บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อนาคตของพระศาสนาที่น่าวังเวง

อนาคตของพระศาสนาที่น่าวังเวง

——————————–

นานมาแล้วญาติมิตรท่านหนึ่งเสนอประเด็นเรื่อง-ผู้จบประโยคเก้ากับการศึกษาพระไตรปิฎก ผมขึ้นบัญชีไว้แล้วว่าจะเขียนเรื่องนี้ ตั้งท่าเขียนไปได้หน่อยหนึ่งแล้ว แต่ยังไม่จบ 

หลักของเรื่องก็คือ เรียนพระไตรปิฎกจำเป็นต้องจบประโยคเก้าหรือไม่?

คำตอบก็คือ ไม่จำเป็น

ฝรั่งที่เรียนบาลีแล้วศึกษาพระไตรปิฎกจนแตกฉาน จนทำพจนานุกรมบาลีออกมาได้อย่างสมบูรณ์ล้ำหน้าคนไทย ไม่มีใครจบประโยคเก้าสักคน แต่ทุกคนเรียนรู้ภาษาบาลีอย่างลึกซึ้ง

จึงได้หลักว่า-จะศึกษาพระไตรปิฎกต้องมีความรู้ภาษาบาลี 

แล้วผู้จบประโยคเก้าล่ะ จำเป็นต้องศึกษาพระไตรปิฎกหรือไม่?

คำตอบก็คือ จำเป็น และจำเป็นอย่างยิ่งด้วย

เพราะเรียนบาลีเป้าหมายคือเอาไปเป็นเครื่องมือในการศึกษาพระไตรปิฎก 

จบประโยคเก้า แต่ไม่ศึกษาพระไตรปิฎก นั่นคือเบี่ยงเบน 

………………..

คนที่จะช่วยเหลือผู้ป่วย ต้องจบหมอทุกคนหรือไม่ 

ไม่ใช่เลย ไม่ต้องเป็นหมอก็ช่วยเหลือผู้ป่วยได้ ถ้ารู้วิธีช่วย

เพราะรู้วิธีช่วยเหลือผู้ป่วยให้รอดตายหายป่วยนั่นแหละ เขาจึงเป็นหมอ 

แต่คนที่เรียนเพื่อเป็นหมอ จบหมอแล้ว ถ้าไม่ช่วยรักษาผู้ป่วย นั่นคือเบี่ยงเบน 

………………..

เรื่องนี้ผมพูดมานานแล้ว แต่ไม่มีใครฟัง 

ซึ่งก็เป็นเรื่องธรรมดา เพราะผมไม่ใช่คนสำคัญที่พูดอะไรไปคนจะต้องฟัง 

แต่ถ้าเรื่องนี้แม่กองบาลีพูด อาจจะมีคนฟัง เพราะพระคุณท่านเป็นผู้รับผิดชอบการสอบบาลีของคณะสงฆ์ 

แล้วเรื่องเรื่องเดียวกันนี่แหละ ถ้าสมเด็จพระสังฆราชตรัสออกมา เป็นเรื่องใหญ่ขึ้นมาทันที 

ยิ่งถ้าคนสำคัญของบ้านเมืองพูด-เรื่องเดียวกันนี่แหละ-คราวนี้วิ่งกันหัวซุกหัวซุกหัวซุนทีเดียวแหละ

สังคมเราเป็นกันอย่างนี้ 

who สำคัญกว่า what หรือ how 

ยิ่งในระบบราชการด้วยแล้ว นายสำคัญที่สุด 

ถ้านายคิดหรือเป็นความต้องการของนาย ดีหรือไม่ดีเลิกพูด 

บางทีผิดหรือถูกก็เลิกพูดด้วย

แต่ถ้าไม่ใช่นาย เรื่องที่คิดจะดีขนาดไหน – ขอประทานโทษ – ไม่มีหน้าที่ กรุณาอย่าสะเออะ

เราจึงทิ้งความคิดดีๆ ไปเสียเยอะ เพียงเพราะผู้คิดเป็นคนโนเนม 

และเพราะเหตุนี้กระมัง คนเราจึงอยากมีอำนาจ อยากได้อำนาจ 

เพราะมีอำนาจ เอ่ยปากอะไร คนก็วิ่งกันหัวซุกหัวซุกหัวซุนสนองความต้องการ 

แล้วก็ร้อยละร้อยของคนมีอำนาจ ใช้อำนาจไปเพื่อสนองความต้องการของตัวเอง 

และความต้องการของตัวเอง-แทบทั้งหมด-เป็นไปเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้อง 

