บาลีวันละคำ

ดาบส (บาลีวันละคำ 2,754)

ดาบส

คุ้นหน้า แต่อาจไม่รู้จัก

อ่านว่า ดา-บด

ดาบส” บาลีเป็น “ตาปส” อ่านว่า ตา-ปะ-สะ รากศัพท์มาจาก ตป + สณฺ ปัจจัย

(ก) “ตป

ตบะ” บาลีเป็น “ตป” อ่านว่า ตะ-ปะ รากศัพท์มาจาก ตปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ร้อน) + ปัจจัย

: ตปฺ + = ตป (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การทำให้กายเดือดร้อน” (2) “ธรรมที่เผาบาป” (3) “ธรรมที่ยังกิเลสให้ร้อน” (4) “ข้อปฏิบัติที่ยังตนและผู้อื่นให้เดือดร้อนในนรก” (ความหมายข้อนี้เป็นทัศนะของพระพุทธศาสนาที่มองการบำเพ็ญตบะแบบผิดๆ ของเจ้าลัทธิต่างๆ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตป” ว่า –

(1) torment, punishment, penance, esp. religious austerity, self-chastisement, ascetic practice (การทรมาน, การลงโทษ, การทรมานตน, โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทรมานตนทางศาสนา, การลงโทษตัวเอง, การปฏิบัติของนักพรต)

(2) mental devotion, self-control, abstinence, practice of morality (การภาวนาทางใจ, การควบคุมตัวเอง, การละเว้น, การปฏิบัติศีลธรรม)

ตป” หมายถึงอะไรได้บ้าง ขึ้นอยู่กับบริบท :

1 การเรียนพระพุทธพจน์ ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความเห็นผิด

2 ความอดทนอดกลั้น ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความผลุนผลัน

3 ศีล ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความมือไวใจเร็ว

4 ธุดงค์ (การขัดเกลาตนเองให้ต้องการแต่น้อย) ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความละโมบ

5 การสำรวมอินทรีย์ (ควบคุมอารมณ์ชอบ-ชัง) ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาการจ้องจะเอาและความขุ่นใจ

6 วิริยะ (ความเพียร) ก็ชื่อว่าตบะ เพราะเผาความเกียจคร้าน

บาลี “ตป” รูปหนึ่งของสันสกฤตก็เป็น “ตป

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ตป : (คำนาม) ‘ตะบะ,’ ฤดูร้อน; ความร้อน; แดด, อาทิตย์; summer, the hot season; heat; the sun.”

ตป” ในภาษาไทยใช้ว่า “ตบะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตบะ : (คำนาม) พิธีข่มกิเลสโดยทรมานตัว เช่น ฤๅษีบำเพ็ญตบะ; การบำเพ็ญเพื่อให้กิเลสเบาบางหรือการข่มกิเลส, ธรรมข้อที่ ๖ ในทศพิธราชธรรม. (ดู ทศพิธราชธรรม). (ป., ส. ตป ว่า ความเพียรเครื่องเผาผลาญกิเลส).”

(ข) ตป + สณฺ ปัจจัย, ลบ (สณฺ > ), ทีฆะต้นศัพท์ “ด้วยอำนาจปัจจัยเนื่องด้วย ” คือ อะ -(ป) เป็น อา (ตป > ตาป)

: ตป + สณฺ = ตปสณฺ > ตปส > ตาปส (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยตบะคือความเพียรเผากิเลส” หมายถึง ผู้บำเพ็ญตบะ, นักพรต (one who practises tapas, an ascetic)

ตาปส” ในภาษาไทยใช้เป็น “ดาบส” (ดา-บด)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดาบส : (คำนาม) ผู้บำเพ็ญตบะคือการเผากิเลส, ฤษี, ในบทกลอนใช้ว่า ดาวบส ก็มี เช่น ไปแต่งองค์ทรงไม้เท้าของดาวบส (อภัย). (ป., ส. ตาปส).”

ขยายความ :

บุคคลที่เรียกว่า “ดาบส” ในภาษาไทยยังมีคำเรียกอย่างอื่นอีก เช่น ฤษี หรือฤๅษี มุนี นักสิทธิ์ สิทธาจารย์ คำไทยๆ เรียก ชีไพร หรือชีป่า ลักษณะที่ตรงกันของบุคคลจำพวกนี้คือ ถือพรหมจรรย์ ไม่มีคู่ครอง ออกจากบ้านเรือนไปอยู่ป่า บำเพ็ญพรตเพื่อบรรลุความสำเร็จตามความเชื่อของตนตามคติชีวิตที่ชาวชมพูทวีปประพฤติกัน

ดาบส” เป็นคำที่คุ้นกันดีในสังคมไทย เพราะมักจะปรากฏตัวในนิยายนิทานประเภท “จักรๆ วงศ์ๆ” ที่นิยมอ่านและเล่าขานกันทั่วไป

ดาบส” ถ้าเป็นเพศหญิงเรียก “ดาบสินี” คำนี้ถ้าอ่านแบบไม่รู้ที่มาและเท่าที่ตาเห็น คงมีคนอ่านว่า ดาบ-สิ-นี แต่พจนานุกรมฯ ท่านกำหนดให้อ่านว่า ดา-บด-สิ-นี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ดาบสินี : (คำนาม) หญิงผู้บำเพ็ญตบะคือการเผากิเลส. (ป. ตาปสินี; ส. ตปสินี).”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ตบะเป็นเครื่องพิสูจน์ความเป็นดาบส

: แต่เห็นคนแบกกลด อย่าเพิ่งเชื่อว่าเป็นพระธุดงค์ตัวจริง


ภาพประกอบ: ด้วยความเมตตาของพระคุณท่าน ดร.พระมหาสุนันท์ รุจิเวทย์

#บาลีวันละคำ (2,754)

27-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *