บาลีวันละคำ

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ (บาลีวันละคำ 2,758)

อนุสาสนีปาฏิหาริย์

ยอดแห่งปาฏิหาริย์

อ่านว่า อะ-นุ-สา-สะ-นี-ปา-ติ-หาน

ประกอบด้วยคำว่า อนุสาสนี + ปาฏิหาริย์

(๑) “อนุสาสนี

อ่านว่า อะ-นุ-สา-สะ-นี ประกอบด้วยคำว่า อนุ + สาสนี

(1) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค แปลว่า น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

แปลว่า “น้อย” เช่น “อนุเถระ” = พระเถระชั้นผู้น้อยอนุภรรยา” = เมียน้อย

แปลว่า “ภายหลัง” เช่นคำว่า “อนุช” หรือ “อนุชา” = ผู้เกิดภายหลัง คือน้อง “อนุชน” = คนภายหลัง คือคนรุ่นหลัง, คนรุ่นต่อไป

แปลว่า “ตาม” เช่น “อนุบาล” = ตามเลี้ยงดู, ตามระวังรักษา

แปลว่า “เนืองๆ” เช่น “อนุสรณ์” = ระลึกถึงเนืองๆ คือเครื่องระลึก, ที่ระลึก

ในที่นี้ “อนุ” แปลว่า ตาม, เนืองๆ

(2) “สาสนี” (สา-สะ-นี) รากศัพท์มาจาก สาสน + อี ปัจจัย

(ก) “สาสน” บาลีอ่านว่า สา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) สาสฺ (ธาตุ = สั่งสอน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: สาสฺ + ยุ > อน = สาสน แปลตามศัพท์ว่า (1) “คำอันท่านสั่งสอน” (2) “คำเป็นเครื่องสั่งสอนชาวโลกพร้อมทั้งเทวโลก

(2) สสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(สฺ) เป็น อา (สสฺ > สาส)

: สสฺ + ยุ > อน = สสน > สาสน แปลตามศัพท์ว่า “คำสั่งสอนที่เบียดเบียนกิเลส

คำว่า “สาสน” ในบาลีใช้ในความหมาย 3 อย่าง คือ –

(1) คำสอน หรือที่เรียกทับศัพท์ว่า “ศาสนา” (teaching)

(2) คำสั่ง ในทางปกครองบังคับบัญชา (order to rule, govern)

(3) ข่าว คือที่เราคุ้นกันในคำว่า “สาส์น” หรือ “สาสน์” (message)

(ข) สาสน + + อี ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: สาสน + อี = สาสนี แปลว่า “วจีเป็นเครื่องสั่งสอน

อนุ + สาสนี = อนุสาสนี แปลว่า “วจีเป็นเครื่องตามสอน” “วจีเป็นเครื่องสั่งสอนเนืองๆ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสาสนี” ว่า instruction, teaching, commandment, order (การแนะนำ, การสั่งสอน, บัญญัติ, คำสั่ง)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุสาสนี : (คำนาม) คําสั่งสอน. (ป.; ส. อนุศาสนี).”

โปรดสังเกต: –สาสนี สา เสือ ไม่ใช่ ศาลา ระวังอย่าเขียนผิด

(๒) “ปาฏิหาริย์

บาลีเป็น “ปาฏิหาริย” อ่านว่า ปา-ติ-หา-ริ-ยะ (มีรูปคำอื่นๆ อีกด้วย) รากศัพท์มาจาก

(1) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + หิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), แปลง หิ เป็น หาริย

: ปฏิ + หิ = ปฏิหิ + = ปฏิหิณ > ปาฏิหิณ > ปาฏิหิ > ปาฏิหาริย แปลตามศัพ์ว่า “พลังที่เป็นไปในปฏิปักษ์คือฝ่ายตรงข้าม

(2) ปฏิ (คำอุปสรรค = เฉพาะ, ตอบ, ทวน, กลับ) + หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ณฺย ปัจจัย, ลบ (ณฺย > ), ทีฆะ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา (ปฏิ > ปาฏิ), ทีฆะ อะ ที่ -(รฺ) (ภาษาไวยากรณ์ว่า “อะ ต้นธาตุ”) เป็น อา (หรฺ > หาร), ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (หรฺ > หาร + อิ + ณฺย > )

: ปฏิ + หรฺ = ปฏิหรฺ + อิ + ณฺย = ปฏิหริณฺย > ปาฏิหริณฺย > ปาฏิหาริณฺย > ปาฏิหาริย แปลตามศัพ์ว่า (1) “พลังที่นำไปเสียซึ่งปฏิปักษ์” (คือสามารถกำจัดปรปักษ์ได้) (2) “พลังอันผู้เสร็จกิจแล้วในเพราะจิตตั้งมั่นและปราศจากอุปกิเลสแล้วนำให้เป็นไปเฉพาะ” (คือเมื่อจิตตั้งมั่นถึงระดับแล้วพลังชนิดนี้จะเกิดขึ้นและแสดงออกมาได้ตามที่ต้องการ)

โปรดสังเกตว่า “ปาฏิหาริย” มักใช้ต่อเมื่อมี “ปฏิปักษ์” คือฝ่ายตรงข้าม หรือมีอีกฝ่ายหนึ่งเกิดขึ้นเท่านั้น

ปาฏิหาริย” ใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง สิ่งอัศจรรย์, เรื่องเหลือเชื่อเหนือความคาดหมาย (wonder, miracle) ใช้เป็นคุณศัพท์หมายถึง ประหลาด, อัศจรรย์, วิสามัญ, พิเศษ (striking, surprising, extraordinary, special)

ปาฏิหาริย” ในภาษาไทยใช้เป็น “ปาฏิหาริย์” (ปา-ติหาน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปาฏิหาริย์ : (คำนาม) สิ่งที่น่าอัศจรรย์, ความอัศจรรย์, มี ๓ อย่าง คือ ๑. อิทธิปาฏิหาริย์ = ฤทธิ์เป็นอัศจรรย์ หมายถึง การแสดงฤทธิ์ที่พ้นวิสัยของสามัญมนุษย์ได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๒. อาเทสนาปาฏิหาริย์ = การดักใจเป็นอัศจรรย์ หมายถึง การดักใจทายใจคนได้อย่างน่าอัศจรรย์ ๓. อนุสาสนีปาฏิหาริย์ = การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์. (ปาก) ก. กระทำสิ่งที่ตามปรกติทำไม่ได้ เช่น ปาฏิหาริย์ขึ้นไปอยู่บนหลังคา. (ป.; ส. ปฺราติหารฺย).”

อนุสาสนี + ปาฏิหาริย = อนุสาสนีปาฏิหาริย (อะ-นุ-สา-สะ-นี-ปา-ติ-หา-ริ-ยะ)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสาสนีปาฏิหาริย” ว่า the miracle of teaching, the wonder worked by the commandments [of the Buddha] (ความอัศจรรย์แห่งคำสอน, ผลอันน่าอัศจรรย์อันเกิดจาก [พุทธ] บัญญัติ)

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “อนุสาสนีปาฏิหาริย” เป็นอังกฤษว่า marvel of teaching

อนุสาสนีปาฏิหาริย” ใช้ในภาษาไทยเป็น อนุสาสนีปาฏิหาริย์(อะ-นุ-สา-สะ-นี-ปา-ติ-หาน)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ : (คำนาม) การสอนเป็นอัศจรรย์ หมายถึง คำสั่งสอนอันอาจจูงใจคนให้นิยมเชื่อถือไปตามได้อย่างน่าอัศจรรย์, เป็นปาฏิหาริย์อย่าง ๑ ในปาฏิหาริย์ ๓ ได้แก่ อิทธิปาฏิหาริย์ อาเทสนาปาฏิหาริย์ และอนุสาสนีปาฏิหาริย์.”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –

อนุสาสนีปาฏิหาริย์ : ปาฏิหาริย์คืออนุศาสนี, คำสอนเป็นจริง สอนให้เห็นจริง นำไปปฏิบัติได้ผลสมจริง เป็นอัศจรรย์ (ข้อ ๓ ใน ปาฏิหาริย์ ๓).”

ข้อสังเกต :

เมื่อกล่าวถึง “ปาฏิหาริย์” ในพระพุทธศาสนา ท่านจะขมวดท้ายไว้ด้วยเสมอว่า – ในบรรดาปาฏิหาริย์ 3 อย่างนี้ พระพุทธเจ้าทรงรังเกียจอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ แต่ทรงสรรเสริญอนุสาสนีปาฏิหาริย์ว่าเป็นเยี่ยม

…………..

ทั้งนี้น่าจะเป็นเพราะอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์แม้จะแสดงได้อย่างเก่งกาจสามารถเพียงไรก็ยังไม่ช่วยให้พ้นไปจากสังสารทุกข์ได้ แต่อนุสาสนีปาฏิหาริย์เมื่อแสดงให้คนเห็นหลักธรรมแล้วนำไปปฏิบัติตาม อาจสามารถนำให้พ้นจากสังสารทุกข์ บรรลุถึงเอกันตบรมสุขได้อย่างแท้จริง

แต่กระนั้นก็ยังน่าอัศจรรย์ คือ ชาวโลกมักตื่นตูม ตื่นเต้น และแตกตื่นไปกับอิทธิปาฏิหาริย์และอาเทสนาปาฏิหาริย์ แต่มักเบื่อหน่ายหายอยากที่จะรับสัมผัสอนุสาสนีปาฏิหาริย์

เพราะดังนี้ ผู้รู้ท่านจึงว่า ค่านิยมหรือความเห็น (ทิฐิ) ของมนุษย์เป็นสิ่งที่แก้ได้ยากที่สุดหรือแก้ไม่ได้เอาเสียเลย

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนสอนคนให้เป็นเศรษฐี มีอยู่ทุกยุค

: แต่คนสอนคนให้พ้นทุกข์ นานๆ จึงจะมี

#บาลีวันละคำ (2,758)

31-12-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *