม่มีคนที่เราหมิ่นเป็นตีนมือ

: ใครจะถือป้ายอวดประกวดนาม

—————

(ตอบคำถามของพระคุณ Phramaha Natthapong Kittinako ที่ถามมาตั้งแต่ปี 2558 – กราบขออภัยในความล่าช้า)

#บาลีวันละคำ (2,725)

28-11-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย