บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

จะประเสริฐกว่ามันหรือจะเป็นกับมัน

จะประเสริฐกว่ามันหรือจะเป็นกับมัน

——————————-

เมื่อวาน (๒๔ มกราคม ๒๕๖๓) ผมโพสต์เรื่องการเขียนคำว่า “…ฮวดไช้” ในคำที่ยกมาพูดกันในเทศกาลตรุษจีน ที่ว่า

ซินเจียยู่อี่

ซินนี่ฮวดไช้

ผมบอกว่า “…ฮวดไช้” ต้องเป็นสระ ไอ ไม้มลาย ไม่ใช่ไม้ม้วน 

คำว่า “…ฮวดไช้” ที่เขียนและเผยแพร่กันทั่วไปมักสะกดเป็น “…ฮวดใช้” คือ -ใช้ สระ ไอ ไม้ม้วน

โพสต์ไป ก็มีญาติมิตรเอาไปขยายผลต่อ ซึ่งผมต้องขอบพระคุณอย่างยิ่ง-ที่ช่วยกัน “ล้วงลูก”

ผมจะขออนุญาต “รับลูก” สักหน่อยหนึ่งนะครับ 

คือท่านบอกว่า (ลอกมาตามต้นฉบับ) –

……………

ป้ายฯอวยพรตรุษจีน ถูก นอ.ทองย้อย แสงสินชัย ตำหนิว่า

ซินนี่ฮวดใช้…ใช้ไม้ม้วน ..มันใช่หรอ?

แต่ก็ใช้กันทั้งไม้ม้วน-ไม้มลาย ตามอุปาทานของแต่ละคน

ว่าไปแล้ว.

ฮวดไช้? หรือ ฮวกไซ้?

อีกคำคือ ซินนี่ ซินหนี้? หรือ ซินนี้?

ก็ม่ายรู้..อั๊ว-มายซ่ายคงจีง….(ฮา)

…………

เบื้องแรก ตามความเห็นของผม ถ้อยคำทั้ง ๘ คำนั้นควรตกลงกันให้แน่นอนว่าสะกดเป็นอักษรไทยว่าอย่างไร 

ซิน หรือ ซิง

เจีย หรือ เจี่ย

ยู่ หรือ หยู้ 

นี่ หรือ หนี้ หรือ นี้ 

ฮวด หรือ ฮวก 

เวลาเขียนจะได้เป็นระเบียบเดียวกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างสะกดตามใจ แล้วต่างคนต่างก็หาเหตุผลมาถกเถียงกันว่า-ของฉันถูก ของฉันถูก เพราะยังงี้ๆๆๆ 

ตรุษจีนปีหน้า ก็จะมีคนยกเอามาพูดกันอีก

ปิดประตูถกเถียงกันให้เสร็จก่อน ตกลงกันก่อน แล้วจึงเขียนตามนั้น

ไม่ใช่เอามาทะเลาะกันกลางถนน 

——————

ทีนี้ ว่าเฉพาะคำว่า “…ฮวดไช้” ที่ผมทักท้วง 

ท่านบอกว่า “ถูก นอ.ทองย้อย แสงสินชัย ตำหนิ” 

ผมอยากทำความเข้าใจกันให้ถูกให้ตรงก่อนว่า ผมไม่ได้มีเจตนาจะตำหนิ 

ผมเพียงบอกว่า “…ฮวดไช้” -ไช้ ต้องเป็นสระ ไอ ไม้มลาย ไม่ใช่ไม้ม้วน อย่างที่เขียนกันทั่วไป

และที่ว่า -ไช้ ต้องเป็นสระ ไอ ไม้มลาย ไม่ใช่ไม้ม้วน – ก็ไม่ใช่ความเห็น หรือความคิด หรือข้อกำหนดของ “นอ.ทองย้อย แสงสินชัย” 

แต่เป็นหลักภาษาไทยที่ท่านกำหนดไว้อย่างนั้น 

ตรงนี้สำคัญมาก ขอให้ตั้งหลักกันให้ดี ให้ถูก 

ขอให้ตัดตัวบุคคลออกไป 

“นอ.ทองย้อย แสงสินชัย” จะว่าอย่างไร จะพูดอย่างไร หรือจะตำหนิอย่างไร ตัดออกไป 

อันที่จริง ไม่ต้องมี “นอ.ทองย้อย แสงสินชัย” เข้าไปเกี่ยวข้องเลยก็ยังได้ 

ดูกันเฉพาะที่หลักภาษาไทยอย่างเดียว ล้วนๆ

เวลานี้ ผมว่าเราพลาดกันตรงนี้มาก คือเริ่มต้นก็บอกกันว่า-คนนั้นว่าอย่างนี้ คนนี้ว่าอย่างโน้น คนโน้นว่าอย่างนั้น 

แต่-หลักความรู้ หลักวิชา หรือหลักการในเรื่องนั้นๆ มีอยู่ว่าอย่างไร ไม่เอามาบอก ไม่เอามาพูด ไม่เอามาอ้าง

ปล่อยให้คนชนกัน สนุกดี

คำว่า “…ฮวดไช้” นี่ก็เช่นกัน

หลักภาษาไทยท่านกำหนดไว้ว่า คำที่ใช้สระ ไอ ไม้ม้วนในภาษาไทยมี ๒๐ คำ 

ที่เราท่องกันได้ทั่วไป นั่นคือ –

…………

ผู้ใหญ่หาผ้าใหม่

ให้สะใภ้ใช้คล้องคอ

ใฝ่ใจเอาใส่ห่อ

มิหลงใหลใครขอดู

จะใคร่ลงเรือใบ

ชมน้ำใสและปลาปู

สิ่งใดอยู่ในตู้

มิใช่อยู่ใต้ตั่งเตียง 

บ้าใบ้ถือใยบัว

หูตามัวมาใกล้เคียง

เล่าท่องอย่าละเลี่ยง

ยี่สิบม้วนจำจงดี 

…………

(เขียนจากความจำ กรุณาตรวจสอบต้นฉบับอีกที บางคำอาจคลาดเคลื่อน แต่คำที่เป็นตัวหลัก “ยี่สิบม้วน” ไม่ผิดแน่ ขอรับรอง) 

…………

ที่ผมพูดเมื่อกี้ว่า – ไม่เอามาบอก ไม่เอามาพูด ไม่เอามาอ้าง – หมายความว่า เวลาใครจะทำอะไร ตัวคนทำนั่นเองที่จะต้องไปยกเอาหลักเกณฑ์ หลักการ หรือหลักวิชาเกี่ยวกับเรื่องนั้นมาบอก มาพูด มาอ้างกับตัวเอง

ไม่ต้องรอให้ใครยกมาอ้าง

ไม่ต้องอ้างว่าเป็นหน้าที่ของใครที่จะต้องมาบอกข้าพเจ้า

เพราะเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้าเองที่จะต้องศึกษาเรียนรู้

…………

โปรดตรวจดู จะพบว่า “…ฮวดไช้” ไม่ได้อยู่ในจำนวน “ยี่สิบม้วน” 

ออกเสียงเหมือน “ใช้” ในภาษาไทยก็จริง แต่เมื่อไม่ใช่ “ใช้” ในภาษาไทย ก็สะกดเป็น “…ฮวดใช้” ไม่ได้ ไม่ถูก

ถ้าคำนั้นออกเสียงว่า “ไช้” (ช ช้าง) ต้องเป็น “…ฮวดไช้” (ไม้มลาย) 

ง่ายๆ สั้นๆ 

ถ้าอิงหลัก อ้างหลัก ก็จบ ก็ง่าย ไม่ซับซ้อน

และไม่ต้องมี “นอ.ทองย้อย แสงสินชัย” เข้าไปเกี่ยวข้องเลย

จะมีใครสะกดคำนี้เป็น “…ฮวดใช้” ตั้งครึ่งตั้งค่อนเมือง หรือเต็มบ้านเต็มเมือง ก็สะกดไป แต่ใครจะเอามาอ้างไม่ได้เลยว่า-เป็นการสะกดที่ถูกต้อง เพราะ-คนเขาเขียนอย่างนี้กันทั้งบ้านทั้งเมือง 

อันที่จริงควรจะช่วยกันบอก ช่วยกันยืนยัน และช่วยกันเตือนว่า เรากำลังทำผิดกันทั้งบ้านทั้งเมือง 

ไม่ใช่ช่วยกันหาเหตุผลมาอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก-อย่างที่กำลังนิยมทำกันอยู่

เรื่องนี้-และเรื่องอื่นๆ ทำนองนี้-สาเหตุสำคัญก็เนื่องมาจาก –

การไม่ศึกษา 

ไม่เรียนรู้ 

ความมักง่าย 

การเอาความเห็นความคิดความเข้าใจของตัวเองเป็นที่ตั้ง 

และสุดท้าย คือ-การไม่ยอมรับว่าตัวเองผิด หรือ-ข้าต้องไม่ผิด

……………..

ขอยกตัวอย่างมาประกอบอีกคำหนึ่ง-คือคำว่า “จำวัด” 

เวลานี้ คนทั้งหลายใช้คำว่า “จำวัด” ในความหมายว่า-พระพำนักอยู่ที่วัดนั้นวัดโน้น พูดกันว่า-จำวัดอยู่ที่วัดนั้น หรือบวชแล้วไปพำนักอยู่ที่วัดนั้นวัดโน้น ก็พูดกันว่า-บวชแล้วไปจำวัดอยู่ที่นั่นๆ 

ซึ่งเป็นการใช้คำผิดความหมายโดยสิ้นเชิง

เวลานี้คนระดับที่เรียกกันว่า “ผู้ใหญ่ในบ้านเมือง” ก็พูดคำว่า “จำวัด” ผิดๆ แบบนี้ 

แล้วก็มีคนพยายามที่จะอธิบายว่า-“จำวัด” ใช้ในความหมายอย่างที่ว่านี้ก็น่าจะถูก น่าจะใช้ได้ เพราะเหตุผลอย่างนี้ๆ 

ก็คือช่วยกันอธิบายผิดให้เป็นถูก 

ตามเหตุผลข้อใหญ่คือ-ข้าต้องไม่ผิด

ถ้าเอาเวลาที่ใช้ไปกับการคิดหาคำอธิบายผิดให้เป็นถูก-ไปเปิดพจนานุกรม ก็จะได้ความรู้ที่ถูกต้องทันทีเพียงชั่วประเดี๋ยวเดียว

…………

จำวัด ก. นอนหลับ (ใช้แก่ภิกษุสามเณร)

…………

ศึกษาเรียนอยู่เอาอย่างนี้ ง่ายกว่ากันตั้งเยอะ

แต่-ไม่ทำ ไม่เอา

เอาตามความเข้าใจของตัวเองดีกว่า

ก็-ข้าต้องไม่ผิดนี่นา

แทนที่จะพัฒนาความรู้ของตัวเองให้ขึ้นสู่มาตรฐาน

กลับใช้วิธี-ดึงมาตรฐานลงมาหาความไม่รู้ของตัวเอง

—————

ถ้าคนรับทำป้ายทำโฆษณา ยอมศึกษาเรียนรู้สักหน่อยว่า “ใช้” ภาษาไทยใช้สระ ไอ ไม้ม้วน ถ้าไม่ใช่ภาษาไทยใช้สระ ไอ ไม้มลาย 

ถ้าเขาหรือเธอรู้หลักนี้ คำที่เขียนผิดว่า “-ฮวดใช้” ก็จะไม่เกิดขึ้น แล้วก็ไม่ต้องมาอ้างหลักความนิยมหรือหลักที่ผิดเพี้ยนอะไรมารองรับ เพราะทุกคนมีหลักเดียวกัน 

แต่เพราะไม่ศึกษา ไม่เรียนรู้หลักเดิมของท่าน จึงเกิดเหตุแบบนี้

เราควรช่วยกันแก้ไขที่ผิดให้ถูก

ไม่ใช่ช่วยกันหาเหตุผลมารับรองหรือรองรับว่า-ที่สะกดแบบนั้นก็น่าจะถูก เพราะคนส่วนมากเขาสะกดกันอย่างนี้

—————-

เวลานี้เราชักจะเอา “ความนิยม” หรือความเข้าใจของคนส่วนมากเข้ามาตัดสินปัญหากันแล้ว 

หลักการในเรื่องนั้นว่าอย่างไร ไม่รู้ ไม่รับรู้

รับรู้อย่างเดียว-คนส่วนมากเขาว่ายังไง เอาตามนั้น

ถ้าเป็นเรื่องที่สังคมนิยมหรือผู้คนส่วนมากกำหนด ก็แล้วไป อย่างเรื่องการใช้คำ ใช้ภาษา อ้างได้ว่า ภาษาเป็นเรื่องสมมุติ – คือเป็นเรื่องที่เข้าใจร่วมกัน สมมุติอย่างไรก็ได้ ตามที่เราตกลงกัน ไม่มีผิดไม่มีถูก จะมายึดหลักการหลักเกณฑ์อะไรกันนักกันหนา

แต่ถ้าอ้างแบบนี้กันมั่วทั่วไป คือยึดเอาความนิยมหรือความเข้าใจของคนส่วนมากเป็นเกณฑ์ แล้วเอาไปตัดสินพระธรรมวินัย-คือตัวพระศาสนา จะเกิดอะไรขึ้น 

ยกตัวอย่าง 

ภิกษุขโมยวัวของชาวบ้านที่ผูกกินหญ้าอยู่ข้างบ้าน 

แก้เชือกที่ผูกไว้กับกอหญ้าแล้วจูงวัวไป 

เดินไปได้ไม่กี่ก้าว เจ้าของบ้านออกมาจากบ้าน เห็นเข้าพอดี

ภิกษุรีบกลบเกลื่อน บอกว่าวัวที่ผูกไว้นั้นมันหลุด อาตมาเกรงว่าจะหาย จึงจูงเอาไปให้โยม 

เจ้าของวัวขอบอกขอบใจในความมีน้ำใจของภิกษุ

ถามว่า ภิกษุทำผิดฐานลักทรัพย์แล้วหรือยัง? 

คนส่วนมาก-แม้แต่นักกฎหมายด้วยซ้ำ-จะบอกว่า ภิกษุยังไม่ได้เอาทรัพย์-คือวัวไป ทรัพย์ยังอยู่กับเจ้าของ ความผิดยังไม่สำเร็จ 

ถามใคร ก็ตอบอย่างนี้ทั้งนั้น 

ความจริงที่เห็นอยู่ก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ คือทรัพย์ยังอยู่กับเจ้าของจริงๆ เห็นอยู่ชัดๆ จะว่าลักทรัพย์ไปได้อย่างไร

แต่หลักพระวินัยเกี่ยวกับกรณีเช่นนี้ ท่านกำหนดไว้ว่า ทำให้ทรัพย์เคลื่อนจากฐาน ความผิดสำเร็จ 

กรณีทรัพย์คือวัวที่เขาผูกไว้ ท่านว่ามี ๕ ฐาน

แก้เชือก เป็นฐานที่ ๑

วัวก้าวขาแรก เป็นฐานที่ ๒

วัวก้าวขาที่สอง เป็นฐานที่ ๓

วัวก้าวขาที่สาม เป็นฐานที่ ๔

วัวก้าวขาที่สี่ เป็นฐานที่ ๕

ทันทีที่วัวก้าวขาที่สี่ออกจากที่ที่มันยืนอยู่ ความผิดสำเร็จ

ภิกษุนั้นต้องอาบัติปาราชิกฐานลักทรัพย์ 

ถ้ายึดถือตามความเห็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ จะเป็นอย่างไร พระธรรมวินัยจะไปอยู่ตรงไหน พระศาสนาจะไปอยู่ตรงไหน

แน่นอน คนส่วนใหญ่ไม่ได้เรียนรู้ ไม่ได้ศึกษาหลักพระธรรมวินัย 

แต่คนเราย่อมสามารถศึกษาเรียนรู้กันได้ ใช่หรือไม่ – โดยเฉพาะในเรื่องที่เรากำลังแสดงความเห็น

แล้วแก้ปัญหาอย่างไรจึงจะถูก?

ตัดสินไปตามความเห็นความเข้าใจของคนส่วนใหญ่ เพราะเราบูชาเสียงส่วนใหญ่ 

หรือยึดหลักพระธรรมวินัย แล้วขอร้องให้คนส่วนใหญ่ช่วยกันศึกษาหลักพระธรรมวินัยให้เข้าใจ

——————–

คนสมัยนี้มีเหตุผลเป็นอันมาก-ที่จะไม่ศึกษาวิชาความรู้เดิม ไม่เรียนรู้หลักการเก่า 

เขาอ้างว่าของเก่าเรื่องเก่าเป็นของล้าสมัย มนุษย์ควรรุดไปข้างหน้า ไม่ใช่ย่ำบาทาอยู่กับที่ 

เวลานี้เริ่มมีกระแสความคิดแล้วว่า-พระพุทธศาสนา ถ้าไม่ปรับตัวก็จะอยู่ไม่รอด

เพราะฉะนั้น อย่าได้แปลกใจถ้าในอนาคตอันไม่ไกลนี้ —

๑ จะมีผลการวิจัยของแพทย์เผยแพร่ออกมาว่า การงดอาหารมื้อเย็นเป็นอันตรายต่อสุขภาพ ทำให้ร่างกายได้รับอาหารไม่เพียงพอ การรับประทานอาหารมื้อเย็นจะช่วยให้ร่างกายแข็งแรง นั่งสมาธิได้นาน เป็นผลดีต่อการปฏิบัติธรรม 

พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะชวนกันฉันอาหารมื้อเย็นกันทั่วไปโดยอ้างผลการวิจัยของแพทย์ 

๒ จะมีผลการวิจัยออกมาว่า ชาย-หญิงถ้าได้ร่วมเพศกันอย่างน้อยวันละครั้ง จะผลดีต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต โลหิตจะไหลเวียนดีขึ้น ลมเดินสะดวก จิตสงบได้ง่ายขึ้น สามารถปฏิบัติธรรมแล้วบรรลุมรรคผลนิพพานได้ง่ายขึ้น

พระภิกษุในพระพุทธศาสนาจะนิยมเสพเมถุนกันทั่วไปโดยอ้างผลการวิจัยดังกล่าวนี้

ผมไม่ได้พูดประชด แต่ในอนาคตจะต้องเป็นอย่างนี้แน่นอน สิ่งบอกเหตุก็คือ เรากำลังพากันดูถูกเหยียดหยามมองข้ามมองเมินหลักวิชาหลักความรู้และหลักการเดิมกันทั่วไป 

ไม้ม้วน ๒๐ คำรึ ไร้สาระ กำหนดให้ยุ่งยากทำไม ใช้สระไอเดียวหมดทุกคำไปเลย ง่ายๆ แค่นี้

พระธรรมวินัยรึ ของเก่าตั้งสองพันห้าร้อยปีมาแล้ว ล้าสมัย เก็บเข้ากรุได้แล้ว 

เราต้องรับวิทยาการใหม่ๆ จึงจะอยู่รอด ไม่ใช่งมอยู่กับของเก่า 

การสะกดคำตามใจชอบยังเป็นเรื่องเล็ก ต่อไปการปฏิบัติผิดๆ จะยิ่งมีมากขึ้น ด้วยข้ออ้างยอดนิยมคือ-คนส่วนมากนิยมกันอย่างนี้

เราบังคับให้คนอื่นศึกษาเรียนรู้ปฏิบัติตามกฎระเบียบไม่ได้

แต่เราบังคับ ควบคุม ฝึกฝนตัวเราเองได้

มีพระพุทธพจน์ว่า “ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ” 

แปลว่า “ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกแล้วเป็นผู้ประเสริฐ” 

ส่องความว่า มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ฝึกได้

และต้องฝึกจึงจะประเสริฐ

ไม่ฝึก ไม่ประเสริฐ 

กฎเกณฑ์ กติกา แบบแผน ระเบียบวินัย คืออุปกรณ์การฝึก

ถ้าไม่เคารพกฎเกณฑ์ 

ไม่เล่นตามกติกา 

ไม่รักษาแบบแผน 

ไม่แม่นในระเบียบวินัย

มนุษย์จะต่างอะไรกับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่นๆ

จะประเสริฐกว่ามัน

หรือจะเป็นกับมัน

เลือกเอาเถิด 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ มกราคม ๒๕๖๓

๑๔:๕๒

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *