บาลีวันละคำ

ธรรมจาริก (บาลีวันละคำ 2,781)

ธรรมจาริก

อ่านว่า ทำ-มะ-จา-ริก

ประกอบด้วยคำว่า ธรรม + จาริก

(๑) “ธรรม

บาลีเป็น “ธมฺม” (ทำ-มะ) รากศัพท์มาจาก ธรฺ (ธาตุ = ทรงไว้) + รมฺม (ปัจจัย) ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (ธรฺ > ) และ ต้นปัจจัย (รมฺม > มฺม)

: ธรฺ > + รมฺม > มฺม : + มฺม = ธมฺม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “กรรมที่ทรงไว้ซึ่งความดีทุกอย่าง” (หมายถึงบุญ)

(2) “สภาวะที่ทรงผู้ดำรงตนไว้มิให้ตกไปในอบายและวัฏทุกข์” (หมายถึงคุณธรรมทั่วไปตลอดจนถึงโลกุตรธรรม)

(3) “สภาวะที่ทรงไว้ซึ่งสัตว์ผู้บรรลุมรรคเป็นต้นมิให้ตกไปในอบาย” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

(4) “สภาวะที่ทรงลักษณะของตนไว้ หรืออันปัจจัยทั้งหลายทรงไว้” (หมายถึงสภาพหรือสัจธรรมทั่วไป)

(5) “สภาวะอันพระอริยะมีโสดาบันเป็นต้นทรงไว้ ปุถุชนทรงไว้ไม่ได้” (หมายถึงโลกุตรธรรม คือมรรคผล)

คำแปลตามศัพท์ที่เป็นกลางๆ “ธมฺม” คือ “สภาพที่ทรงไว้

บาลี “ธมฺม” สันสกฤตเป็น “ธรฺม” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “ธรรม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “ธรรม” ไว้ดังนี้ –

(1) คุณความดี เช่น เป็นคนมีธรรมะ เป็นคนมีศีลมีธรรม

(2) คําสั่งสอนในศาสนา เช่น แสดงธรรม ฟังธรรม ธรรมะของพระพุทธเจ้า

(3) หลักประพฤติปฏิบัติในศาสนา เช่น ปฏิบัติธรรม ประพฤติธรรม

(4) ความจริง เช่น ได้ดวงตาเห็นธรรม

(5) ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, เช่น ความเป็นธรรมในสังคม

(6) กฎ, กฎเกณฑ์, เช่น ธรรมะแห่งหมู่คณะ

(7) กฎหมาย เช่น ธรรมะระหว่างประเทศ

(8) สิ่งของ เช่น เครื่องไทยธรรม

ธรรม” ในที่นี้ความหมายเน้นหนักตามข้อ (1) ถึง (6)

(๒) “จาริก

บาลีอ่านว่า จา-ริ-กะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, ดำเนินไป) + ณิก ปัจจัย, ลบ (ณิก > อิก), ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ -(รฺ) ต้นธาตุตามอำนาจของปัจจัยเนื่องด้วย เป็น อา (– > จา-)

: จรฺ + ณิก > อิก = จริก > จาริก แปลตามศัพท์ว่า “ท่องเที่ยวไป” หมายถึง ท่องเที่ยวไป, ดำเนินชีวิต, ไป, ประพฤติ (wandering wandering about, living, going, behaving)

ในภาษาบาลี “จาริก” มักใช้ควบกับคำกริยา “จรติ” (จะ-ระ-ติ = ท่องเที่ยวไป) เป็น “จาริกํ จรติ” (จา-ริ-กัง จะ-ระ-ติ) แปลว่า เที่ยวจาริกไป (to go on alms-pilgrimage)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จาริก : (คำนาม) ผู้ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น. (คำกริยา) ท่องเที่ยวไปเพื่อสั่งสอนหรือแสวงบุญเป็นต้น.”

ธรรม + จาริก = ธรรมจาริก แปลว่า “ท่องเที่ยวไปเพื่อประกาศธรรม

อภิปราย :

ธรรมจาริก” เขียนกลับเป็นบาลีว่า “ธมฺมจาริก” อ่านว่า ทำ-มะ-จา-ริ-กะ ตรวจดูในคัมภีร์บาลียังไม่พบคำนี้

พระไตรปิฎกและอรรถกถาแปลชุด 91 เล่ม เล่ม 73 อันเป็นเล่มที่ว่าด้วยคัมภีร์พุทธวงศ์ มีคำแปลเป็นภาษาไทยในหน้า 52 ตอนหนึ่งว่า –

…………..

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย

พวกเธอเมื่อบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

จงแยกกันไปเที่ยวธรรมจาริก

แก่มนุษย์ทั้งหลายตลอดแผ่นดินผืนนี้

…………..

คำแปลนี้มีคำว่า “ธรรมจาริก” เมื่อค้นดูในฉบับภาษาลีคือคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินี พบว่าข้อความที่แปลมานั้น ต้นฉบับภาษาบาลีหน้า 35 เป็นดังนี้ –

…………..

ปรตฺถํ จตฺตโน อตฺถํ

กโรนฺตา ปฐวึ อิมํ

พฺยาหรนฺตา มนุสฺสานํ

ธมฺมํ จรถ ภิกฺขโว.

…………..

คำแปลที่ว่า “เที่ยวธรรมจาริก” แปลมาจากคำบาลีว่า “ธมฺมํ จรถ

เป็นอันว่าไม่มีคำบาลีว่า “ธมฺมจาริก” ตรงๆ

ข้อความภาษาบาลีในคัมภีร์มธุรัตถวิลาสินีที่ยกมานั้น พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “ธรรมทูต” แปลไว้เป็นอีกสำนวนหนึ่ง ดังนี้ –

…………..

ภิกษุทั้งหลาย

พวกเธอ เมื่อจะบำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่น

จงแยกย้ายกันเที่ยวจาริก

นำธรรมไปให้แก่มนุษย์ทั้งหลาย ตลอดทั่วแผ่นดินผืนนี้

…………..

มีหลายท่านให้ความเห็นว่า “ธรรมจาริก” เป็นคำที่ใช้เรียกแทนคำว่า “ธรรมทูต” กล่าวคือในบางท้องถิ่นมีพระธรรมทูตไปทำงานอยู่ก่อนแล้ว ภายหลังมีพระอีกส่วนหนึ่งซึ่งมีสังกัดหรือที่มาต่างกัน ไปทำงานเช่นเดียวกันนั้น จึงเรียกชื่อให้ต่างออกไปว่า พระธรรมจาริก

บางความเห็นบอกว่า ถ้าไปทำงานประกาศพระศาสนาในต่างประเทศ เรียกว่า “ธรรมทูต” แต่ถ้าเดินทางไปประกาศพระศาสนาภายในประเทศ เรียกว่า “ธรรมจาริก” แต่นี่ก็เป็นเพียงความเห็นเท่านั้น ผู้เขียนบาลีวันละคำยังไม่เคยเห็นคำจำกัดความที่เป็นทางการอย่างแน่นอนชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ทั้ง “ธรรมจาริก” และ “ธรรมทูต” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

…………..

ดูก่อนภราดา!

จรถะ จาริกัง ฟังออกหรือไม่

จงเที่ยวไปเพื่อประกาศพระศาสนา

คือประกาศพระธรรมวินัยให้ปัญญา

อย่าเพียงแต่ปลูกศรัทธาเพื่อไทยธรรม

#บาลีวันละคำ (2,781)

23-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย