บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

คนสมัยนี้

คนสมัยนี้

คนสมัยนี้

——-

เรื่องนี้ตอนลงมือเขียนนึกว่าจะสั้น

แต่เขียนไปๆ ยาวจนได้

ขออภัยในความยาวไว้ ณ ที่นี้ด้วยนะครับ

…………..

เมื่อวานนี้ (๒๐ ธันวาคม ๒๕๖๒) ผมโพสต์เรื่อง “ลองภูมิ” โดยยกเอากลอนบทหนึ่งขึ้นมาตั้งคำถาม 

กลอนบทนั้นว่าดังนี้

————————-

ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา

ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ

ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น

ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน

————————-

ผมถามว่าญาติมิตรท่านใดเคยได้ยินหรือเคยอ่านกลอนบทนี้มาบ้าง?

ก็มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันพอสมควร 

…………..

ขอเรียนให้ทราบว่า ต้นเรื่องก็มาจากวงสนทนาธรรมเมื่อวันพระที่แล้ว (๑๙ ธันวาคม ๒๕๖๒ แรม ๘ ค่ำ เดือนอ้าย) 

คือที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี มีวงสนทนาธรรมในหมู่ผู้รักษาอุโบสถศีลทุกวันพระ 

ผู้รักษาอุโบสถศีลมีกันกี่คนก็แล้วแต่ พอได้เวลาบ่ายก็ตั้งวงสนทนาธรรมกัน จะมาร่วมวงกันกี่คน หรือใครจะไม่เข้าวงก็ไม่ว่ากัน ตามสมัครใจ แต่หลักการคือเปิดวงสนทนาธรรมทุกวันพระ 

ผมเคยเสนอ-และยังขอยืนยัน ขอเสนอไว้ในที่นี้-ว่า 

(๑) ขอให้วัดต่างๆ จัดให้มีทำบุญวันพระตลอดปี (ปกติทำบุญเฉพาะช่วงเวลาเข้าพรรษา พอออกพรรษาก็เลิก) 

(๒) ในการทำบุญทุกวันพระ ขอให้วัดต่างๆ เชิญชวน-ชักนำ-แนะนำ จะใช้อุบาย ออกอุบาย มีเทคนิคอะไรก็ว่ากันไป-ให้ญาติโยมชาวบ้านมาถืออุโบสถศีล จะมากคนน้อยคนไม่เป็นประมาณ แต่ขอให้มีทุกวัด – แม้จะคนเดียวก็เอา 

(๓) ในบรรดาผู้ถืออุโบสถศีล ทุกวันพระ ขอให้จัดเวลาสนทนาธรรมกัน โดยพระในวัดนั้นเป็นผู้ชักนำหรือเป็นผู้นำในการสนทนา หรือถ้าในหมู่ผู้ถืออุโบสถศีลมีใครพอจะเป็นผู้นำได้ จะให้คนนั้นเป็นผู้นำก็ได้ 

เท่าที่ประเมินผล ข้อเสนอของผมไม่มีใครสนใจ 

โดยเฉพาะข้อ (๓) ให้เปิดวงสนทนาธรรม ยิ่งไม่สนใจ 

การสนทนาธรรมนั้น คำบาลีว่า “ธมฺมสากจฺฉา” เขียนเป็นคำไทยว่า “ธรรมสากัจฉา” อ่านว่า ทำ-มะ-สา-กัด-ฉา แปลตรงตัวว่า “การสนทนาธรรม” 

มีพระพุทธพจน์ในมงคลสูตรตรัสไว้ว่า 

————————-

“กาเลน ธมฺมสากจฺฉา 

เอตมฺมงฺคลมุตฺตมํ”

การสนทนาธรรมตามกาลคือตามโอกาสที่เหมาะสม

เป็นอุดมมงคล

————————-

ชาววัดสวดมงคลสูตรกันได้ทุกวัด

ชาวบ้านก็ฟังมงคลสูตรกันอยู่เสมอ 

หลายคนสวดเองด้วย 

แต่-กูไม่ทำ ใครจะทำไม (ขอประทานโทษ พูดภาษานักเลงปากท่อ)

เราเอากันแค่-เป็นมงคลที่การสวด 

แต่ไม่ทำตามที่สวด

ยังท่านที่ชอบให้ท้ายก็จะออกมาแก้แทนว่า — 

โอย แค่เขามาทำบุญก็ดีนักหนาแล้ว จะต้องมาเกณฑ์ให้ถืออุโบสถอะไรกันอีก

โอย แค่เขามาถืออุโบสถก็ดีนักหนาแล้ว จะต้องมาเกณฑ์ให้สนทนาธรรมอะไรกันอีก

แล้วก็ปิดท้ายด้วยประโยคยอดนิยม – จะเอาอะไรกันนักกันหนา 

สวัสดีเถิด 

…………..

ในวงสนทนาธรรมเมื่อวันพระที่แล้ว มีผู้ตั้งประเด็นเรื่องศาสนาพระศรีอารย์ 

ผมก็เลยขออนุญาตให้ข้อมูลแก่วงสนทนาว่า พระศรีอารย์นั้นพระนามจริงๆ คือ “เมตไตรย” ภาษาไทยว่า “ไมตรี” ภาษาบาลีว่า “เมตฺติ” 

แก่นแท้ของศาสนาพระศรีอารย์ก็คือ ผู้คนมีน้ำใจไมตรีต่อกันเป็นพื้นฐานของสังคม 

ผมยังถือโอกาสเล่าให้วงสนทนาธรรมฟังด้วยว่า ….

สมัยผมเป็นเด็ก สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย (สวท.) ส่งกระจายเสียงวันละ ๒ เวลา คือภาคเช้ากับภาคบ่าย 

ภาคเช้าเปิดสถานีแต่เช้ามืด จำเวลาไม่ได้ แต่ปิดสถานีเวลา ๐๘๐๐ คือพอเทียบเวลา เปิดเพลงชาติ จบเพลงชาติก็ปิดสถานี 

ภาคบ่าย เวลาเปิดสถานี จำไม่ได้ ส่วนเวลาปิดสถานีไม่แน่ใจว่าสองทุ่ม สามทุ่ม หรือสี่ทุ่ม 

แต่ที่จำได้แม่นๆ ก็คือ พอถึงเวลาปิดสถานีจะเปิดดนตรีไทย ที่จำได้แน่นอนก็คือเป็นระนาดทุ่มบรรเลงเพลงช้าๆ แล้วก็มีเสียงผู้ชายอ่านกลอนบทนั้นโดยมีดนตรีคลอ

————————-

ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา

ทั้งโลกาเกิดทุกข์ถึงยุคเข็ญ

ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น

ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน

————————-

พอจบกลอนจบดนตรี ก็เปิดเพลงสรรเสริญพระบารมี จบเพลง ปิดสถานี

ตอนนั้น ฟังกลอนบทนี้ก็ฟังธรรมดาๆ ต่อมา พออ่านหนังสือมากขึ้น จึงรู้ว่าเป็นกลอนจากเรื่อง “พระอภัยมณี” ของสุนทรภู่ 

ตามไปอ่านพระอภัยมณี ก็ได้ลิ้มรสวรรณคดีเรื่องนั้นซาบซึ้งมากขึ้น 

พระอภัยมณีที่พิมพ์เป็นเล่ม เรียกกันว่าฉบับหอสมุดแห่งชาติ แบ่งเป็นตอนๆ มี ๑๐๐ กว่าตอน มีชื่อตอนด้วย ชื่อตอนนี้เข้าใจว่าผู้ชำระจัดพิมพ์เป็นผู้ตั้งขึ้นในภายหลัง ไม่ใช่สุนทรภู่ตั้งไว้แต่เดิม

กลอน-ประการหนึ่งซึ่งขาดพระศาสนา … อยู่ในเรื่องพระอภัยมณี ตอนที่ ๔๔ ชื่อตอน-กษัตริย์สามัคคี 

๒ วรรคที่ว่า – ซึ่งจะกลับดับร้อนให้ผ่อนเย็น ก็ต้องเป็นไมตรีปรานีกัน – นี้ วิเศษนัก ศาสนาพระศรีอารย์อยู่ตรงหน้าเรานี่เอง 

ลองตรองดู ถ้ามนุษย์มีไมตรีต่อกัน โลกจะร่มเย็นน่าอยู่เพียงไร 

…………..

