บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ขอให้ลูกหลานเราเป็นคนสุดท้าย

ขอให้ลูกหลานเราเป็นคนสุดท้าย

———————————

ดูประวัติวันเด็กแห่งชาติก็ได้ทราบว่ามีมาตั้งแต่ปี ๒๔๙๘ เด็กที่ไปเที่ยวงานวันเด็กมาตั้งแต่สมัยนั้นเวลานี้คงมีอายุเกิน ๖๐ ถ้ารับราชการก็ปลดเกษียณกันไปหมดแล้ว

เป็นอันแน่นอนว่าผู้ที่กำลังบริหารบ้านเมืองอยู่ในเวลานี้ล้วนแต่ได้รู้จักวันเด็กมาแล้วตั้งแต่ยังเป็นเด็ก

ถ้าถามท่านเหล่านั้นว่า เด็กที่ได้ไปร่วมกิจกรรมวันเด็กมาตั้งแต่สมัยนั้นและได้มาเป็นผู้บริหารประเทศอยู่ในเวลานี้ได้อะไรติดตัวมาจากวันเด็กบ้าง

เชื่อว่าคงยากที่จะตอบให้เห็นเด่นชัด

อ่านพบในที่แห่งหนึ่ง แสดงวัตถุประสงค์ของการกำหนดให้มีวันเด็กแห่งชาติไว้ว่า –

……………

เพื่อให้ประชาชนเห็นความสำคัญและความต้องการของเด็ก 

เพื่อกระตุ้นให้เด็กตระหนักถึงบทบาทอันสำคัญของตนในประเทศ 

เพื่อปลูกฝังให้เด็กมีส่วนร่วมในสังคม 

เพื่อเตรียมพร้อมให้เด็กเป็นกำลังของชาติ

……………

ดูรูปแบบการจัดงานวันเด็กแล้ว ก็ยังสงสัยอยู่ว่าสามารถตอบสนองวัตถุประสงค์ได้มากน้อยแค่ไหน

พูดกันตรงๆ วันเด็กแต่ละปีก็คือวันที่พาเด็กไปดู ไปเห็น ไปเล่นสนุก ไปกินของอร่อยๆ ไปรับของแจก – ผมเห็นว่ามีเท่านี้เท่านั้น

พ้นวันเด็กไปแล้วเราก็ไม่ได้พูดถึงเด็กกันอีกจนกว่าจะถึงปีต่อไป

——————

ผมรู้สึกเป็นส่วนตัวว่า วันเกี่ยวกับบุคคลที่กำหนดจัดกิจกรรมอะไรๆ ขึ้นนั้น ไปๆ มาๆ กำลังจะกลายเป็นผลเสีย คือกลายเป็นการชี้นำย้ำเตือนให้นึกถึงบุคคลนั้นๆ เฉพาะวันนั้นวันเดียว

วันพ่อ ก็รักพ่อวันนั้นวันเดียว

วันแม่ ก็รักแม่วันนั้นวันเดียว

วันครู ก็เห็นความสำคัญของครูวันนั้นวันเดียว

วันเด็ก ก็เห็นความสำคัญของเด็กวันนั้นวันเดียว

ถ้าบอกว่า ไม่ใช่อย่างนั้น เรารักพ่อ รักแม่ รักครู รักเด็ก ฯลฯ ทุกวัน ไม่ใช่รักเฉพาะวันนั้นวันเดียว

ก็แล้วจะต้องจัดงานเฉพาะวันนั้นๆ ขึ้นมาทำไม-ในเมื่อรักทุกวันอยู่แล้ว?

ถ้าบอกว่าจัดเพื่อกระตุ้นเตือนไม่ให้ลืมรักพ่อ รักแม่ รักครู รักเด็ก ฯลฯ

ทำไมกระตุ้นกันปีละครั้งเท่านั้น ทำไมไม่กระตุ้นทุกวัน?

ทำไมไม่หาอุบายวิธีอบรมสั่งสอนผู้คนในบ้านเมืองให้รักพ่อ รักแม่ รักครู รักเด็ก ฯลฯ อยู่ในสายเลือด อยู่ในชีวิตจิตใจ

เวลานี้ลูกไทย-อาจพูดได้ว่าร้อยละร้อย-ยินดี พอใจ เต็มใจ และมีความสุขที่จะเลี้ยงดูพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า

ค่านิยมเช่นนี้ไม่ได้เกิดมาจากอิทธิพลของการจัดงานวันพ่อวันแม่แต่ประการใด หากแต่อยู่ในสายเลือด อยู่ในชีวิตจิตใจ อยู่ในการประพฤติปฏิบัติที่สืบต่อ-ส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น

ปู่ย่าตายายเลี้ยงทวดให้พ่อแม่เห็น

พ่อแม่เลี้ยงปู่ย่าตายายให้ลูกเห็น

ลูกก็เลี้ยงพ่อแม่ให้หลานเห็น

หลานก็เลี้ยงลูกต่อไป

สืบต่อ-ส่งต่อกันเป็นสายโซ่

เราน่าจะให้ความสำคัญกับวิธีการสืบต่อ-ส่งต่อแบบนั้น มากกว่าที่จะมาใช้วิธีกำหนดวันสำคัญสำหรับบุคคลนั้นๆ แล้วก็จัดกิจกรรมกันเฉพาะวันนั้น พอพ้นวันนั้นไปแล้วก็ไม่มีการพูดถึงบุคคลนั้นกันอีกเลยจนกว่าจะถึงปีต่อไป

ผมไม่ได้ต่อต้านการกำหนดให้มีวันนั่นวันนี่ แต่ผมเห็นว่า วิธีกำหนดวันแล้วก็โหมทำกิจกรรมกันวันเดียวแบบที่กำลังนิยมทำกันอยู่นี้ มีผลเสียมากกว่าผลดี

ผลเสียชัดๆ ที่กำลังเกิดขึ้นอยู่ในเวลานี้ก็คือ ก่อให้เกิดค่านิยม-ให้ความสำคัญแก่บุคคลนั้นๆ เฉพาะวันนั้นวันเดียว

การให้ความสำคัญแก่บุคคลนั้นๆ ต้องทำเป็นกิจวัตร ไม่ใช่แค่จัดเป็นกิจกรรม

จะจัดเป็นกิจกรรมก็จัดไป-ถ้าอยากจัด แต่ถ้าไม่ทำเป็นกิจวัตร กิจกรรมที่จัดก็จะมีค่าเพียงแค่การเล่นละครอะไรอย่างหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้าทำเป็นกิจวัตรอยู่แล้ว จะจัดกิจกรรมหรือไม่จัดก็แทบไม่มีความหมายอะไร

——————

กล่าวเฉพาะวันเด็กแห่งชาติ ถ้าผู้บริหารประเทศมีความตั้งใจจริงที่จะอบรมปลูกฝังลักษณะนิสัยที่ดีงามที่ควรประสงค์ลงไปในตัวเด็ก แล้วลงมือกระทำเช่นนั้นมาตั้งแต่มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติเป็นครั้งแรกและทำติดต่อกันเรื่อยมาไม่ขาดสาย พลเมืองของชาติที่มีอยู่ในเวลานี้ก็จะเป็นพลเมืองที่มีลักษณะนิสัยที่ดีงาม มีลักษณะนิสัยที่ต้องประสงค์ เป็นพลเมืองที่มีคุณภาพของบ้านเมือง

เวลาชั่วอายุคนคนหนึ่ง-คือตั้งแต่เวลาที่เขาเกิดมาจนกระทั่งถึงเวลาปลดเกษียณจากการงาน-นานพอที่จะปลูกฝังสิ่งที่ดีงามสืบต่อกันมาเป็นรุ่นๆ ได้เป็นอันมาก

แต่มันก็นานพอที่จะสรุปได้โดยไม่ผิดว่า ผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่มีความคิดที่จะทำเช่นนั้น

ดูแค่เรื่องเดียว-ความรักชาติ

และในความรักชาตินั้นดูกันแค่การแสดงออกที่เป็นรูปธรรมเพียงจุดเดียว-การเคารพธงชาติและเพลงชาติ

จุดเดียวแค่นี้เราก็ไม่ได้อบรมสั่งสอนปลูกฝังเด็กของเราอย่างจริงและต่อเนื่องยาวนาน

ผลจึงปรากฏว่ามีคนเรียกคนที่เคารพธงชาติและเพลงชาติว่า-พวกคลั่งชาติ

คนไทยในเวลานี้แยกไม่ออกแล้วว่าความรักชาติกับความคลั่งชาติคืออะไร ต่างกันหรือเหมือนกันอย่างไร

นอกจากนั้นยังมีการใช้เหตุผลโต้แย้งที่แสดงถึงลักษณะการเอาตัวรอดแบบไร้ความรับผิดชอบ-นั่นคือบอกว่า ความรักชาติต้องแสดงออกด้วยการยืนตรงเคารพธงชาติและเพลงชาติเท่านั้นหรือ ทำอย่างอื่นไม่รักชาติหรือ

“ทำอย่างอื่น” ที่ว่านั่นน่ะคือทำอะไร?

ก็เวลานี้โอกาสที่จะแสดงความรักชาติมาถึงตรงหน้านี่แล้ว นี่คือสิ่งที่ควรทำเวลานี้ ทำไมจะต้องรอไปทำอย่างอื่นที่ไหนอีก?

ถ้าเวลานี้ ตรงนี้ ง่ายๆ แค่นี้คุณยังไม่ทำ แล้วคุณจะรอไปทำตรงไหน

เชื่อได้เลยว่าพอถึงเวลาที่จะ “ทำอย่างอื่น” เขาก็จะอ้างแบบเดียวกันนี่อีก-ความรักชาติต้องแสดงออกด้วยการทำ….อย่างนี้เท่านั้นหรือ ทำอย่างอื่นไม่รักชาติหรือ

คนไทยในเวลานี้ไม่รู้จักแยกแยะแล้วว่า อะไรเป็นความรักชาติ อะไรเป็นมารยาทสังคมที่ควรปฏิบัติ และอะไรคือความคิดเห็น-ความรู้สึกส่วนตัว

ถ้ากูชอบ กูย่อมมีสิทธิ์ที่จะได้ทำ-ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น

และถ้ากูไม่ชอบ กูก็ย่อมมีสิทธิ์ที่จะไม่ต้องทำ-ไม่ว่าเรื่องอะไรทั้งนั้น

นี่คือวิธีคิดของคนไทยสมัยนี้-คนที่เหมาะจะอยู่ในป่าหิมพานต์คนเดียว ไม่ใช่คนที่ควรจะอยู่รวมกับใครเป็นสังคม

ดูกันแค่เรื่องเดียว พอ

——————

สรุปได้ว่า ผู้บริหารบ้านเมืองของเราไม่มีความคิด ไม่มีนโยบาย ที่จะอบรมบ่มเพาะปลูกฝังสั่งสอนลักษณะนิสัยที่พึงประสงค์ลงในชีวิตจิตใจของเด็กอย่างจริงจังต่อเนื่องยาวนาน

ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารบ้านเมืองที่เข้ามาด้วยวิธีการอย่างไร เป็นเหมือนกันหมด

เวลาชั่วอายุคนหนึ่ง-นานพอที่จะสรุปได้โดยไม่ผิดว่า ผู้บริหารบ้านเมืองของเราเคยเป็นเช่นนั้นมาแล้ว กำลังเป็นเช่นนั้นอยู่ และจะเป็นเช่นนั้นต่อไป-ไม่ว่าจะเข้ามาบริหารบ้านเมืองด้วยวิธีการอย่างไรก็ตาม

เมื่อความจริงเป็นเช่นนี้ วิธีการที่ดีที่สุดก็คือ แต่ละคนจะต้องลงมือทำกันเองโดยไม่ต้องรอใครหรือรออะไรทั้งสิ้น และไม่ต้องหวังว่าจะมีปาฏิหาริย์ใดๆ มาช่วยดลบันดาล

นั่นก็คือ แต่ละครอบครัว แต่ละคน ต้องช่วยกันอบรมบ่มเพาะปลูกฝังสั่งสอนลักษณะนิสัยที่ดีงามที่พึงประสงค์ลงในชีวิตจิตใจของลูกหลานของตนตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

มีเทคนิค มีศิลปะ หรือมี trick อะไรในการอบรมสั่งสอน ก็เอาออกมาใช้ให้เต็มที่ มุ่งไปที่ผลดีที่จะเกิดมีขึ้นในตัวเด็กเป็นสำคัญ

อย่าหวังที่โรงเรียน

อย่ารอใครหรือสถาบันไหนๆ

อย่ารอรัฐบาล (เพราะรัฐบาล-ไม่ว่าชุดไหน-ไม่คิดจะทุ่มเทเรื่องนี้อยู่แล้ว)

แต่ละบ้านแต่ละคนนี่แหละทำไปเลย และทำให้เต็มที่ ต่อเนื่องยาวนาน

และที่สำคัญ อย่าอ้างว่า เราทำคนเดียว คนอื่นเขาไม่ทำ บ้านเราทำบ้านเดียว บ้านอื่นเขาไม่ทำ จะมีประโยชน์อะไร จะได้ผลอะไร จะสู้กระแสสังคมไหวหรือ ฯลฯ

ก็เพราะแต่ละคนคิดอย่างนี้แหละ มันจึงเป็นอย่างนี้

ก็เพราะแต่ละคนคิดอย่างนี้แหละ มันจึงเป็นจุดอ่อนที่สุดและเป็นช่องโหว่ที่สุดของสังคมไทย-จะทำอะไรต้องรอคนอื่นก่อน

รอกันทุกเรื่อง แต่ไม่คิดจะลงมือทำด้วยความกล้าหาญของตัวเอง

——————

ขออนุญาตยกตัวอย่างตัวเอง

ผมมีลูก ๓ คน เลี้ยงลูกด้วยระบบทหารผสมพลเรือน

ผมตีตารางการปฏิบัติประจำวันให้ลูกตั้งแต่ตื่นกี่โมง ไปจนถึงนอนกี่ทุ่ม แล้วกำกับให้เป็นไปตามนั้น

ที่สำคัญ ผมจัดเวลาออกไปเล่นนอกบ้านให้ด้วย ถือเป็นชีวิตประจำวันชนิดหนึ่งของลูก ให้เขามีเพื่อน มีสังคม ออกไปเล่นตามเวลา กลับเข้าบ้านตามเวลา ฝึกเขามาตั้งแต่เด็กๆ

ผมไม่เคยกลัวว่าครอบครัวข้างบ้านจะไม่ทำ คนนั้นคนนี้เขาจะไม่อบรมสั่งสอนลูกเขา แล้วจะแพร่เชื้อมาติดลูกผม เพราะบรรยากาศภายในบ้านผมอบอุ่นตลอดเวลา เป็นภูมิป้องกันที่ดีที่สุด

หลังบ้านด่าเหี้ยห่ากัน ลูกผมได้ยินแล้วยิ้ม บอกเบาๆ ว่า “ออกอีกตัวแล้วพ่อ”

ผมจึงมั่นใจว่าลูกผมไม่ติดเชื่อเลวแน่นอน

ผมสอนลูกให้สวดมนต์ก่อนนอนทุกคืน ผมสวดให้เขาเห็นด้วย

ผมไม่ห่วงว่าโตขึ้นเขาจะสวดหรือไม่สวด ผมเชื่อว่าชีวิตคนย่อมมีเวลาที่เมล็ดพืชที่ถูกหว่านไว้ในใจจะต้องงอกงามขึ้นมา

หลวงพ่อที่วัดมหาธาตุ ราชบุรี ท่านพูดย้ำเสมอว่า ให้เด็กมันมาวิ่งเล่นในวัดเถอะ มันไม่รู้เรื่องอะไรก็ช่างมัน มาขอขนมพระ มาวิ่งเล่น เขาเห็นช่อฟ้า ใบระกา หลังคาโบสถ์ เห็นเจดีย์วิหาร เห็นพระสวดมนต์ เห็นพระกวาดวัด เห็นบ่อยๆ โตขึ้นเขาจะคิดถึงความหลัง แล้วเขาจะรักวัด เขาจะหวงแหนวัด ยิ่งถ้าเขามีกำลังเขาก็จะกลับมาทำนุบำรุงวัด

………

อ้อ แล้วก็อย่าอ้างว่า…ยุคสมัยมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนทำอย่างนั้นได้สิ แต่เดี๋ยวนี้มันทำไม่ได้

คิดอย่างนี้ เด็กของเราก็เลวไปแล้วตั้งแต่ยังไม่เกิด

——————

คนรุ่นเรานับวันจะร่วงโรย 

คนรุ่นเด็กจะต้องเข้ามารับช่วง

แต่ละบ้าน แต่ละคน ช่วยกันอบรมสั่งสอนเด็กของตัวโดยไม่ต้องรอใครหรือหวังความช่วยเหลือจากใคร ทำหน้าที่ของเราให้ดีที่สุดและให้เต็มกำลัง นั่นคือทางรอดของเรา

บ้านไหนเขาไม่ทำ ก็ช่างเขา 

ถ้าสังคมนี้จะมีแต่เด็กเลว ก็ขอให้ลูกหลานเราเป็นคนสุดท้ายเถิด

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๑ มกราคม ๒๕๖๐

๑๐:๓๙

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *