นิมมานรดี (บาลีวันละคำ 3,512)
นิมมานรดี
สวรรค์ชั้นที่ห้า
อ่านว่า นิม-มา-นะ-ระ-ดี ก็ได้
อ่านว่า นิม มา นอ ระ ดี ก็ได้
(ตามพจานุกรมฯ)
“นิมมานรดี” บาลีเป็น “นิมฺมานรตี” (มีจุดใต้ มฺ ตัวหน้า) อ่านว่า นิม-มา-นะ-ระ-ตี (ภาษาไทย -ระ-ดี ด เด็ก บาลี -ระ-ตี ต เต่า) แยกศัพท์เป็น นิมฺมาน + รตี
(๑) “นิมฺมาน” อ่านว่า นิม-มา-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มา (ธาตุ = วัด, เนรมิต, สร้าง) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ซ้อน มฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + มฺ + มา)
: นิ + มฺ + มา = นิมฺมา + ยุ > อน = นิมฺมาน แปลตามศัพท์ว่า “การเนรมิต” “สิ่งที่เนรมิตขึ้น” หมายถึง การวัด, การผลิต, การสร้าง, การทำงาน (measuring; production, creation, work)
ในภาษาไทยใช้เป็น “นิมมาน” อ่านว่า นิม-มาน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิมมาน : (คำนาม) การสร้าง, การแปลง, การทํา, การวัดส่วน. (ป.; ส. นิรฺมาณ).”
(๒) “รติ”
อ่านว่า ระ-ติ รากศัพท์มาจาก รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ
: รมฺ + ติ = รมติ > รติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติเป็นเครื่องยินดี” หมายถึง ความรัก, ความผูกพัน, ความยินดี, ความพอใจ, ความชอบใจ (love, attachment, pleasure, liking for, fondness of)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“รติ : (คำนาม) ความยินดี, ความชอบใจ; ความรัก, ความกําหนัด, แผลงใช้ว่า ฤดี หรือ รดี ก็ได้. (ป., ส.).”
: นิมฺมาน + รติ = นิมฺมานรติ (นิม-มา-นะ-ระ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เทพผู้เนรมิตโภคะตามที่ต้องการแล้วยินดี” (2) “เทพผู้มีความยินดีในสิ่งที่ตนเนรมิต” หมายถึง สวรรค์ชั้นนิมมานรดี, เทพชั้นนิมมานรดี
ในบาลี “นิมฺมานรติ” เป็นคุณศัพท์ขยายคำว่า “เทวา” (เทวดาทั้งหลาย) เปลี่ยนรูปเป็น “นิมฺมานรตี” (นิม-มา-นะ-ระ-ตี)
“นิมฺมานรตี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “นิมมานรดี”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“นิมมานรดี : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๕ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น ได้แก่ จาตุมหาราชหรือจาตุมหาราชิกหรือจาตุมหาราชิกา ดาวดึงส์ ยามา ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี, มีท้าวสุนิมมิตเป็นผู้ครอง, ในบทกลอนใช้ว่า นิมมานรดีต ก็มี เช่น ช่อชั้นนิมมานรดีต. (อิเหนา). (ป.; ส. นิรฺมาณ + รติ).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –
“นิมมานรดี : (คำนาม) ชื่อสวรรค์ชั้นที่ ๕ แห่งสวรรค์ ๖ ชั้น มีท้าวสุนิมมิตมารเป็นใหญ่ในชั้นนี้, ในบทกลอนใช้ว่า นิมมานรดีต ก็มี เช่น ช่อชั้นนิมมานรดีต (อิเหนา). (ป.; ส. นิรฺมาณ + รติ). (ดู ฉกามาพจร ประกอบ).”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิมมานรดี” ไว้ดังนี้ –
…………..
นิมมานรดี : สวรรค์ชั้นที่ ๕ มีท้าวสุนิมมิตเทวราชปกครอง เทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใด นิรมิตเอาได้
…………..
อภิปรายขยายความ :
คำที่ว่า “เทวดาชั้นนี้ปรารถนาสิ่งหนึ่งสิ่งใด นิรมิตเอาได้” ชวนให้เข้าใจว่า เทวดาทั่วไปเมื่อไปอุบัติในสวรรค์วิมานของตนๆ สวรรค์วิมานนั้นๆ มีทิพยสมบัติอยู่เท่าไรอย่างไร ก็ได้เสวยเฉพาะทิพยสมบัติตามที่มีอยู่เท่านั้น แต่สวรรค์ชั้น “นิมมานรดี” นี้ น่าจะไม่มีทิพยสมบัติประจำสวรรค์วิมาน เมื่อเทวดาเจ้าของสวรรค์วิมานปรารถนาจะได้ทิพยสมบัติใดๆ ก็นิรมิตเอาได้ตามปรารถนา ไม่ต้องจำกัดจำเจอยู่เฉพาะทิพยสมบัติที่มีอยู่ประจำเหมือนเทวดาทั่วไป
การณ์เป็นดังที่ว่านี้ หรือมีความหมายเป็นประการใด ควรศึกษาตรวจสอบต่อไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
๏ อยากอะไรเนรมิตได้ดังใจอยาก
ไม่ยุ่งยากแย่งชิงเกิดหิงสา
๏ ถ้ารู้จักแบ่งปันไม่ฉันทา
ก็มีค่าเหมือนเนรมิตไม่ผิดกัน
#บาลีวันละคำ (3,512)
23-1-65
…………………………….