ที่จะคิดถึงประโยชน์ส่วนรวมหรือประโยชน์ของบ้านเมืองนั้นมีน้อยอย่างยิ่ง 

ได้อำนาจกันมากี่รุ่นต่อกี่รุ่น ก็เป็นอย่างนี้เหมือนกันหมด 

ที่เราไม่ค่อยคิดกันก็คือ ความต้องการประโยชน์ส่วนตัวหรือความเห็นแก่ตัวนั้น สามารถฝึกหัดขัดเกลากันได้ 

ฝึกหัดอบรมสั่งสอนให้ลด ละ เลิก ทำได้ 

ฝึกหัดอบบรมสั่งสอนให้เห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม ก็ทำได้ 

แต่เราก็ไม่ได้สนใจที่จะฝึกหัดอบบรมสั่งสอนกัน โดยเฉพาะลูกหลานของเราที่จะเติบโตขึ้นมามีอำนาจต่อจากคนรุ่นเรา

เรามีแต่ส่งเสริมให้เขาทะยานอยาก 

แต่ที่จะให้รู้จักควบคุมตนเองนั้นไม่ได้สอน 

………………..

พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาที่สอนวิธีฝึกหัดขัดเกลาควบคุมตนเอง

เรารับเอาพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติมาช้านาน ควรได้ประโยชน์จากพระพุทธศาสนาอย่างเต็มที่ 

ก็ได้อยู่ ไม่ใช่ว่าไม่ได้ 

แต่ยิ่งนานไปก็ยิ่งเบี่ยงเบน 

จากศาสนาแห่งปัญญา เราก็ทำให้เบี่ยงเบนเป็นศาสนาแห่งพิธีกรรม

การเรียนบาลีเป็นเรื่องหนึ่งที่เบี่ยงเบน 

จากเรียนบาลีเพื่อศึกษาพระไตรปิฎก ก็เบี่ยงเบนไปเป็นเรียนเพื่อสอบได้ เพื่อเป็นเกียรติ 

แต่พร้อมกันนั้นก็มีสิ่งที่น่าสังเกต นั่นคือ คนที่สนใจศึกษาพระไตรปิฎก-แต่ไม่ได้เรียนบาลี มีมากขึ้น 

สนใจปฏิบัติธรรม สนใจศึกษาธรรมะ แต่ไม่มีความรู้ทางบาลี 

ส่วนผู้ที่เรียนบาลี ก็เรียนด้วยความมุ่งหมายอย่างอื่น แต่มิใช่มุ่งศึกษาพระไตรปิฎก 

นี่คือสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในสังคมบ้านเรา 

………………..

ที่พูดมาทั้งหมดนี้ ถ้าเอาหลักอริยสัจตั้งเป็นเกณฑ์ ก็เป็นแค่ (๑) ทุกข์-สาธยายถึงปัญหา 

ยังไม่ได้พูดถึง (๒) สมุทัย-สาเหตุของปัญหา 

ยังไม่ได้พูดถึง (๓) นิโรธ-ความดับทุกข์ คือเป้าหมายที่พึงประสงค์ 

และส่วนที่สำคัญที่สุด (๔) มรรค-หนทางปฏิบัติเพื่อแก้ปัญหา ก็ยังไม่ได้เอ่ยถึงเลยสักคำ

………………..

ผมได้ข้อยุติส่วนตัวมานานแล้วว่า อย่ามัวแต่เรียกร้องให้ใครทำอะไรเพียงอย่างเดียว แต่จงลงมือทำด้วยตัวเอง 

อะไรที่ทำได้ ลงมือทำไป 

ไม่ต้องรอใคร 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การค้นคว้าศึกษาเรียนรู้ ต้องทำตลอดเวลา 

บอกกล่าว เผยแพร่ เผยแผ่ ทำทุกโอกาสที่ทำได้ 

หาโอกาสทำ ไม่รอให้โอกาสวิ่งมาหาท่าเดียว 

และที่สำคัญที่สุด – ลงมือปฏิบัติด้วยตัวเอง ไม่ใช่พูดแต่ปาก 

ไม่ใช่เรียนเพื่อรู้ 

รู้เพื่อพูด

พูดแต่ไม่ทำ 

วิธีนี้ทำให้วันคืนไม่ได้ล่วงเลยไปเปล่าๆ 

เก็บบุญใส่ย่ามได้ทุกวัน มากหรือน้อยก็ได้ทุกวัน 

พร้อมกันนั้นก็ไม่ได้ละเลยเพิกเฉย 

กระตุก กระตุ้น กระทุ้ง กระแทกอะไรได้ ก็ทำไปด้วย เป็นการบอกเพื่อนร่วมชะตากรรมว่า ทำอะไรได้ก็จงเร่งทำเข้าเถิด 

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่านที่มีตำแหน่งมีหน้าที่ 

ผมเข้าใจดีถึงธรรมชาติของระบบการปกครองบังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นระบบราชการหรือคณะสงฆ์ — 

ทุกอย่างแล้วแต่นาย 

ทุกอย่างแล้วแต่คนนั่งหัวโต๊ะ

แต่ผมก็ยังอยากที่จะเสนอแนวคิดเพื่อเป็นกำลังใจว่า-เราควรช่วยกันเริ่มสร้างวัฒนธรรมใหม่ 

งานมีอยู่ ๓ งบ คือ – 

๑ งานประจำ

๒ งานที่นายสั่ง

๓ งานที่เราคิดแล้วเสนอขึ้นไป หรือทำในกรอบอำนาจของเรา

งานประจำ – คืองานที่ทำกันมา ถึงเวลาก็ทำกันไป ไม่ดีขึ้น ไม่เลวลง แต่นานไปก็จะค่อยๆ เรียวลง เสื่อมลง งานงบนี้มีมากที่สุด

งานที่นายสั่ง – งานงบนี้มีน้อยที่สุด มีเป็นครั้งคราว

งานที่เราคิดแล้วเสนอขึ้นไป – งานงบนี้เป็นศูนย์ คือไม่มีใครคิดจะทำ

ธรรมชาติของคนมีนายคือ ไม่คิดอะไรเอง ทุกอย่างรอให้นายสั่ง 

เจ้าคณะพระสังฆาธิการของเรา ตั้งแต่กรรมการมหาเถรสมาคมจนถึงเจ้าอาวาสรูปสุดท้าย ตกอยู่ในธรรมชาติข้อนี้ 

ถ้าคนนั่งหัวโต๊ะไม่สั่งอะไร ทุกท่านก็จะนั่งทับตำแหน่งนิ่งๆ ไม่ขยับตัวทำอะไรทั้งสิ้น-แม้จะมีความคิด แม้จะเห็นว่าควรทำเพียงไรก็ตาม

………………..

ตอนตั้งกรรมการมหาเถรสมาคมชุดใหม่ มีกระแสคึกคักอยู่พักสั้นๆ หลายๆ ฝ่ายชื่นชมยินดี ผมเองก็พลอยชื่นชมยินดี อนุโมทนาสาธุการ 

และแอบมีความหวังว่า การพระศาสนาคงจะขยับตัวไปข้างหน้าได้บ้าง 

พอกระแสคึกคักสงบ ทุกอย่างก็เงียบสงัด 

และทุกอย่างก็ยังคงนิ่งเหมือนเดิม 

ผมไม่อยากเห็นการเป็นกรรมการมหาเถรสมาคมมีความหมายเพียงแค่-เป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูลเท่านั้นเอง 

แนวคิดที่ผมขอเสนอก็คือ ขอได้โปรดมีความกล้าที่จะทำงานในงบที่ ๓ กันบ้างเถิด 

ถ้ายังคิดอะไรไม่ออก ลองจับที่งาน-ปฏิรูปการเรียนบาลีกันเสียใหม่ก็ได้นะขอรับ 

ชูประเด็นหลัก — 

…………………………………………….

ใครยังจะเรียนบาลีเพื่อสอบได้ประโยคเก้าเป็นเกียรติยศแก่วงศ์ตระกูล ก็เรียนไป

แต่คณะสงฆ์ไทยส่งเสริมการเรียนบาลีเพื่อศึกษาพระไตรปิฎก

…………………………………………….

นี่เป็นการประกาศนโยบายรักษาพระศาสนาไปในตัว 

ศึกษาพระไตรปิฎกก็คือศึกษาพระธรรมวินัย

ศึกษาพระธรรมวินัยก็คือศึกษาตัวพระศาสนา

พระเถระรูปหนึ่งท่านกล่าวว่า-เรื่องเรียนบาลี เรื่องศึกษาพระไตรปิฎกนี่ ต้องแล้วแต่ศรัทธาของแต่ละคน บังคับกันไม่ได้ 

ถ้าเราฝากอนาคตของพระศาสนาไว้ในมือของท่านที่คิดเช่นนี้ 

อนาคตของพระศาสนาก็น่าวังเวงพิลึก

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๒

๑๕:๕๗

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *