บาลีวันละคำ

สิงหาสน์ (บาลีวันละคำ 2,743)

สิงหาสน์

สัญลักษณ์แห่งอำนาจและตำแหน่ง

อ่านว่า สิง-หาด

แยกศัพท์เป็น สิงห + อาสน์

(๑) “สิงห

บาลีเป็น “สีห” อ่านว่า สี-หะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สีหฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย

: สีหฺ + = สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่เบียดเบียนพวกกวาง

(2) สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + อีหฺ (ธาตุ = พยายาม) + ปัจจัย, ลบ , ลบนิคหิตที่ สํ (สํ > )

: สํ > + อีหฺ = สีหฺ + = สีหณ > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่พยายามพร้อมที่จะฆ่าพวกกวาง

(3) สหฺ (ธาตุ = อดทน) + ปัจจัย, แปลง อะ ที่ -(หฺ) เป็น อี (สหฺ > สีห)

: สหฺ + = สหฺ > สีห แปลตามศัพท์ว่า “สัตว์ที่อดทน

สีห” (ปุงลิงค์) หมายถึง สิงโต, ราชสีห์ (a lion)

บาลี “สีห” สันสกฤตเป็น “สึห” (สิง-หะ)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

สึห : (คำนาม) ‘สิงห์,’ เกสริน, สัตว์มีผมคอ; สิงหราศิ, ราศีสิงห์; ต้นมะเขือ; มารดาของราหุหรือราหู; พาลพฤกษ์; ต้นพฤหดีหรือตรังตังช้าง; a lion; Leo, the sign of the zodiac; the egg-plant; the mother of Rahu; a shrub; the prickly night-shade. – (คุณศัพท์) (คำใช้ในการรจนา) วิศิษฏ์; เอก; (In composition) pre-eminent; chief.”

สึห” (สิง-หะ) ของสันสกฤต เราเอามาใช้ในภาษาไทยว่า “สิงห์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สิงห-, สิงห์ ๑ : (คำนาม) สัตว์ในนิยาย ถือว่ามีความดุร้ายและมีกําลังมาก, ราชสีห์ ก็เรียก; ชื่อกลุ่มดาวรูปสิงห์ เรียกว่า ราศีสิงห์ เป็นราศีที่ ๔ ในจักรราศี. (ส. สึห; ป. สีห).”

(๒) “อาสน์

บาลีเป็น “อาสน” (อา-สะ-นะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อาสฺ (ธาตุ = นั่ง; ตั้งไว้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: อาสฺ + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “การนั่ง” “ที่นั่ง” (2) “ที่เป็นที่ตั้ง

(2) อา (แทนศัพท์ “อาคนฺตฺวา” = มาแล้ว) + สิ (ธาตุ = นอน), ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบ อิ ที่ สิ (สิ > , ภาษาไวยากรณ์ว่า “ลบสระหน้า”)

: อา + สิ = อาสิ > อาส + ยุ > อน = อาสน แปลตามศัพท์ว่า “ที่เป็นที่มานอน” (คือแท่นหรือเตียงนอน)

อาสน” หมายถึง การนั่ง, การนั่งลง, ที่นั่ง, บัลลังก์ (sitting, sitting down; a seat, throne)

ในภาษาไทยใช้เป็น “อาสน-” (อาด-สะ-นะ-, มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) “อาสน์” (อาด) และ “อาสนะ” (อาด-สะ-นะ)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อาสน– ๒, อาสน์, อาสนะ : (คำนาม) ที่นั่ง, เครื่องปูรองนั่ง, (ใช้เฉพาะพระภิกษุสามเณร). (ป., ส.).”

สีห + อาสน์ = สีหาสน (สี-หา-สะ-นะ) แปลตามศัพท์ว่า “ที่นั่งมีอาการแห่งสีหะ

สีหาสน” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สิงหาสน์” (สิง-หาด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

สิงหาสน์ : (คำนาม) ราชอาสน์หรือที่ประทับ ทําเป็นแท่นหรือเตียงจมูกสิงห์.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเป็น –

สิงหาสน์ : (คำนาม) ราชอาสน์หรือที่ประทับ ทำเป็นแท่นเท้าสิงห์.”

คือแก้จาก “แท่นหรือเตียงจมูกสิงห์” เป็น “แท่นเท้าสิงห์”

คำว่า “เท้าสิงห์” พจนานุกรมฯ บอกความหมายไว้ว่า –

เท้าสิงห์ : (คำนาม) เรียกขาโต๊ะหรือขาตู้ที่แกะเป็นรูปตีนสิงห์; ชื่อลายสลักทําเป็นรูปตีนสิงห์.”

อภิปราย :

สีหาสน” ในบาลีแปลตามศัพท์ว่า “ที่นั่งมีอาการแห่งสีหะ” ไม่ได้ระบุชัดเจนว่ามีอาการอย่างไร อาจหมายถึง คลุมด้วยหนังราชสีห์ หรือมีหัวสิงห์ประดับอยู่ หรือมีส่วนใดส่วนหนึ่งของอาสนะทำเป็นรูปสิงห์หรือเป็นรูปส่วนใดส่วนหนึ่งของสิงห์ เช่นจมูกสิงห์ หรือเท้าสิงห์ ดังที่พจนานุกรมฯ ให้คำนิยาม

แต่ชัดเจนว่า “สีหาสน” หมายถึง “ที่นั่งชนิดหนึ่ง” ถ้าตามศัพท์ก็หมายถึงที่นั่งที่มีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งของราชสีห์ปรากฏอยู่ แต่เมื่อว่าโดยความหมายเชิงอุปมา “สีหาสน” หมายถึง ตำแหน่ง หรืออำนาจที่ควบอยู่กับตำแหน่งนั้นๆ ตรงกับคำที่ใช้ในภาษาไทยว่า “บัลลังก์” หรือการได้ครองบัลลังก์ เป็นสัญลักษณ์แทนความยิ่งใหญ่

ในวงการมวย เคยนิยมเรียกนักมวยที่ชนะเลิศในรุ่นนั้นๆ ว่า “ครองบัลลังก์” บางทีเรียกควบกับคำฝรั่งเช่น “ครองบัลลังก์แชมป์โลก” ก็คือที่ตรงกับคำฝรั่งว่า champion

Champion หรือ champ หรือ “บัลลังก์” นี่เองคือความหมายเชิงสัญลักษณ์ของคำว่า “สีหาสน” ในบาลี หรือ “สิงหาสน์” ในภาษาไทย

วรรณคดีเรื่อง “นิราศนรินทร์” ในโคลงบทแรก กล่าวถึง “สิงหาสน์” ไว้ด้วย แสดงให้เห็นว่า คำว่า “สิงหาสน์” เป็นที่รู้จักกันอยู่ในภาษาไทย-โดยเฉพาะในวงการร้อยกรอง

ข้อความในโคลงเป็นดังนี้ –

…………..

๏ อยุธยายศล่มแล้ว……..ลอยสวรรค์ ลงฤๅ

สิงหาสน์ปรางค์รัตน์บรร…เจิดหล้า

บุญเพรงพระหากสรรค์….ศาสน์รุ่ง เรืองแฮ

บังอบายเบิกฟ้า………….ฝึกฟื้นใจเมือง ฯ

…………..

ข้อคิด :

สีหาสน” หรือ “สิงหาสน์” เป็นสัญลักษณ์แห่งตำแหน่ง อำนาจ หรือความยิ่งใหญ่

เรามักมองเห็นแต่ความยิ่งใหญ่ของตำแหน่ง แต่ลืมไปว่าสิ่งที่มาคู่กับตำแหน่งคือ หน้าที่ การทำหน้าที่นี่เองคือตัวชี้วัดคุณค่าของผู้ครองตำแหน่ง กล่าวอีกนัยหนึ่ง ตำแหน่งเป็นเพียงเครื่องอำนวยโอกาสให้คนได้ทำงานคล่องขึ้น คุณค่าของตำแหน่งจึงอยู่ที่การทำงานตามหน้าที่นั้นๆ

โลกจดจำจารึกบุคคลต่างๆ ได้ ไม่ใช่เพราะผู้นั้นมีตำแหน่งใหญ่โต แต่เพราะผู้นั้นได้สร้างผลงานอะไรไว้ มีอยู่เป็นจำนวนมากที่ผู้สร้างผลงานนั้นๆ เป็นเพียงคนธรรมดาที่ไม่ได้มีตำแหน่งอะไรเลย

และมีอยู่เป็นจำนวนมากเช่นกัน-ผู้ที่ครองตำแหน่งที่ยิ่งใหญ่ เมื่อพ้นจากตำแหน่งไปแล้วก็ไม่ปรากฏว่าได้สร้างสรรค์ผลงานอะไรไว้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตำแหน่ง มิได้มีไว้เพียงเพื่อนั่งทับ

: ทรัพย์ มิได้มีไว้เพียงเพื่อนั่งมอง

#บาลีวันละคำ (2,743)

16-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย