ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ (บาลีวันละคำ 1,823)
ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ
อุดมการณ์ของสื่อ
อ่านว่า ปัก-คัน-เห ปัก-คะ-หา-ระ-หัง
ประกอบคำบาลี 2 คำ คือ “ปคฺคณฺเห” และ “ปคฺคหารหํ”
(๑) “ปคฺคณฺเห”
อ่านว่า ปัก-คัน-เห เป็นคำกริยา ปฐมบุรุษ เอกพจน์ ประกอบด้วย ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก), ซ้อน คฺ + คหฺ (ธาตุ = ถือ, จับ, ยึด) + ณฺหา ปัจจัยประจำหมวดธาตุ, ลบ อา ที่ (ณฺ)-หา (ณฺหา > ณฺห) + เอยฺย วิภัตติอาขยาต, แปลง เอยฺย เป็น เอ (นัยหนึ่งว่าลบ –ยฺย : เอยฺย > เอ)
: ป + คฺ + คหฺ = ปคฺคหฺ + ณฺหา = ปคฺคณฺหา > ปคฺคณฺห + เอยฺย = ปคฺคณฺเหยฺย > ปคฺคณฺเห แปลตามศัพท์ว่า “พึงถือไว้ข้างหน้า” หมายถึง รับเอามา, เอาใจใส่, ชอบ, ยกย่อง, สนับสนุน, ผูกมิตร (take up, take care of, favour, support, befriend)
(๒) “ปคฺคหารหํ”
อ่านว่า ปัก-คะ-หา-ระ-หัง เป็นคำนาม ประกอบด้วย ปคฺคห + อรห (สมควร)
(ก) “ปคฺคห” รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก), ซ้อน คฺ + คหฺ (ธาตุ = ถือ, จับ, ยึด) + อ ปัจจัย
: ป + คฺ + คหฺ = ปคฺคห + อ = ปคฺคห แปลตามศัพท์ว่า “การถือไว้ข้างหน้า”
“ปคฺคห” (ปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ความเพียร, ความพยายาม (exertion, energy)
(2) ความเอื้อเฟื้อ, ความกรุณา, การให้ความอุปถัมภ์ (favour, kindness, patronage)
(ข) ปคฺคห + อรห = ปคฺคหารห แปลตามศัพท์ว่า “ควรแก่การถือไว้ข้างหน้า” หมายถึง คู่ควรแก่การยกย่อง
“ปคฺคหารห” ประกอบวิภัตตินามเป็น “ปคฺคหารหํ” (ปัก-คะ-หา-ระ-หัง)
“ปคฺคณฺเห” รวมกับ “ปคฺคหารหํ” เป็นรูปประโยคว่า “ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” แปลว่า “พึงยกย่องผู้ที่ควรแก่การยกย่อง”
“ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ” เป็นคาถา (คำฉันท์หรือคำกลอนในภาษาบาลี) หนึ่งวรรคหรือหนึ่งบาท คู่กับคาถาอีกหนึ่งบาทว่า “นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ” (นิก-คัน-เห นิก-คะ-หา-ระ-หัง) กล่าวรวมกันว่า –
นิคฺคณฺเห นิคฺคหารหํ
ปคฺคณฺเห ปคฺคหารหํ
เป็นข้อความตอนหนึ่งในคัมภีร์ชาดก ชื่อ “เตสกุณชาดก” (พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 2442) แปลเป็นไทยว่า “พึงข่มผู้ที่ควรข่ม พึงยกย่องผู้ที่ควรยกย่อง”
คำกลอนหรือคาถา 2 วรรคนี้เป็นที่รู้จักกันแพร่หลายเมื่อผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์สยามรัฐรายวันนำมาเป็นคำขวัญของหนังสือพิมพ์ฉบับนั้นตั้งแต่ พ.ศ.2493
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สังคมใด ยกผู้ที่ไม่ควรชม ข่มผู้ที่ไม่ควรชัง
: สังคมนั้น มักจะพังเป็นธรรมดา
5-6-60