บาลีวันละคำ

โมหจริต (บาลีวันละคำ 2,780)

โมหจริต

ไม่ใช่เข้าใจผิดเป็นครั้งคราว

อ่านว่า โม-หะ-จะ-หฺริด

ประกอบด้วยคำว่า โมห + จริต

(๑) “โมห

บาลีอ่านว่า โม-หะ รากศัพท์มาจาก มุหฺ (ธาตุ = หลงลืม) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อุ ที่ มุ-(หฺ) เป็น โอ (มุหฺ > โมห)

: มุหฺ + = มุหณ > มุห > โมห แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่หลงเอง” (คือตัวของมันหลงเอง ไม่มีอะไรมาทำให้หลง) (2) “ภาวะเป็นเหตุหลงแห่งสัมปยุตธรรม” (คือเมื่อมันเข้าไปผสมกับอะไรก็ทำให้สิ่งนั้นเกิดอาการหลง)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “โมห” ว่า stupidity, dullness of mind & soul, delusion, bewilderment, infatuation (ความโง่, ความหลงและความลืม, ความเข้าใจผิด, ความงงงวย, ความหลงใหล)

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายของ “โมห” ไว้ดังนี้ –

โมห : (คำนาม) การสิ้นสติสมฤดี; อวิทยา; ทุกข์; ความผิด, มิถยามติ; สัมโมหะหรือความยุ่งใจ; fainting or loss of sense; ignorance or folly; pain or affliction; error, mistake; bewilderment or mental confusion.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โมห-, โมหะ : (คำนาม) ความหลง, ความเขลา, ความโง่, ที่ใช้ว่า โม่ห์ หรือ เมาห์ ก็มี. (ป., ส.).”

(๒) “จริต

บาลีอ่านว่า จะ-ริ-ตะ รากศัพท์มาจาก จรฺ (ธาตุ = ประพฤติ, เที่ยวไป) + ปัจจัย, ลง อิ อาคมระหว่างธาตุกับปัจจัย (จรฺ + อิ + )

: จรฺ + อิ + = จริต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาประพฤติแล้ว

จริต” ถ้าใช้เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์) หมายถึง การกระทำ, ความประพฤติ, การอยู่ (action, behaviour, living)

ถ้าใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง ไป, เคลื่อนที่, เที่ยวไป, จริต, ประพฤติ (going, moving, being like, behaving)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

จริต : (คำนาม) ความประพฤติ, กิริยาหรืออาการ, เช่น เสียจริต วิกลจริต, มักใช้ในทางไม่ดี เช่น ดัดจริต มีจริต, จริตจะก้าน ก็ว่า, ความประพฤติปรกติ, ความประพฤติที่หนักไปทางใดทางหนึ่ง อันเป็นปรกติอยู่ในสันดาน, แนวโน้มของจิตใจ, มี ๖ อย่าง คือ ราคจริต โทสจริต โมหจริต สัทธาจริต พุทธิจริต วิตกจริต. (ป.).”

โมห + จริต = โมหจริต อ่านแบบบาลีว่า โม-หะ-จะ-ริ-ตะ แปลตามศัพท์ว่า “ประพฤติด้วยความหลง

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต แปล “โมหจริต” เป็นอังกฤษว่า the unintelligent; the ignorant; one whose habit is infatuation; a man of foolish habits; the stupid- or dullnatured; one of deluded temperament.

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “โมหจริต” บอกไว้ว่า –

โมหจริต : พื้นนิสัยที่หนักในโมหะ โง่เขลางมงาย พึงแก้ด้วยให้มีการเรียน การถาม การฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู.

…………..

พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [262] จริต หรือ จริยา 6 บอกไว้ว่า –

โมหจริต : ผู้มีโมหะเป็นความประพฤติปกติ, ประพฤติหนักไปทางเขลา เหงาซึม เงื่องงง งมงาย (Moha-carita: one of deluded temperament) กรรมฐานที่เกื้อกูล คือ อานาปานสติ และพึงแก้ด้วยมีการเรียน ถาม ฟังธรรม สนทนาธรรมตามกาล หรืออยู่กับครู

…………..

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำว่า “โมหจริต” ไว้

น่าสังเกตว่า พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “โทสะ” แต่ไม่มีคำว่า “โทสจริต” ครั้นปรับปรุงเป็นพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็ได้เก็บคำว่า “โทสจริต” ไว้แล้ว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 มีคำว่า “โมหะ” แต่ไม่มีคำว่า “โมหจริต” เช่นเดียวกัน พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “โทสจริต” เพิ่มขึ้นได้ แต่ทำไมจึงไม่เก็บคำว่า “โมหจริต” เพิ่มขึ้นด้วยทั้งๆ ที่เป็นคำในชุดเดียวกัน?

…………..

ลักษณะของคนโมหจริต :

ลักษณะนิสัย คนโมหจริตเป็นคนเฉื่อยชา มึนซึม หนักไปในทางฟุ้งซ่าน และติดจะรั้นๆ ใครชักชวนให้ทำอะไรมักตัดสินใจยาก

ท่าทางการเดินของคนโมหจริตเดินเงอะงะ อย่างที่เรียกว่าซุ่มซ่าม วางเท้ายกเท้ามีอาการเหมือนคอยหวาดระแวง กลัวๆ กล้าๆ แต่งตัวก็มักรุ่มร่าม เวลานั่งหรือยืนมักเหม่อลอย

คนโมหจริตทำอะไรมักรุ่มร่าม เช่นเวลานอน จัดที่นอนไม่เป็นรูปเป็นร่าง ท่านอนก็เก้งก้าง ชอบนอนคว่ำหน้าเป็นส่วนมาก ถ้าถูกปลุกให้ลุกก็จะทำเสียงงึมงำเหมือนคนละเมอ ลุกก็อืดอาด

เวลาทำงาน เช่นกวาดพื้น คนโมหจริตจับไม้กวาดหลวมเหมือนจะหลุดมืออยู่ร่ำไป กวาดเปะปะ สะอาดมั่งไม่สะอาดมั่ง เอาแน่นอนไม่ได้

งานอื่นๆ คนโมหจริตทำไม่ละเอียด (งานละเอียดทำไม่ได้) งานมักยุ่งเหยิง ทำแล้วกลับมาทำซ้ำ ไม่รู้จักเสร็จ

อาหารการกิน คนโมหจริตไม่มีรสนิยมในการกิน จะว่าชอบอะไรหรือไม่ขอบอะไรก็บอกยาก ตักข้าวคำเล็กๆ แต่มักเรี่ยราดเลอะเทอะ อย่างที่คำเก่าเรียกว่า “กินข้าวหก” กินไปคิดนั่นนี่โน่นไป

คนโมหจริตไม่มีรสนิยมของตัวเองในเรื่องงานศิลปะ ใครว่าดีก็ว่าตาม ใครว่าไม่ดีก็ว่าตาม ถามอะไรก็บอกแต่ว่า “ไม่มีความเห็น” แต่เนื้อแท้ก็คือไม่รู้ว่าจะแสดงความเห็นอย่างไรนั่นแหละ

(เก็บความจากคัมภีร์วิสุทธิมรรค ภาค 1 กัมมฐานคหณนิเทส)

…………..

อภิปรายขยายความ :

โมหจริต” มีความหมายต่างจาก “โมหะ

โมหจริต” เป็นพื้นนิสัยของคน

โมหะ” เป็นอาการหลงใหลที่เกิดเป็นครั้งคราวในบางเรื่องบางกรณี

เห็นคนบางคนเกิดอาการหลงผิดหรือเข้าใจผิดในบางเรื่อง เราพูดได้ว่า “เมื่อไรจะเลิกโมหะเสียที”

แต่จะพูดว่า “เมื่อไรจะเลิกโมหจริตเสียที” ดังนี้หาได้ไม่

เพราะ “โมหจริต” เป็นพื้นอารมณ์หรือลักษณะนิสัย หรือบุคลิกประจำตัว ไม่ใช่อาการที่เกิดขึ้นเป็นครั้งคราว ส่วน “โมหะ” เป็นอาการหลงผิดเข้าใจผิดในบางเรื่อง เกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น เมื่อได้รู้ข้อเท็จจริงก็หายโง่ในเรื่องนั้นๆ

ปุถุชนย่อมเกิดโมหะคือหลงผิดเข้าใจผิดในบางเรื่องกันทุกคน แต่ไม่ได้เป็นคนโมหจริตกันทุกคน บางคนเท่านั้นที่เป็นคน “โมหจริต

คนหลงผิดทุกคน เราพูดได้ว่าเขาเกิดโมหะ

แต่คนเกิดโมหะไม่ใช่คนโมหจริตหมดทุกคน

อนึ่ง คำในชุดนี้ คือ “ราคจริต” “โทสจริต” และ “โมหจริต” เวลาเขียนไม่ต้องใส่สระ อะ กลางคำ

ราคจริต” “โทสจริต” “โมหจริต” – เขียนถูก ให้เขียนแบบนี้

ราคะจริต” “โทสะจริต” “โมหะจริต” – เขียนผิด อย่าเขียนแบบนี้

โปรดใช้คำให้ถูก ถ้าเคยพูดผิดเขียนผิด จงแก้ไขเสียให้ถูก แต่ไม่ควรอธิบายผิดให้กลายเป็นถูก

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รู้ตัวว่าโง่ ยังมีโอกาสโผล่ขึ้นเป็นบัณฑิต

: ยอมรับว่าทำผิด ยังมีโอกาสทำงานแก้ตัว

#บาลีวันละคำ (2,780)

22-1-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *