บาลีวันละคำ

ตักกเหตุ (บาลีวันละคำ 2487)

ตักกเหตุ

ข้อ 5 ในกาลามสูตร: เพราะตรรกะ

อ่านแบบคำไทยว่า ตัก-กะ-เหด

อ่านแบบคำบาลีว่า ตัก-กะ-เห-ตุ

หลักข้อที่ 5 ในกาลามสูตร มีข้อความที่เป็นภาษาบาลีว่า “มา ตกฺกเหตุ” เขียนเป็นคำอ่านว่า มา ตักกะเหตุ

แปลว่า “ท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือโดยตรรกะ” (คือคาดการณ์ว่าสมเหตุสมผล)

ตกฺกเหตุ” ภาษาบาลีอ่านว่า ตัก-กะ-เห-ตุ (ไม่ใช่ ตัก-กะ-เหด) ประกอบด้วยคำว่า ตกฺก + เหตุ

(๑) “ตกฺก” (ตัก-กะ)

รากศัพท์มาจาก ตกฺกฺ (ธาตุ = ตรึก, นึก, คิด) + ปัจจัย

: ตกฺก + = ตกฺก แปลตามศัพท์ว่า “สภาวะที่ตรึกคิด” (คือยกเรื่องราวอันใดอันหนึ่งขึ้นสู่อารมณ์)

ตกฺก” (ปุงลิงค์) ใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความสงสัย; ความเห็นที่น่าสงสัย (doubt; a doubtful view)

(2) การวินิจฉันที่ละเอียดเกินต้องการ, การอ้างเหตุผลลวงเพื่อให้หลงเชื่อ (hair-splitting reasoning, sophistry)

(๒) “เหตุ” (เห-ตุ)

รากศัพท์มาจาก หิ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; ตั้ง) + ตุ ปัจจัย, แผลง อิ ที่ หิ เป็น เอ (หิ > เห)

: หิ + ตุ = หิตุ > เหตุ แปลตามศัพท์ว่า (1) “สิ่งที่เป็นไปสู่ความเป็นผล” (2) “สิ่งที่ถึงความเป็นเหตุ” (3) “สิ่งเป็นที่ตั้งแห่งผล” (4) “สิ่งเป็นเครื่องเป็นไปแห่งผล

เหตุ” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

 (1) เหตุ, เหตุผล, ปัจจัย, มูล (cause, reason, condition)

(2) ความเหมาะสมเพื่อบรรลุพระอรหันต์ (suitability for the attainment of Arahantship)

(3) ตรรกะ (logic)

ตกฺก + เหตุ = ตกฺกเหตุ (ตัก-กะ-เห-ตุ) แปลตามประสงค์ว่า “เพราะตรรกะ

อภิปราย :

คำหลักในกาลามสูตรข้ออื่นๆ ท่านแจกด้วยวิภัตตินามที่สาม (ตติยาวิภัตติ) เอกพจน์ เปลี่ยนรูปไปตามวิภัตติ คือ –

อนุสฺสว” เปลี่ยนรูปเป็น “อนุสฺสเวน

ปรมฺปรา” เปลี่ยนรูปเป็น “ปรมฺปราย

อิติกิรา” เปลี่ยนรูปเป็น “อิติกิราย

ปิฏกสมฺปทาน” เปลี่ยนรูปเป็น “ปิฏกสมฺปทาเนน

มาถึง “ตกฺกเหตุ” ถ้าใช้กฎเดียวกันก็ควรเปลี่ยนรูปเป็น “ตกฺกเหตุนา” (ตัก-กะ-เห-ตุ-นา) แต่ท่านยังคงรูปเป็น “มา ตกฺกเหตุ” แสดงว่าไม่ได้แจกด้วยวิภัตตินามเหมือนข้ออื่น

ลักษณะเช่นนี้ หลักไวยากรณ์ชั้นสูงบอกว่า “-เหตุ” ในที่นี้ ท่านประสงค์จะให้แปลว่า “เพราะ” คือ “ตกฺกเหตุ” ต้องแปลว่า “เพราะตรรกะ” (ไม่ใช่ “เพราะเหตุคือตรรกะ” หรือ “เพราะเหตุแห่งตรรกะ” คือ “-เหตุ” ในที่นี้แปลว่า “เพราะ” ไม่ใช่ “เพราะเหตุ-”)

อย่างไรก็ตาม คัมภีร์อรรถกถาไขความคำว่า “ตกฺกเหตุ” ว่า “ตกฺกคาเหน” (มโนรถปูรณี อรรถกถาอังคุตรนิกาย ภาค 2 หน้า 299)

ตกฺกเหตุ” แปลตามอรรถกถาว่า “ด้วยการยึดถือตรรกะ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตกฺกเหตุ” ว่า ground for doubt (เหตุแห่งความสงสัย) แต่พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ก็ยังใส่วงเล็บไว้ด้วยว่า or reasoning? (หรือการใช้เหตุผล?)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [317] แปล “มา ตกฺกเหตุ” เป็นไทยว่า “อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรก” และแปลเป็นอังกฤษว่า Be not led by mere logic.

เรื่องนี้ คำหลักอยู่ที่ “ตกฺก” ซึ่งในภาษาไทยใช้เป็น “ตรรก-” (มีคำอื่นสมาสข้างท้าย) และ “ตรรกะ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรรก-, ตรรกะ : (คำแบบ) (คำนาม) ความตรึก, ความคิด. (ส. ตรฺก; ป. ตกฺก).”

เท่าที่เข้าใจกันนั้น “ตกฺก” หรือ “ตกฺกเหตุ” ก็คือที่คำอังกฤษใช้ว่า logic ซึ่งภาษาไทยบัญญัติใช้ว่า “ตรรกศาสตร์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ตรรกศาสตร์ : (คำนาม) ปรัชญาสาขาหนึ่งว่าด้วยการคิดหาเหตุผลว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่, ใช้ว่า ตรรกวิทยา ก็มี. (อ. logic).”

สรุปความหมายในกาลามสูตรข้อนี้ก็คือ อย่าเชื่อถือโดยวิธีคิดหาเหตุผลว่าจะสมเหตุสมผลหรือไม่

ตัวอย่าง :

ฝนตกทีไร ถนนลูกรังหน้าบ้านเราเป็นต้องเปียกทุกที 10 หน 100 หน ก็เห็นมันเป็นอย่างนั้น เราก็เลยสรุปว่า ถนนเปียกเพราะฝนตก

อยู่มาเช้าวันหนึ่ง เราตื่นขึ้นมาเห็นถนนเปียก เราก็เลยเชื่อว่าเช้าวันนั้นฝนตก

แต่ข้อเท็จจริง เช้าวันนั้นฝนไม่ได้ตกเลย หากแต่ว่ารถเทศบาลเข้ามาฉีดน้ำ เพราะฉะนั้น ถนนจึงเปียก!

สิ่งที่เราคิดว่าสมเหตุสมผล กลายเป็นผิดจากความเป็นจริงไปได้เช่นนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าท่านมีเหตุผลว่าท่านจำเป็นต้องทำชั่ว

: ยมบาลก็มีเหตุผลว่าท่านจำเป็นต้องตกนรก

#บาลีวันละคำ (2,487)

4-4-62

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *