กมลาสริสิตถิโย (บาลีวันละคำ 2,755)
กมลาสริสิตถิโย
คืออะไร แยกศัพท์อย่างไร แปลอย่างไร
“กมลาสริสิตถิโย” เป็นคำบาลี เขียนแบบบาลี อ่านว่า กะ-มะ-ลา-สะ-ริ-สิด-ถิ-โย
มีปัญหาว่า คำนี้แยกศัพท์อย่างไร
ขอขยายความก่อนเพื่อปูพื้นความเข้าใจ
มีชาดกเรื่องหนึ่งในพระไตรปิฎก ชื่อ “อลัมพุสาชาดก” เรื่องย่อๆ มีว่า ดาบสตนหนึ่งประพฤติพรตอยู่ในป่าหิมพานต์ ยังมีแม่เนื้อตัวหนึ่งมาเที่ยวหากินใกล้อาศรมบท ได้กินหญ้าที่เปื้อนน้ำปัสสาวะของดาบสแล้วเกิดตั้งท้อง คลอดลูกเป็นมนุษย์ผู้ชาย ดาบสเลี้ยงไว้ พอโตรู้เดียงสาก็ให้ถือเพศเป็นดาบส สอนให้บำเพ็ญฌาน ดาบสผู้บิดาเมื่อชราก็มรณภาพไปเกิดในพรหมโลก
ดาบสน้อยค่อยเป็นหนุ่มขึ้น มีฌานกล้าจนร้อนถึงเมืองสวรรค์ พระอินทร์ส่งเทพธิดาตนหนึ่งลงมาทำลายตบะ เทพธิดาทำให้ดาบสหนุ่มหลงใหลลืมสติอยู่ถึง 3 ปีจึงรู้สึกตัว ระลึกได้ว่าดาบสผู้บิดาเคยพาไปดูต้นนารีผลแล้วสอนให้ระวังตัวอย่าตกอยู่ในอำนาจสตรี พอระลึกได้ก็ตั้งสติกลับบำเพ็ญฌานขึ้นใหม่ได้เหมือนเดิม เทพธิดาเล่าความจริงให้ฟังแล้วขอขมาโทษกลับคืนสู่สวรรค์
คำว่า “กมลาสริสิตถิโย” เป็นวรรคหนึ่งในคาถา (คาถา = คำร้อยกรองในภาษาบาลี) ตอนที่ดาบสหนุ่มรำพึงถึงคำสอนของบิดา ข้อความเต็มๆ มีดังนี้ –
…………..
อิมานิ กิร มํ ตาโต
กสฺสโป อนุสาสติ
กมลาสริสิตฺถิโย
ตาโย พุชฺเฌสิ มาณว.
(อิมานิ กิระ มัง ตาโต
กัสสะโป อะนุสาสะติ
กะมะลาสะริสิตฺถิโย
ตาโย พุชเฌสิ มาณะวะ.)
คำแปล –
เดิมทีท่านกัสสปะผู้บิดา
ได้พร่ำสอนเราถึงสิ่งเหล่านี้ว่า –
พ่อหนุ่มเอ๋ย สตรีอันเสมอด้วยนารีผลมีอยู่
เจ้าจงรู้ทันสตรีเหล่านั้นไว้เถิด
ที่มา: อลัมพุสาชาดก จัตตาฬีสนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 27 ข้อ 2490
…………..
“กมลาสริสิตถิโย” แยกศัพท์เป็น กมลา + สริส + อิตฺถิโย
(๑) “กมลา” (กะ-มะ-ลา)
ตามศัพท์ควรจะแปลว่า ดอกบัว แต่ในที่นี้อรรถกถาอธิบายว่าเป็นชื่อเรียก “นารีผล” (กมลา วุจฺจติ นารีผลกา)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของคำว่า “นารีผล” ไว้ว่า –
“นารีผล : (คำนาม) ผลของต้นมักกะลี ต้นไม้ในวรรณคดี ลักษณะคล้ายหญิงวัยรุ่น เช่น ถัดนั้นไปมีป่าไม้นารีผล แลว่าลูกไม้นั้นงามนัก ดั่งสาวอันพึงใหญ่ได้ ๑๖ ปีแล ฝูงผู้ชายได้เห็นก็มีใจรักนัก ครั้นว่าหล่นตกลง ฝูงนกกลุ้มกินดั่งหมีกินผึ้ง (ไตรภูมิ).”
และที่คำว่า “มักกะลีผล” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –
“มักกะลีผล : (คำโบราณ) (คำนาม) ชื่อต้นไม้ในนิยาย ว่ามีอยู่ที่ป่าหิมพานต์ ออกผลเป็นรูปหญิงสาวงดงามห้อยย้อยเป็นระย้า ผลเมื่อครบ ๗ วันก็เน่า, นารีผล ก็เรียก.”
สรุปว่า “นารีผล” หรือ “มักกะลีผล” ในชาดกเรื่องนี้ท่านเรียก “กมลา”
(๒) “สริส” (สะ-ริ-สะ)
คำนี้นักเรียนบาลีน่าจะไม่คุ้นหรือไม่เคยเห็น ในพระไตรปิฎกก็มีปรากฏอยู่แห่งเดียวคือในชาดกเรื่องนี้
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ เก็บศัพท์นี้ไว้ด้วย บอกความหมายว่า like, resembling (คล้าย, เหมือน) และบอกด้วยว่า “สริส” ก็คือ “สทิส” (ดูภาพประกอบ)
พระไตรปิฎกฉบับสยามรัฐมีเชิงอรรถบอกไว้ว่า ศัพท์นี้พระไตรปิฎกฉบับพม่าเป็น “กมลาสทิสิตฺถิโย” ก็คือเป็น “สทิส” ตรงๆ นั่นเอง
“สทิส” แปลว่า เหมือน, คล้าย นักเรียนบาลีนิยมแปลติดปากว่า “เช่นกับ” หรือ “เป็นเช่นกับ” คำที่เราน่าจะคุ้นในภาษาไทยคือ “สาทิส” เช่นในคำว่า พระสาทิสลักษณ์ ก็ออกมาจาก “สทิส” คำนี้
สรุปว่า “สริส” ก็คือ “สทิส”
(๓) “อิตฺถิโย” (อิด-ถิ-โย)
คำนี้ไม่มีปัญหา คนทั่วไปอาจไม่คุ้น แต่นักเรียนบาลีคุ้นกันดี ศัพท์เดิมก็คือ “อิตฺถี” (อิด-ถี) = ผู้หญิง นั่นเอง
“อิตฺถี” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหูพจน์ เปลี่ยนรูปเป็น “อิตฺถิโย” แปลว่า “ผู้หญิงทั้งหลาย”
“กมลาสริสิตถิโย” แปลตามศัพท์ว่า “อันว่าสตรีก็เหมือนนารีผล”
ที่ดาบสผู้บิดาบอกเช่นนี้คงเป็นเพราะดาบสผู้บุตรเกิดในป่า โตในป่า ไม่เคยเห็นผู้หญิง ไม่รู้ว่าผู้หญิงมีรูปรางหน้าตาอย่างไร จึงพาไปที่ต้นนารีผล แล้วชี้ให้ดูพลางบอกว่า “อันว่าสตรีก็เหมือนนารีผล” นี่แหละ เห็นตัวจริงจะได้รู้และจะได้ระวังตัว
แต่ถึงกระนั้น เมื่อเห็นของจริงดาบสหนุ่มก็พลาดท่าจนได้ เพราะตั้งสติไม่ทัน
“กมลาสริสิตถิโย” คืออะไร แยกศัพท์อย่างไร แปลอย่างไร มีอรรถาธิบายดังแสดงมา
คติจากเรื่องนี้คือ เราจะมอง “อิตฺถิโย” = ผู้หญิงทั้งหลาย เป็นประการใดดี?
คติโลก :
สุนทรภู่กล่าวไว้ในเรื่องพระอภัยมณีว่า –
ในเพลงปี่ว่าสามพี่พราหมณ์เอ๋ย
ยังไม่เคยชมชิดพิสมัย
ถึงร้อยรสบุปผาสุมาลัย
จะชื่นใจเหมือนสตรีไม่มีเลย
และกล่าวไว้ในนิราศภูเขาทองว่า –
เหมือนแม่ครัวคั่วแกงพะแนงผัด
สารพัดเพียญชนังเครื่องมังสา
อันพริกไทยใบผักชีเหมือนสีกา
ต้องโรยหน้าเสียสักหน่อยอร่อยใจ
คติธรรม :
เมื่อพรรษาสุดท้ายใกล้จะเสด็จดับขันธปรินิพพาน พระอานนท์ทูลถามพระพุทธองค์ว่า พระสาวกจะพึงปฏิบัติกับสตรีเพศอย่างไรดี?
ในพระไตรปิฎกบันทึกบทสนทนาตอนนี้ไว้ ขอยกมาให้สดับทั้งคำบาลีและคำแปล ดังนี้
…………..
กถํ มยํ ภนฺเต มาตุคาเม ปฏิปชฺชามาติ.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พวกข้าพระองค์จะปฏิบัติอย่างไรกับมาตุคาม
อทสฺสนํ อานนฺทาติ.
อย่าดูอย่ามอง อานนท์
ทสฺสเน ภควา สติ กถํ ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ.
เมื่อจำจะต้องดู จะพึงปฏิบัติอย่างไร
อนาลาโป อานนฺทาติ.
อย่าพูดด้วย อานนท์
อาลปนฺเต ภนฺเต กถํ ปฏิปชฺชิตพฺพนฺติ.
เมื่อจำจะต้องพูด จะพึงปฏิบัติอย่างไร
สติ อานนฺท อุปฏฺฐาเปตพฺพาติ.
พึงตั้งสติไว้ อานนท์
ที่มา: มหาปรินิพพานสูตร ทีฆนิกาย มหาวรรค
พระไตรปิฎกเล่ม 10 ข้อ 132
…………..
ดูก่อนภราดา!
คาถาป้องกันตัวของพระพุทธเจ้า –
: เมื่อต้องเกี่ยวข้องกับสตรีหรือสตังค์
: พึงตั้งสติ
#บาลีวันละคำ (2,755)
28-12-62