บาลีวันละคำ

อัตโนมัติ (บาลีวันละคำ 2,768)

อัตโนมัติ

เป็นทั้งบาลีและไม่เป็นบาลี

อ่านว่า อัด-ตะ-โน-มัด

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อัตโนมัติ : (คำนาม) ความเห็นส่วนตัว, ความเห็นโดยลําพังตน, เช่นในคําว่า อัตโนมัตยาธิบาย คือ อธิบายตามความเห็นของตน. (ป. อตฺตโน ว่า ของตน + มติ ว่า ความเห็น). (คำวิเศษณ์) เป็นไปได้ในตัวเอง, ทําหน้าที่ได้ในตัวเอง, มีกลไกทําหน้าที่ได้เอง, เช่น นาฬิกาอัตโนมัติ. (อ. automatic).”

ตามพจนานุกรมฯ ได้ความว่า คำว่า “อัตโนมัติ” นี้ ถ้าเป็นคำนาม ก็มาจากคำบาลีว่า อตฺตโน + มติ

(๑) “อตฺตโน” (อัด-ตะ-โน)

รูปคำเดิมเป็น “อตฺต” (อัด-ตะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อตฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไปต่อเนื่อง) + ปัจจัย

: อตฺ + = อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

๑) “ผู้ทำให้ชีวิตดำเนินต่อเนื่องไปได้” (คือเมื่ออัตตายังมีอยู่ ชีวิตก็ยังดำเนินต่อไปได้)

๒) “ผู้ถึงทุกข์ต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็มีทุกข์เข้ามาอย่างไม่รู้จบ)

๓) “ผู้เป็นไปเพื่ออาพาธต่อเนื่อง” (คือเมื่อยังมีอัตตา ก็ยังต้องเจ็บป่วย ถูกบีบคั้นด้วยโรคภัยไม่รู้จบ)

(2) อทฺ (ธาตุ = กิน) + ปัจจัย, แปลง เป็น

: อทฺ + = อทต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า –

๑) “ผู้เสวยสุขและทุกข์” (คือต้องพบทั้งสุขและทุกข์ควบคู่กันไป จะเลือกเสวยแต่สุขอย่างเดียวหาได้ไม่)

๒) “ผู้ถูกกิน” (คือถูกความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตายมันกินเอา)

(3) อา (แทนศัพท์ว่า “อาหิต” = ตั้งลง, หยั่งลง) + ธา (ธาตุ = ทรงไว้) + ปัจจัย, ลบ อา ที่ อา (อา > ) และ อา ที่ ธา (ธา > ) , แปลง ธฺ เป็น ตฺ

: อา + ธา = อาธา + = อาธาต > อธาต > อธต > อตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นที่ตั้งแห่งความถือตัวว่าเป็นเรา” (เพราะมีอัตตา จึงมีการยึดถือว่าตัวกูของกู)

อตฺต” เรามักคุ้นในรูป “อตฺตา” ซึ่งเป็นรูปที่แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ)

อตฺตา” แปลตามที่เข้าใจกันคือ “ตัวตน” (self, soul)

อตฺตา” หมายถึง ตัว, ตน, ตัวตน, ร่างกาย, จิตใจ

ในทางปรัชญา “อตฺตา” หมายถึง ความยึดมั่นในตัวเอง ที่เรียกกันว่า “ตัวกูของกู” หรือที่รู้กันในคำอังกฤษว่า ego

ในที่นี้ “อตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่หก (ฉัฏฐีวิภัตติ) เปลี่ยมรูปเป็น “อตฺตโน” แปลว่า “แห่งตน” “ของตน” “เมื่อตน..”

อตฺต” แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) ก็เปลี่ยมรูปเป็น “อตฺตโน” เหมือนกัน แต่แปลว่า “แก่ตน” “เพื่อตน” “ต่อตน

จะรู้ว่าเป็นวิภัตตินามที่สี่หรือวิภัตตินามที่หก ต้องดูที่ถ้อยคำแวดล้อม

(๒) “มติ” (มะ-ติ)

รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ติ ปัจจัย, ลบที่สุดธาตุ (มนฺ > )

: มนฺ + ติ = มนติ > มติ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาติที่รู้” (คำหลักคือ “รู้” และมองว่า การรู้นั้นเป็น “ธรรมชาติ” อย่างหนึ่ง) หมายถึง จิตใจ, ความเห็น, ความคิด; การคิดถึง, ความอยาก, ความอยากได้หรือปรารถนา (mind, opinion, thought; thinking of, hankering after, love or wish for)

การประสมคำ :

๑ ถ้าเป็นรูปประโยค ประกอบด้วยคำนาม 2 คำ ก็เป็น “อตฺตโน มติ” คือเขียนแยกกันเป็น “อตฺตโน” คำหนึ่ง “มติ” อีกคำหนึ่ง แปลว่า “ความเห็นของตน

๒ ถ้าเป็นคำสมาส ก็เป็น “อตฺตโนมติ” คือเขียนติดกันเป็นคำเดียว ลักษณะนี้เรียกว่าสมาสไม่ลบวิภัตติ

คำที่เราคุ้นกันก็อย่างเช่น –

มโนธรรม” “มโน” เป็นคำที่แจกวิภัตติแล้ว รูปคำเดิมคือ “มน” (มะ-นะ) เมื่อสนธิกับ “ธรรม” ควรจะเป็น “มนธรรม” แต่เพราะไม่ลบวิภัตติ จึงเป็น “มโนธรรม” (คุณธรรมในใจ, คุณธรรมแห่งใจ)

โยนิโสมนสิการ” “โยนิโส-” เป็นคำที่แจกวิภัตติแล้ว รูปคำเดิมคือ “โยนิ” “มนสิ” ก็เป็นคำที่แจกวิภัตติแล้ว รูปคำเดิมคือ “มน” เมื่อมาสนธิกันควรจะเป็น “โยนิมนการ” แต่เพราะไม่ลบวิภัตติ จึงเป็น “โยนิโสมนสิการ” (การทำไว้ในใจโดยอุบายอันแยบคาย

อตฺตโนมติ” ก็เช่นเดียวกัน ถ้าลบวิภัตติก็จะเป็น “อตฺตมติ” แต่เพราะไม่ลบวิภัตติ จึงเป็น “อตฺตโนมติ” (ความเห็นของตน) ใช้ในภาษาไทยเป็น “อัตโนมัติ

ดูเพิ่มเติม: “อตฺตโนมติ” บาลีวันละคำ (33) 5 6 55

ต่อไป พจนานุกรมฯ บอกว่า “อัตโนมัติ” ถ้าเป็นคำวิเศษณ์ มีความหมายว่า “เป็นไปได้ในตัวเอง, ทําหน้าที่ได้ในตัวเอง, มีกลไกทําหน้าที่ได้เอง, เช่น นาฬิกาอัตโนมัติ” และบอกว่า ความหมายนี้ตรงกับคำอังกฤษว่า automatic

คำว่า automatic พจนานุกรม สอ เสถบุตร บอกคำอ่านว่า ออโทะแมท-อิค

ผู้เขียนบาลีวันละคำเคยได้ยินคนจีนที่พูดไทยไม่ชัด ออกเสียงคำว่า “อัตโนมัติ” ว่า ออ-โต-โล-มัก ซึ่งเกือบจะใกล้เคียงกับ ออโทะแมท-อิค

เป็นไปได้ที่ผู้บัญญัติศัพท์ automatic เลียนเสียงคำอังกฤษออกมาเป็น “อัตโนมัติ

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล automatic เป็นบาลีว่า:

sayaṃvattī สยํวตฺตี (สะ-ยัง-วัด-ตี) = สิ่งที่เป็นไปได้เอง

และแปลคำว่า automatically เป็นบาลีว่า:

(1) sakabalena สกพเลน (สะ-กะ-พะ-เล-นะ) = ด้วยกำลังของตน

(2) attanā va อตฺตนา ว (อัด-ตะ-นา วะ) = ด้วยตนเอง, โดยตนเอง

ไม่มีคำที่ใกล้เคียงกับ “อัตโนมัติ” ของเรา มีแต่เฉียดๆ คือ “อตฺตนา ว” = automatically

…………..

ดูก่อนภราดา!

: สุขทุกข์ไม่ได้เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติอย่างแน่นอน

: ดังนั้น อย่ามัวอ้อนวอน แต่จงลงมือทำเอง

#บาลีวันละคำ (2,768)

10-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *