บาลีวันละคำ

อิทธิปาฏิหาริย์ (บาลีวันละคำ 2,753)

อิทธิปาฏิหาริย์

บันดาลให้รอดมิได้

อ่านว่า อิด-ทิ-ปา-ติ-หาน

ประกอบด้วยคำว่า อิทธิ + ปาฏิหาริย์

(๑) “อิทธิ

บาลีเขียน “อิทฺธิ” (มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า อิด-ทิ รากศัพท์มาจาก อิธฺ (ธาตุ = เจริญ) + อิ ปัจจัย, ซ้อน ทฺ หลัง อิ ต้นธาตุ

: อิธ > (อิ + ทฺ) อิทฺธ + อิ = อิทฺธิ แปลตามศัพท์ว่า “เหตุเป็นเครื่องเจริญ

ความหมายสามัญที่เข้าใจกัน “อิทฺธิ” หมายถึง ความสำเร็จ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แสดงทัศนะต่อคำว่า “อิทฺธิ” ไว้ว่า –

There is no single word in English for Iddhi, as the idea is unknown in Europe. The main sense seems to be ʻ potency ʼ

ไม่มีคำในภาษาอังกฤษที่ให้ความหมายของคำว่า อิทฺธิ ได้ชัดเจนแม้สักคำเดียว, ความคิดเช่นนี้ไม่เป็นที่รู้จักในยุโรป. ความหมายหลักดูเหมือนจะเป็น potency อานุภาพหรืออำนาจ

แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็แปลไว้คำหนึ่งว่า psychic powers (ฤทธิ์ทางใจ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แปล “อิทธิ” เป็นอังกฤษว่า : success; supernormal power; psychic power; magical power.”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิทธิ : (คำนาม) ฤทธิ์, อํานาจศักดิ์สิทธิ์; ความเจริญ, ความสําเร็จ, ความงอกงาม. (ป.; ส. ฤทฺธิ)”

ขยายความ :

อิทฺธิ” ในภาษาบาลี โดยเฉพาะที่สรุปได้จากคัมภีร์ มีความหมายดังนี้ –

(1) ความสมบูรณ์พรั่งพร้อมสมกับตำแหน่งฐานะ

(2) ความสามารถทำสิ่งใดๆ ได้ตามที่ผู้อยู่ในฐานะนั้นๆ จะพึงทำได้

(3) ความสามารถเหนือวิสัยสามัญอันเกิดจากการอบรมจิตถึงระดับ เช่น หูทิพย์ ตาทิพย์ เหาะได้ (โดยไม่ต้องใช้เครื่องช่วยใดๆ)

(4) การฝึกฝนอบรมให้มีคุณธรรมอันจะสามารถทำสิ่งใดๆ ให้สำเร็จได้ตามปรารถนา

(๒) “ปาฏิหาริย์

บาลีเป็น “ปาฏิหาริย” อ่านว่า ปา-ติ-หา-ริ-ยะ (มีรูปคำอื่นๆ อีกด้วย) รากศัพท์มาจาก

(1) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + หิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), แปลง หิ เป็น หาริย

: ปฏิ + หิ = ปฏิหิ + = ปฏิหิณ > ปาฏิหิณ > ปาฏิหิ > ปาฏิหาริย แปลตามศัพ์ว่า “พลังที่เป็นไปในปฏิปักษ์คือฝ่ายตรงข้าม

(2) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), ทีฆะ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) (ภาษาไวยากรณ์ว่า “อะ ต้นธาตุ”) เป็น อา (หรฺ > หาร), ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (หรฺ > หาร + อิ + ณฺย > )

: ปฏิ + หรฺ = ปฏิหรฺ + อิ + ณฺย = ปฏิหริณฺย > ปาฏิหริณฺย > ปาฏิหาริณฺย > ปาฏิหาริย แปลตามศัพ์ว่า (1) “พลังที่นำไปเสียซึ่งปฏิปักษ์” (คือสามารถกำจัดปรปักษ์ได้) (2) “พลังอันผู้เสร็จกิจแล้วในเพราะจิตตั้งมั่นและปราศจากอุปกิเลสแล้วนำให้เป็นไปเฉพาะ” (คือเมื่อจิตตั้งมั่นถึงระดับแล้วพลังชนิดนี้จะเกิดขึ้นและแสดงออกมาได้ตามที่ต้องการ)

โปรดสังเกตว่า “ปาฏิหาริย” มักใช้ต่อเมื่อมี “ปฏิปักษ์” คือฝ่ายตรงข้าม หรือมีอีกฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นเท่านั้น

ปาฏิหาริย” ใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งอัศจรรย์, เรื่องเหลือเชื่อเหนือความคาดหมาย (wonder, miracle) ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง ประหลาด, อัศจรรย์, วิสามัญ, พิเศษ (striking, surprising, extraordinary, special)

ปาฏิหาริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปาฏิหาริย์” (ปา-ติหาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฏิหาริย์ : (คำนาม) สิ่งที่น่าอัศจรรย์, ความอัศจรรย์, มี ๓ อย่าง คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ = ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ = การดักใจเป็นอัศจรรย์ หมายถึง การดักใจทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ = การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์. (ปาก) ก. กระทำสิ่งที่ตามปรกติทำไม่ได้ เช่น ปาฏิหาริย์ขึ้นไปอยู่บนหลังคา. (ป.; ส. ปฺราติหารฺย).”

อิทฺธิ + ปาฏิหาริย = อิทฺธิปาฏิหาริย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อิทฺธิปาฏิหาริย” ว่า a wonder of psychic power (สิ่งมหัศจรรย์อันเกิดขึ้นจากอิทธิฤทธิ์ หรืออำนาจจิตนอกเหนือกฎธรรมชาติ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อิทฺธิปาฏิหาริย” เป็นอังกฤษว่า marvel of psychic power

อิทฺธิปาฏิหาริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น อิทธิปาฏิหาริย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิทธิปาฏิหาริย์ : (คำนาม) ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์, เป็นปาฏิหาริย์อย่าง ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓ ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์. (ป.).”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อิทธิปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์คือฤทธิ์, แสดงฤทธิ์ได้เป็นอัศจรรย์ เช่น ล่องหน ดำดิน เหาะได้ เป็นต้น (ข้อ ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

น  อนฺตลิกฺเข  น  สมุทฺทมชฺเฌ

น  ปพฺพตานํ  วิวรํ  ปวิสฺส

น  วิชฺชเต  โส  ชคติปฺปเทโส

ยตฺรฏฺฐิตํ  นปฺปสเหยฺย  มจฺจุ.

เหาะไปกลางอากาศได้ ก็ไม่พ้น

ดำด้นไปอยู่กลางสมุทรได้ ก็ไม่รอด

ดอดเข้าไปใต้ภูเขาเข้าถ้ำ ก็ไม่มี

สถานที่อันมฤตยูจะไม่ย่ำยีนั้นบมิได้มีเลย

ที่มา: ปาปวรรค ธรรมบท ๒๕/๑๙

ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕ สุปปพุทธสักกวัตฺถุ (๑๐๖)

#บาลีวันละคำ (2,753)

26-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *