บาลีวันละคำ

อุทกศาสตร์ (บาลีวันละคำ 2,749)

อุทกศาสตร์

หัวใจของการเดินเรือ

อ่านว่า อุ-ทก-กะ-สาด

ประกอบด้วยคำว่า อุทก + ศาสตร์

(๑) “อุทก

บาลีอ่านว่า อุ-ทะ-กะ รากศัพท์มาจาก อุทิ (ธาตุ = ไหลไป; เปียก, ชุ่ม) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ), ลบสระที่สุดธาตุ (อุทิ > อุท)

: อุทิ + ณฺวุ = อุทิณฺวุ > อุทิก > อุทก (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ไหลไป” (2) “สิ่งที่ทำให้เปียก” หมายถึง น้ำ (water)

(๒) “ศาสตร์

เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สตฺถ” (สัด-ถะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (ส)-สฺ เป็น ตฺ

: สสฺ + = สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “วัตถุเป็นเครื่องเบียดเบียนสัตว์” คำเดิมหมายถึง “ของมีคม” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศสฺตฺร” แปลว่า ดาบ, มีด, อาวุธ ใช้ในภาษาไทยว่า ศัสตรา หรือ ศาสตรา บางทีก็พูดควบกันว่า ศาสตราวุธ หรือ ศาสตราอาวุธ (weapon, sword, knife)

(2) สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย แปลง รฺ เป็น ตฺ

: สรฺ + = สรฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “หมู่เป็นที่เป็นไปแห่งส่วนย่อยทั้งหลาย” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “สารฺถ” หมายถึง กองเกวียนของพ่อค้า, กองคาราวาน, ขบวนยานพาหนะ (caravan)

(3) สาสฺ (ธาตุ = สอน) + ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ สา-(สฺ) เป็น อะ (สาสฺ > สสฺ), แปลง สฺ เป็น ตฺ

: สาสฺ + = สาสฺถ > สสฺถ > สตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องสอนเนื้อความ” ความหมายนี้ตรงกับสันสกฤตว่า “ศาสฺตฺร” หมายถึง คัมภีร์, ตำรา, ศิลปะ, วิชาความรู้ (science, art, lore)

ศาสตร” มีความหมาย 2 อย่าง คือ

(ก) หมายถึง “ของมีคม” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (1) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศสฺตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศัสตระ,’ อายุธ, อาวุธทั่วไป; เหล็ก; เหล็กกล้า; ดาพ, กระบี่; มีด, พร้า; a weapon in general, iron; steel; a sword; a knife.”

ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศัสตรา” และ “ศาสตรา

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) ศัสตรา, ศัสตราวุธ : (คำนาม) ของมีคมเป็นเครื่องฟันแทง, อาวุธต่าง ๆ. (ส.).

(2) ศาสตรา : (คำนาม) ศัสตรา.

(ข) หมายถึง “วิชาความรู้” ตามบาลี “สตฺถ” ในข้อ (3) ความหมายนี้สันสกฤตเป็น “ศาสฺตฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ศาสฺตฺร : (คำนาม) ‘ศาสตร์’ คำสั่งหรือบัญชา; เวท, วิทยา, ธรรมศาสตร์, กฎหมาย; หนังสือทั่วไป; an order or command; scripture or Veda, science, institutes of religion, law; a book in general.”

ความหมายนี้ในภาษาไทยสะกดเป็น “ศาสตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ศาสตร-, ศาสตร์ : (คำนาม) ระบบวิชาความรู้, มักใช้ประกอบหลังคําอื่น เช่น วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ มนุษยศาสตร์. (ส.).”

อุทก + ศาสตร์ = อุทกศาสตร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อุทกศาสตร์ : (คำนาม) วิชาว่าด้วยนํ้าบนพื้นโลกเกี่ยวกับการวัดหรือการสํารวจแผนที่ทะเล โดยมีความมุ่งหมายเฉพาะเพื่อการเดินเรือ. (ป., ส. อุทก + ส. ศาสฺตฺร).”

