บาลีวันละคำ

ชลประทาน (บาลีวันละคำ 2,767)

ชลประทาน

ไม่ใช่ “ให้น้ำ”

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกว่า คำนี้ —

อ่านว่า ชน-ละ-ปฺระ-ทาน ก็ได้

อ่านว่า ชน-ปฺระ-ทาน ก็ได้

ผู้เขียนบาลีวันละคำใคร่ขอร้องว่า ขอให้ช่วยกันอ่านว่า ชน-ละ-ปฺระ-ทาน เถิด เพราะเป็นการอ่านที่ถูกต้องหรือการอ่านอย่างผู้ได้รับการศึกษามาดีแล้ว

อย่าอ่านว่า ชน-ปฺระ-ทาน เลย เพราะเป็นการอ่านแบบ “รักง่าย” หรือพูดกันตรงๆ ไม่ต้องใช้คำอ้อมๆ ก็คือเป็นการอ่านแบบมักง่ายนั่นเอง

เมื่อเป็นคำสมาส “ชล-” อ่านว่า ชน-ละ- ออกเสียง -ละ- เพิ่มขึ้นอีกพยางค์หนึ่ง ไม่เสียเวลาอะไรมากนัก ไม่สิ้นเปลืองพลังงานอะไรมากนัก แต่ได้ถ้อยคำที่ถูกต้องและงดงาม คุ้มค่ากว่าที่จะรีบอ่านด้วยความมักง่าย

ชลประทาน” ประกอบด้วยคำว่า ชล + ประทาน

(๑) “ชล

บาลีอ่านว่า ชะ-ละ รากศัพท์มาจาก ชลฺ (ธาตุ = ผูกรัด; ไหลไป; รุ่งเรือง) + ปัจจัย

: ชลฺ + = ชล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่ผูกรัด” (คือบีบทำให้เรือแตกได้) (2) “สิ่งที่ไหลไป” (3) “สิ่งที่รุ่งเรือง” (คือระยิบระยับยามค่ำคืน) หมายถึง น้ำ (water)

บาลี “ชล” สันสกฤตก็เป็น “ชล

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “ชล” ในสันสกฤตไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ชล : (คำวิเศษณ์) เยือกเย็นหรืออนภิลาษ; สถุล; เฉื่อยชา, ไม่มีอุตสาหะ; เกียจคร้าน; cold; stupid; apathetic; idiotic; – (คำนาม) น้ำ; วิราค, เสนหาภาพ, ความเฉื่อยชาหรือความไม่มีเสนหา; water; frigidity; coldness, want of animation or coldness of affection.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชล, ชล– : (คำนาม) นํ้า. (ป., ส.).”

(๒) “ประทาน

บาลีเป็น “ปทาน” อ่านว่า ปะ-ทา-นะ รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ทา (ธาตุ = ให้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)

: + ทา = ปทา + ยุ > อน = ปทาน แปลตามศัพท์ว่า “การมอบให้” หมายถึง การให้, การมอบให้ (giving, bestowing), บางกรณีหมายถึง การบรรลุ, ลักษณะ, คุณสมบัติ (attainment, characteristic, attribute)

บาลี “ปทาน” สันสกฤตเป็น “ปฺรทาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ปฺรทาน : (คำนาม) ประทาน, ทาน, ของให้, การให้; a gift or donation, giving.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ประทาน : (คำราชาศัพท์) (คำกริยา) ให้ (ใช้แก่เจ้านาย). (ส.).”

ชล + ประทาน = ชลประทาน แปลตามศัพท์ว่า “การให้น้ำ

เมื่อแปลอย่างนี้ก็สมควรที่จะต้องป้องกันความเข้าใจผิดไว้ด้วย นั่นคือ “ให้น้ำ” ในที่นี้เป็นคนละคำกับ “ให้น้ำ” ที่เรามักได้ยินในเวลามีการแข่งขันชกมวย

ให้น้ำ” คำนั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ให้น้ำ : (คำกริยา) ให้นักมวยหรือคู่ต่อสู้เป็นต้นหยุดพักเหนื่อยชั่วระยะเวลาสั้น ๆ เพื่อให้ดื่มน้ำ เช็ดหน้า หรือเช็ดตัวเป็นต้น ก่อนจะลงมือสู้ในยกต่อไป.”

ให้น้ำ” ที่แปลมาจาก “ชลประทาน” ความหมายเป็นคนละอย่างกันโดยสิ้นเชิง

คำว่า “ชลประทาน” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –

ชลประทาน : (คำนาม) การทดนํ้าและระบายนํ้าเพื่อการเพาะปลูกเป็นต้น.”

ชลประทาน” ตรงกับคำอังกฤษว่า irrigation

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล irrigation เป็นบาลีดังนี้:

(1) jalanetti ชลเนตฺติ (ชะ-ละ-เนด-ติ) = การชักน้ำ

(2) udakasampādana อุทกสมฺปาทน (อุ-ทะ-กะ-สำ-ปา-ทะ-นะ) = การทำให้มีน้ำสมบูรณ์บริบูรณ์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าอยู่กรมชลฯ ต้องไม่ใช่คนแล้งน้ำใจ

: แม้ไม่ได้อยู่กรมชลฯ ก็อย่าเป็นคนแล้งน้ำใจ

#บาลีวันละคำ (2,767)

9-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *