สามิบริโภค (บาลีวันละคำ 2,748)
สามิบริโภค
กินอย่างผู้หมดอยาก
อ่านว่า สา-มิ-บอ-ริ-โพก
(๑) “สามิ”
คำนี้บาลีเป็น “สามี” อีกรูปหนึ่ง รากศัพท์มาจาก ส (แทนศัพท์ว่า “ธน” = ทรัพย์) + อามิ ปัจจัย
: ส + อามิ = สามิ
มีสูตรกระจายคำเพื่อแสดงความหมาย (ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”) ว่า
: สํ ธนํ อสฺสตฺถีติ สามิ = สะ คือทรัพย์ ของผู้นั้น มีอยู่ เหตุนั้น ผู้นั้นจึงชื่อว่า สามิ = ผู้มีทรัพย์
“สามิ” ในบาลีใช้ในความหมายว่า –
(1) เจ้าของ, ผู้ปกครอง, เจ้า, นาย (owner, ruler, lord, master)
(2) สามี (husband)
บาลี “สามิ > สามี” สันสกฤตเป็น “สฺวามินฺ”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“สฺวามินฺ : (คำนาม) ‘สวามิน,’ เจ้าของ, คำว่า ‘สวามี, บดี, อธิการี, หรือสวามินี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; นาย, เจ้าหรือจ้าว, คำว่า ‘อธิภู, นายก, อธิป, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน ผัว, คำว่า ‘ภรฺตา, ปติ, สฺวามี, ฯลฯ.’ ก็มีนัยอย่างเดียวกัน; อธิราช, ราชันหรือราชา; อุปาธยาย, อาจารย์, ครูผู้สั่งสอนธรรมหรือเวท; พราหมณ์หรือบัณฑิตผู้คงแก่เรียน; การติเกย; พระวิษณุ; พระศิวะ; มุนิวัตสยายน; ครุฑ; an owner, proprietor, a master or mistress, &c.; a master or lord, &c.; a husband, a lover, &c.; a sovereign, a monarch; a spiritual preceptor, religious teacher; a learned Brāhmaṇ or Paṇḍit; Kartikeya; Vishṇu; Śiva; the Muni Vatsyāyana; Garuḍa.”
จะเห็นว่า “สฺวามิน” ในสันสกฤตมีความหมายกว้างกว่า “สามิ” หรือ “สามี” ในบาลี
(๒) “บริโภค”
บาลีเป็น “ปริโภค” (ปะ-ริ-โพ-คะ) รากศัพท์มาจาก ปริ (รอบด้าน) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ, แปลง ช เป็น ค
: ปริ + ภุชฺ + ณ = ปริภุชณ > ปริภุช > ปริโภช > ปริโภค แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันคนใช้สอยรอบด้าน” หมายถึง การบริโภค, การใช้สอย, สิ่งที่ใช้สอย
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปริโภค” ว่า –
(1) material for enjoyment, food, feeding (เครื่องบริโภค, อาหาร, โภชนะ)
(2) enjoyment, use (การบริโภค, การใช้สอย)
“ปริโภค” ภาษาไทยใช้ว่า “บริโภค”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บริโภค : (คำกริยา) กิน (ใช้เฉพาะอาการที่ทําให้ล่วงลําคอลงไปสู่กระเพาะ) เช่น บริโภคอาหาร, เสพ เช่น บริโภคกาม; ใช้สิ้นเปลือง, ใช้สอย, เช่น บริโภคสมบัติ, คู่กับ อุปโภค. (ป. ปริโภค).”
สามิ + ปริโภค = สามิปริโภค (สา-มิ-ปะ-ริ-โพ-คะ) แปลตามศัพท์ว่า “การกินและการใช้สอยโดยความเป็นเจ้าของ” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สามิบริโภค” (สา-มิ-บอ-ริ-โพก) หรือจะเรียกเป็น “สามีบริโภค” ก็ได้
ขยายความ :
“บริโภค” ในที่นี้ ท่านจำแนกไว้ 4 อย่าง คำบาลีและคำแปลว่าดังนี้
(1) เถยฺยปริโภค (เถย-ยะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างขโมย
(2) อิณปริโภค (อิ-นะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นหนี้
(3) ทายชฺชปริโภค (ทา-ยัด-ชะ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นผู้รับมรดก
(4) สามิปริโภค (สา-มิ-ปะ-ริ-โพ-คะ) = บริโภคอย่างเป็นเจ้าของ
คำว่า “สามิปริโภค” ในคัมภีร์ชั้นอรรถกถา เช่น สมันตปาสาทิกา ภาค 2 อรรถกถาพระวินัย รูปิยสิกขาบท หน้า 230 เป็นต้น ขยายความไว้ว่า
…………..
ขีณาสวานํ ปริโภโค สามิปริโภโค นาม.
การบริโภคของพระขีณาสพทั้งหลาย ชื่อว่าสามิบริโภค.
เต หิ ตณฺหาทาสพฺยํ อตีตตฺตา สามิโน หุตฺวา ปริภุญฺชนฺติ.
พระขีณาสพทั้งหลายเหล่านั้นแลชื่อว่าบริโภคในฐานเป็นเจ้าของ เพราะล่วงพ้นความเป็นทาสแห่งตัณหาได้แล้ว
หนังสือ พุทธธรรม ฉบับขยายความ งานนิพนธ์ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต หน้า 351 อธิบายไว้ว่า –
…………..
ในชั้นอรรถกถา ท่านจำแนกการบริโภคของภิกษุสามเณรซึ่งเป็นผู้รับทักขิณาของชาวบ้านมาฉันและใช้สอยว่ามี 4 อย่าง
……
……
พวกที่ 4 ได้แก่พระอรหันต์ทั้งหลาย ซึ่งเป็นผู้พ้นจากความเป็นทาสแห่งตัณหาแล้ว เป็นผู้มีคุณความดีสมควรแก่ของถวายอย่างแท้จริง มีสิทธิสมบูรณ์ในการรับและบริโภคทักขิณา การบริโภคของพระอรหันต์ท่านเรียกว่า สามิบริโภค คือบริโภคฐานเป็นเจ้าของ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: อยากมาก หิวมาก
: หมดอยาก หมดหิว
21-12-62