ขยายความ :

อุทกศาสตร์” เป็นชื่อหน่วยงานระดับกรมหน่วยหนึ่งของกองทัพเรือ คือ “กรมอุทกศาสตร์

กรมอุทกศาสตร์ทำงานอะไร ขอแนะนำให้ทราบภารกิจและขอบเขตความรับผิดชอบของกรมอุทกศาสตร์ ดังนี้ –

๑. ดำเนินการสำรวจแผนที่ทะเลในน่านน้ำไทยและในทะเลหลวงที่ต่อเนื่องกับน่านน้ำไทย การสำรวจแผนที่บกและการรังวัดที่ดินภายในพื้นที่กองทัพเรือหรือตามคำสั่งที่ได้รับมอบหมาย

๒. จัดสร้างต้นฉบับและพิมพ์แผนที่เดินเรือ และแผนที่เดินอากาศตามข้อตกลงการบินนานาชาติ แผนที่พิเศษเพื่อการทหาร รวมทั้งแผนที่บกและแผนผังต่างๆ ตลอดจนเอกสารและบรรณสารที่เกี่ยวกับกิจการอุทกศาสตร์

๓. ดำเนินการสำรวจรวบรวมข้อมูล และศึกษาวิจัยเกี่ยวกับสมุทรศาสตร์สาขาต่างๆ วิศวกรรมชายฝั่งและยีออฟิสิกส์ทางทะเล เพื่อการทหารและการพัฒนาประเทศ

๔. จัดทำมาตราน้ำทำนายระดับน้ำขึ้น-ลง ในน่านน้ำไทยเพื่อแจกจ่ายกับส่วนราชการของกองทัพเรือ และอื่นๆ

๕. ดำเนินการเกี่ยวกับการบริการข่าวอากาศให้แก่ส่วนราชการในกองทัพเรือ และส่วนราชการที่เกี่ยวข้องตลอดจนบริษัทการบิน และเรือต่างๆ ที่ขอรับการสนับสนุนเพื่อช่วยในการเดินเรือและการเดินอากาศ

๖. จัดหา ซ่อมบำรุง และบริการเกี่ยวกับแผนที่ เอกสาร บรรณสารการเดินเรือและอุปกรณ์การเดินเรือให้แก่ส่วนราชการของกองทัพเรือ และอื่นๆ

๗. ควบคุมและดำเนินการเกี่ยวกับเครื่องหมายทางเรือในน่านน้ำไทย ออกประกาศชาวเรือเกี่ยวกับอันตรายและการเปลี่ยนแปลงในทะเล เพื่ออำนวยความสะดวกและให้ความปลอดภัยในการเดินเรือ

๘. ตรวจสอบและรักษาเวลามาตรฐานของประเทศไทย ให้บริการเกี่ยวกับการเทียบเวลา

๙. เป็นสมาชิกในนามของประเทศไทยในองค์การอุทกศาสตร์สากล (INTERNATIONAL HYDROGRAPHIC ORGANIZATION-IHO) และสมาคมประภาคารระหว่างประเทศ (INTERNATIONAL ASSOCIATION OF LIGHTHOUSE AUTHORITIES-IALA) รวมทั้งประสานงาน และแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารกับองค์กรและสถาบันทางด้านอุทกศาสตร์ สมุทรศาสตร์ และวิทยาศาสตร์ ทั้งในและนอกประเทศ

๑๐. ดำเนินการเกี่ยวกับการฝึกและการศึกษาของเหล่าทหารอุทกศาสตร์

๑๑. ดำเนินการในคณะกรรมการเขตแดนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับงานอุทกศาสตร์ทั้งภายในและภายนอกกองทัพเรือ

๑๒. ดำเนินการและสนับสนุนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ

ข้อสังเกต :

ชื่อกรมต่างๆ ในกองทัพเรือจะต้องมีคำว่า “ทหารเรือ” ต่อท้ายเพื่อให้รู้ว่าเป็นหน่วยงานของกองทัพเรือ ไม่ใช่กองทัพอื่น เช่น กรมยุทธศึกษาทหารเรือ (กรมยุทธศึกษาทหารบกก็มี กรมยุทธศึกษาทหารอากาศก็มี) กรมพลาธิการทหารเรือ กรมข่าวทหารเรือ

แต่กรมอุทกศาสตร์ ชื่อ “กรมอุทกศาสตร์” ไม่ใช่ “กรมอุทกศาสตร์ทหารเรือ

เหตุผลที่ไม่ต้องมีคำว่า “ทหารเรือ” ต่อท้ายก็เพราะ “กรมอุทกศาสตร์” มีเฉพาะกองทัพเรือ ไม่มีในกองทัพบกและกองทัพอากาศ เมื่อพูดว่า “กรมอุทกศาสตร์” ก็ย่อมรู้กันว่าเป็นหน่วยงานของกองทัพเรือเท่านั้น

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นทหารเรือไม่รู้จักน้ำ เป็นความวิปริตฉันใด

: เป็นสงฆ์ไม่รู้จักพระธรรมวินัย ก็เป็นความความวิปลาสฉันนั้น

#บาลีวันละคำ (2,749)

22-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย