มเหสักข์ ไม่ใช่ “มเหศักดิ์” (บาลีวันละคำ 2,757)
มเหสักข์ ไม่ใช่ “มเหศักดิ์”
อย่างไรคือใหญ่จริง
“มเหสักข์” อ่านว่า มะ-เห-สัก เขียนแบบบาลีเป็น “มเหสกฺข” อ่านว่า มะ-เห-สัก-ขะ รากศัพท์มาจาก มเหส + ขา ธาตุ
(ก) “มเหส” (มะ-เห-สะ) รากศัพท์มาจาก มหนฺต (ใหญ่) + อีส (ผู้เป็นใหญ่), แปลง มหนฺต เป็น มหา, ลบสระหน้า คือ อา ที่ (ม)-หา (มหา > มห), แผลง อี ที่ อี-(ส) เป็น เอ (อีส > เอส)
: มหนฺต > มหา > มห + อีส = มหีส > มเหส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ที่โตยิ่ง”
(ข) มเหส + ขา (ธาตุ = กล่าว, แสดง) + อ ปัจจัย, ซ้อน กฺ ระหว่างบทหน้ากับธาตุ (มเหส + กฺ + ขา), รัสสะ อา ที่ ขา เป็น อะ (ขา > ข)
: มเหส + กฺ + ขา = มเหสกฺขา + อ = มเหสกฺขา > มเหสกฺข (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อันเขายกย่องว่าเป็นผู้ยิ่งใหญ่เพราะครอบงำข่มผู้อื่นด้วยอานุภาพที่ยิ่งใหญ่” หมายถึง มีกำลังหรืออำนาจมาก (possessing great power or authority)
“มเหสกฺข” ที่พบบ่อยในคัมภีร์มักใช้เป็นคุณศัพท์ของเทวดา เช่น “มเหสกฺโข เทโว” = “เทวดาผู้ได้รับยกย่องว่าเป็นใหญ่” นิยมใช้ทับศัพท์ว่า “มเหสักข์” = “เทวดาผู้มเหสักข์”
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มเหสักข์ : (คำนาม) เทวดาผู้ใหญ่. (ป.).”
“มเหสกฺข” มักใช้เทียบกับ “อปฺเปสกฺข” (อับ-เป-สัก-ขะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ได้รับยกย่องเล็กน้อย” ซึ่งหมายถึง เทวดาผู้น้อย
ในคัมภีร์จะพบเรื่องราวที่กล่าวถึงเทวดาไปชุมนุมเฝ้าบุคคลสำคัญ เช่นเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นต้น เทวดาที่มาถึงก่อนก็เข้าไปยืนใกล้ผู้ที่ตนมาเฝ้า แต่เมื่อมีเทวดาที่เป็น “มเหสักข์” มาทีหลัง เทวดาที่เป็น “อัปเปสักข์” จะต้องถอยห่างออกไป เป็นธรรมเนียมให้ผู้ใหญ่อยู่หน้า ผู้น้อยอยู่หลัง
“มเหสักข์” ที่ใช้เป็นคุณศัพท์ของเทวดา “-สักข์” ส เสือ ข ไข่ การันต์ เสียง มะ-เห-สัก ชวนให้เข้าใจว่าเป็น “-ศักดิ์” ศ ศาลา ที่เราคุ้นตา จึงมักมีผู้สะกดคำนี้เป็น “มเหศักดิ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “มเหศักดิ์” บอกไว้ว่า –
“มเหศักดิ์ : (ถิ่น-อีสาน) (คำนาม) เจ้าผีซึ่งเดิมเป็นเจ้าเมืองในถิ่นนั้น.”
จะเห็นได้ว่า “มเหศักดิ์” คำนี้เป็นคนละคำกับ “มเหสักข์”
แถม :
ที่อุทยานแห่งชาติต้นสักใหญ่ ตำบลน้ำไคร้ อำเภอน้ำปาด จังหวัดอุตรดิตถ์ มีต้นสักใหญ่ต้นหนึ่งขนาดลำต้นมีเส้นรอบวง 10.22 เมตร นักพฤกษศาสตร์วัดเส้นวงรอบแล้วคำนวณอายุได้ถึง 1,500 ปี นับเป็นต้นสักที่ใหญ่ที่สุดและน่าจะมีอายุมากที่สุดในโลก
สักต้นนี้ได้รับพระราชทานนามว่า “มเหสักข์”
โปรดสังเกต “มเหสักข์” ไม่ใช่ “มเหศักดิ์” ระวังอย่าเขียนผิด
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใหญ่จริง
: ต้องเล็กเป็น
#บาลีวันละคำ (2,757)
30-12-62