จิตสำนึก (บาลีวันละคำ 2,750)
จิตสำนึก
ยังไม่ใช่ความสำนึก
อ่านว่า จิด-สำ-นึก
(ไม่ใช่ จิด-ตะ-สำ-นึก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“จิตสำนึก : (คำนาม) ภาวะที่จิตตื่นและรู้ตัวสามารถตอบสนองต่อสิ่งเร้าจากประสาทสัมผัสทั้ง ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส และสิ่งที่สัมผัสได้ด้วยกาย. (อ. conscious).”
ได้ความตามพจนานุกรมฯ ว่า “จิตสำนึก” บัญญัติจากคำอังกฤษว่า conscious
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล conscious ว่า –
1. สมปฤดี, สติ, รู้สึกตัว, สำนึก, มีสติ
2. (จิต) ที่อยู่ในอำนาจความนึกคิด, รู้จักคิด
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล conscious เป็นบาลีดังนี้:
(1) sasaññī สสญฺญี (สะ-สัน-ยี) = มีความรู้สึกตัว, ยังรู้สึกตัวอยู่
(2) sacetana สเจตน (สะ-เจ-ตะ-นะ) = มีใจคิด, ยังมีความรู้สึกนึกคิด
(3) saviññāṇaka สวิญฺญาณก (สะ-วิน-ยา-นะ-กะ) = สิ่งที่มีใจครอง
ประมวลความตามพจนานุกรมที่ยกมา สรุปได้ว่า “จิตสำนึก” หรือ conscious หมายถึง มีความรู้สึกตัว หรือยังรู้สึกตัวอยู่ อาการที่ตรงกันข้ามคือ หมดความรู้สึกตัว หมดสติ หรือสลบ
คนทำผิดทำชั่วทำบาป ประสาทสัมผัสยังรับรู้ได้ทุกอย่าง เช่นตายังเห็น หูยังได้ยิน ยังรู้ตัวด้วยซ้ำไปว่าตนกำลังทำอะไร ไม่ได้สลบ ไม่ได้หมดสติ ว่ากันตามความหมายตามพจนนุกรมที่ยกมา เขาก็ยังมี “จิตสำนึก” ครบถ้วน
แต่สิ่งที่ขาดไปก็คือ ความสำนึกถึงผิดชอบชั่วดีบาปบุญคุณโทษ
ความหมายตามพจนนุกรมที่ยกมา จะเห็นได้ว่า “จิตสำนึก” ไม่ได้แปลว่า ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี ความรู้ว่าอะไรถูกอะไรผิด อะไรควรอะไรไม่ควร แล้วเว้นการควรเว้น ประพฤติการควรประพฤติ
เวลานี้มีคนใช้คำว่า “จิตสำนึก” ในความหมายว่า “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี” ซึ่งไม่ใช่ความหมายตามพจนานุกรม
บาลีมีคำว่า “วิญฺญุตา” ซึ่งน่าจะมีความหมายตรงกับ “ความรู้สึกผิดชอบชั่วดี”
“วิญฺญุตา” (วิน-ยุ-ตา) มาจาก วิญฺญู + ตา ปัจจัย
“วิญฺญู” แปลว่า ผู้รู้แจ้ง, นักปราชญ์ เป็นคำเดียวกับที่เราใช้ในภาษาไทยว่า “วิญญูชน” (บุคคลผู้รู้ผิดรู้ชอบตามปรกติ)
วิญฺญู + ตา ปัจจัย รัสสะ อู ที่ (วิญฺ)-ญู เป็น อุ
: วิญฺญู + ตา = วิญฺญูตา > วิญฺญุตา แปลว่า “ความเป็นผู้รู้ผิดรู้ชอบ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิญฺญุตา” ว่า discretion (ดุลยพินิจ, ความยั้งคิด)
เสริมความ :
คำว่า “วิญฺญุตา” ยังสอดคล้องกับ “-ญุตา” อีก 7 คำใน “สัปปุริสธรรม” คือคุณสมบัติของคนดี 7 ประการ คือ:
(1) ธัมมัญญุตา = ความรู้จักเหตุ (knowing the law; knowing the cause)
(2) อัตถัญญุตา = ความรู้จักผล (knowing the meaning; knowing the purpose; knowing the consequence)
(3) อัตตัญญุตา = ความรู้จักตน (knowing oneself)
(4) มัตตัญญุตา = ความรู้จักประมาณ (moderation; knowing how to be temperate; sense of proportion)
(5) กาลัญญุตา = ความรู้จักกาล (knowing the proper time; knowing how to choose and keep time)
(6) ปริสัญญุตา = ความรู้จักชุมชน (knowing the assembly; knowing the society)
(7) ปุคคลัญญุตา = ความรู้จักบุคคล (knowing the individual; knowing the different individuals)
จำสั้นๆ: ความรู้จักเหตุ-ผล-ตน-ประมาณ-กาล-ชุมชน-บุคคล
…………..
“วิญฺญุตา” = “ความเป็นผู้รู้ผิดรู้ชอบ” ถ้าจะใช้คำไทยล้อคำว่า “จิตสำนึก” ก็น่าจะใช้คำว่า “ความสำนึก”
“จิตสำนึก” (conscious) = ประสาทสัมผัสยังทำงานได้ ยังรู้สึกตัว ยังไม่สลบ แต่อาจไม่มีความรู้สึกผิดชอบชั่วดี
“ความสำนึก” (discretion) = ความรู้สึกผิดชอบชั่วดียังทำงานได้ ยังรู้จักยั้งคิดว่าอะไรผิดอะไรถูก ยังสามารถเลือกทำสิ่งที่ถูก ไม่ทำสิ่งที่ผิด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “สำนึกผิด” บอกความหมายไว้ว่า –
“สำนึกผิด : (คำกริยา) รู้สึกตระหนักในความผิดที่ได้ทำไป เช่น ผู้ร้ายสำนึกผิดจึงได้สารภาพ, บางทีก็ใช้ว่า สำนึก เช่น ทำผิดถูกลงโทษแล้วยังไม่สำนึกอีก.”
“สำนึกผิด” = ทำลงไปแล้วจึงสำนึก
“ความสำนึก” = สำนึกได้ก่อนทำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
ธมฺเมน หีนา ปสุภี สมานา.
: เสื่อมจากธรรม
: คนก็ต่ำเท่ากับสัตว์
#บาลีวันละคำ (2,750)
23-12-62