ยกตัวอย่าง – ผมอยู่ราชบุรี มีกิจจะต้องไปทำที่กรุงเทพฯ ต้องค้างคืน สมมุติว่าผมไม่มีญาติพี่น้องมิตรสหายใดๆ ทั้งสิ้นในกรุงเทพฯ 

แต่-มนุษย์มีไมตรีต่อกัน 

เริ่มตั้งแต่ผมออกเดินทางจากบ้านที่ราชบุรี มีคนเห็นท่าทางผม ถามว่าลุงจะไปไหน พอรู้ว่าผมจะไปกรุงเทพฯ อ้าว พอดีเลย ผมก็กำลังจะไป (หรือคนนั้นคนนี้เขากำลังจะไป) ลุงไปกับผม รถผมว่าง ไป 

สบายไปหนึ่งละ 

ถึงกรุงเทพฯ ขอบคุณ ลงจากรถ มีคนเห็นท่าทางผม ถามว่าลุงจะไปไหน พอผมบอกว่าจะไปตรงนั้นตรงนี้ อ้าว ผมรู้จักตรงนั้น พอดีมีธุระกำลังจะผ่านไปแถวนั้นพอดี ไป ไปกับผม 

สบายไปอีกหนึ่งละ 

ไปถึงที่ ขอบคุณ ลงจากรถ เข้าไปทำธุระ ยังไม่เสร็จ พอดีเย็นแล้ว มีคนถามว่า-แล้วนี่ลุงจะพักที่ไหน ยังไม่รู้เลย อ้าว พอดีบ้านผมว่าง นอนได้สบาย ไปค้างบ้านผม ไป 

เป็นธรรมเนียมไทยแท้แต่โบราณ

ใครมาถึงเรือนชานต้องต้อนรับ

ข้าวปลาอาหาร ที่หลับที่นอน สบายอยู่แล้ว เจ้าของบ้านไม่ได้เดือดร้อนอะไรเลย

สบายไปอีกหนึ่งละ 

รุ่งขึ้น ไปทำธุระต่อ เสร็จธุระก็จะกลับราชบุรี มีคนเห็นท่าทางผม ถามว่าลุงจะไปไหน พอผมบอกว่าจะกลับบ้านที่ราชบุรี อ้าว ผมจะไปเพชร (จังหวัดเพชรบุรี) ผ่านราชบุรีอยู่แล้ว ไปกับผม เดี๋ยวผมแวะส่งให้ ไป ขึ้นรถ 

สบายไปอีกหนึ่งละ 

ถึงราชบุรี บ้านลุงอยู่แถวไหน เดี๋ยวผมไปส่ง โอย ไม่ต้องหรอกพ่อคุณ ส่งผมตรงนี้แหละ คุณจะได้รีบไป ผมเดินหน่อยเดียวก็ถึงบ้านแล้ว ขอบคุณมากนะครับ 

เป็นอันว่า ตั้งแต่ไปกรุงเทพฯ จนกลับราชบุรี ผมแทบไม่ต้องใช้สตางค์เลย เพราะมีคนมอบน้ำใจไมตรีให้ตั้งแต่ไปจนกลับ 

…………..

ญาติมิตรอ่านมาถึงตรงนี้คงขำกลิ้ง ลุงยังละเมอไม่เลิกอีกหรือ ไอ้ที่พรรณนามานั่นน่ะมีแต่ในหนังเท่านั้น ในโลกแห่งความเป็นจริงน่ะไม่มีหรอกลุง ฮ่า ฮ่า ฮ่า

แล้วผมไม่รู้ดอกหรือว่า-ในโลกแห่งความเป็นจริงน่ะไม่มีหรอก 

ผมก็รู้ความจริงเท่าๆ กับญาติมิตรทั้งปวงนั่นแหละ 

แล้วทำไมผมยังคิด ยังพรรณนา อย่างที่ว่า-ยังละเมอไม่เลิก

ผมไม่ได้ละเมอนะครับ 

ผมรู้ว่า ทุกคนจะพูดเป็นเสียงเดียวกันด้วยคำขึ้นต้นว่า … คนสมัยนี้ 

ครับ-คนสมัยนี้มันไม่เหมือนกับในจินตนาการนิทานนิยาย

คนสมัยนี้ไว้ใจกันได้ที่ไหน

คนสมัยนี้มันร้ายยังกับอะไรดี

คนสมัยนี้มันไม่มีน้ำใจหรอก

คนสมัยนี้…

ทำไมผมจะไม่รู้ ทำไมผมจะไม่เข้าใจ 

ผมยังคาดเดาต่อไปได้ด้วยว่า หลายท่านอยากจะยกภาษิตขึ้นมาเตือนสติ เช่น เอ็นดูเขา เอ็นเราขาด – อะไรประมาณนี้ 

…………..

ครั้งหนึ่ง ตอนที่ยังรับราชการอยู่ ผมมีภารกิจจะต้องไปสัมมนาที่จังหวัดพิษณุโลก 

แผนของผมคือ ขับรถจากราชบุรีขึ้นไปพิษณุโลก 

ผมมีมาสด้าแฟมิเลีย ๑๓ อยู่คันหนึ่ง วันเดินทางตอนสายๆ ผมก็ขับไปจอดที่ตลาด ใกล้ๆ ท่ารถ เขียนกระดาษแปะไว้ที่หน้ารถว่า 

“ไปพิษณุโลก ยินดีรับเพื่อนร่วมทาง” 

จอดอยู่ประมาณชั่วโมงหนึ่ง มีคนหยุดอ่านบ้าง ชะโงกอ่านบ้าง 

แต่ไม่มีใครแสดงความจำนงว่าจะไปด้วย 

ไม่ต้องมีใครอธิบายผมก็เข้าใจว่าเพราะอะไร 

แต่ตอนขากลับจากพิษณุโลก มาสด้าแฟมิเลีย ๑๓ ของผม บรรทุกเพื่อนร่วมสัมมนามาส่งตามรายทาง ๗ คน อยุธยา สุพรรณ เมืองกาญจน์ และที่ไปจากราชบุรี 

อยุธยา ทางผ่าน สบายอยู่แล้ว

สุพรรณ เยื้องขวาออกไปหน่อย ไม่ลำบากอะไร

เมืองกาญจน์ ฉีกออกขวาไปทางตะวันตก ไกลหน่อย แต่ไม่มีปัญหา

ผมไปส่งถึงที่ทุกราย ไม่ต้องให้ใครต่อรถ 

ส่งที่หน้าบ้านรายสุดท้ายที่ราชบุรี ผมถึงบ้านหลัง ๖ ทุ่มเล็กน้อย นอนหลับสบาย

…………..

สมัยที่ยังรับราชการอยู่ ตอนใกล้เกษียณ ที่ทำงานผมย้ายมาอยู่ที่ศาลายา ขับรถไป-กลับสะดวกขึ้น 

ทั้งไป ทั้งกลับ มีเพื่อนร่วมทางทุกวัน – เพื่อนร่วมทางนะครับ ไม่ใช่ผู้โดยสาร (ตอนหลังๆ เพื่อนเกรงใจ ช่วยค่าน้ำมันคนละเล็กละน้อย แต่ใช้คำว่า “สินน้ำใจ” ทำให้ผมเลี่ยงไม่ออก) 

บางวันไม่มีเพื่อนร่วมทาง ขากลับผมขับไปถึงแยกนครชัยศรี (ที่เรียกกันวา ท่านา) ตรงนั้นมีป้ายรอรถ มีคนรอขึ้นรถกลับบ้านกันเยอะ ผมแน่ใจว่ากลับราชบุรีก็มี ผมเคยจอดแล้วเปิดกระจกร้องถาม 

“มีใครไปราชบุรีไหมครับ ที่ว่าง นั่งเป็นเพื่อนกัน” 

ไม่ต้องสงสัยครับ ไม่มีใครไป มีแต่คนมองด้วยความระแวงสงสัย (ทั้งๆ ที่ผมแต่งเครื่องแบบทหารเรือ) 

แล้วก็-ไม่ต้องมีใครอธิบายผมก็เข้าใจว่าเพราะอะไร 

…………..

ผมผ่านเหตุการณ์แบบนี้ แล้วก็เข้าใจดีว่าอะไรเป็นอะไรเพราะอะไร

แต่ผมก็ยังยืนยันว่า คนเรามีไมตรีต่อกันได้ แล้วก็ควรอย่างยิ่งที่จะมีไมตรีต่อกัน 

ภูเขาลูกมหึมาที่ขวางหน้าเราอยู่ – หรืออันที่จริงก็คือ ภูเขาที่เราลากมันมาขวางหน้าตัวเอง – ก็คือ ความหวาดระแวง ที่ขึ้นต้นด้วยคำว่า “คนสมัยนี้…” 

ผมไม่ปฏิเสธ คนสมัยนี้เป็นอย่างที่เราหวาดระแวงจริงๆ 

แต่ผมมีวิธีคิดที่ต่างออกไป 

เริ่มต้น เราลืมนึกไปว่า “คนสมัยนี้…” ที่เรายกขึ้นมาอ้างนั้น มันรวมเราเองเข้าไว้ด้วย-ใช่หรือไม่? 

ถ้าทุกคนคิดเหมือนกันหมด คือคิดในทางหวาดระแวงว่า “คนสมัยนี้…” 

คนอื่นๆ คือ “คนสมัยนี้…” ในความหมายของเรา

แต่ในเวลาเดียวกัน เราเองก็ต้องเป็น “คนสมัยนี้…” ในความหมายของคนอื่นๆ 

เราคงอยากจะปฏิเสธว่า ไม่ใช่ คือปฏิเสธว่าเราไม่ใช่คนที่น่าหวาดระแวง ตรงกันข้าม เราเป็นคนที่ไว้ใจได้ เราเป็นคนมีน้ำใจ 

วิธีปฏิเสธที่ถูกต้อง-ไม่ใช่ด้วยคำพูด

แต่ด้วยการปฏิบัติ ด้วยการลงมือทำ

แน่นอน ในโลกยุคปัจจุบัน อาจมีเราคนเดียวที่ลงมือแสดงความเป็นคนมีน้ำใจ ในขณะที่โลกทั้งโลกมองเราว่า – 

เป็นคนแปลกประหลาด 

เป็นตัวตลก

เป็นคนหลงยุค

เป็นลุงที่ยังละเมอไม่เลิก

ถ้าเราไม่มีจุดยืน ถ้าเราไม่มั่นคงในหลักการ เราก็จะแกว่งไกวไหวหวั่น ละเลยหลักการ หมดความเป็นตัวของตัวเอง และถูกกลืนหายไปกับคลื่นสังคม 

…………..

พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า ในอดีตสังคมมนุษย์เคยมีสภาพที่ท่านใช้คำว่า “นิรคฺคฬ” (นิ-รัก-คะ-ละ) แปลว่า “ไม่มีลิ่มสลัก” หรือแปลให้เป็นคำสมัยใหม่ว่า “ไม่ต้องล็อกประตู” หมายความว่า ผู้คนจิตใจดีมีศีลธรรม เจ้าของบ้านไปไหนๆ ไม่ต้องล็อกประตูบ้าน ของไม่หาย เพราะไม่มีใครคิดขโมยของใคร มีแต่จะช่วยเหลือเกื้อกูลกันด้วยน้ำใจไมตรี 

ถ้าสังคมมนุษย์เคยมีสภาพเช่นนี้ ก็แปลว่ามนุษย์ธรรมดานี่แหละมีศักยภาพที่จะเป็นคนจิตใจดีมีศีลธรรมได้-ถ้าฝึกหัดอบรมกล่อมเกลาให้ถูกวิธี

แน่นอน-จะต้องมีคนพูดว่า เราทำ แต่คนอื่นเขาไม่ทำ … 

ใครล่ะคือ “คนอื่น”?

ถ้าทุกคนคิดอย่างนี้ …

เราคิด คนอื่นๆ ก็เป็น “คนอื่น” สำหรับเรา 

คนอื่นคิด เราก็เป็น “คนอื่น” สำหรับเขา 

คำว่า “คนอื่นเขาไม่ทำ” ก็แปลว่า เราเองก็ด้วย-ที่ไม่ทำ ใช่หรือไม่?

วิธีพิสูจน์ก็คือ-เราก็ลงมือทำเสียเลย ลงมือทำเสียเองเลยสิครับ 

เริ่มด้วย-ตัดทางแห่งความโลภความอยาก …

เห็นทรัพย์ของผู้อื่นเหมือนก้อนดิน 

เห็นภรรยาของผู้อื่นเหมือนมารดาตน 

เห็นลูกสาวของผู้อื่นเหมือนลูกรักของตน

พร้อมกันนั้นก็แสดงความมีน้ำใจไมตรีต่อเพื่อนมนุษย์ 

แน่นอน-ภายในกรอบขอบเขตที่เรามีศักยภาพ

ถ้าจะไม่ทำ ก็เพราะทำไม่ได้

ไม่ใช่-ทำได้ แต่กูไม่ทำ ใครจะทำไม (ขอประทานโทษ พูดภาษานักเลงปากท่ออีกที)

และแน่นอน-ทำอย่างมีสติ รอบคอบ ระมัดระวัง 

ระลึกว่าไว้เสมอว่า-คนสมัยนี้…ไม่มีน้ำใจไมตรี ไว้ใจไม่ได้ 

แต่ไม่ใช่เรา 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๑ ธันวาคม ๒๕๖๒

๑๖:๔๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *