บาลีวันละคำ

ฌานวิสัย (บาลีวันละคำ 2,795)

ฌานวิสัย

อจินไตยข้อที่สอง

อ่านว่า ชาน-นะ-วิ-ไส

ประกอบด้วยคำว่า ฌาน + วิสัย

(๑) “ฌาน

บาลีอ่านว่า ชา-นะ รากศัพท์มาจาก –

(1) เฌ (ธาตุ = คิด) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), แปลง เฌ เป็น ฌา

: เฌ + ยุ > อน = เฌน > ฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ความคิด

(2) ฌาปฺ (ธาตุ = เผา, ทำให้ไหม้) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะนะ), ลบที่สุดธาตุ (ฌาปฺ > ฌา)

: ฌาปฺ + ยุ > อน = ฌาปน > ฌาน แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมชาตที่เผาข้าศึกคือนิวรณ์

ฌาน” หมายถึง ความคิด, ความเพ่ง (ซึ่งเมื่อมีกำลังเต็มที่จะมีพลังเหมือนไฟที่สามารถเผาอารมณ์ที่เป็นข้าศึกแก่กุศลให้มอดไหม้ได้ ทำให้จิตดิ่งนิ่งสงบควรแก่การที่จะเจริญปัญญาต่อไป)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกความหมายของ “ฌาน” ไว้ว่า –

ฌาน : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์, การเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ, เรียกลักษณะการทําจิตให้สงบตามหลักทางศาสนาว่า เข้าฌาน เช่น พระเข้าฌาน ฤษีเข้าฌาน, โดยปริยายหมายถึงนั่งหลับหรือนั่งเหม่อใจลอยไม่รับรู้อะไร เรียกว่า เข้าฌาน, ฌานนั้นจัดเป็น ๔ ชั้น เรียกชื่อตามลําดับที่ประณีตขึ้นไปกว่ากัน คือ ปฐมฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ คือ ยังมีตรึก ซึ่งเรียกว่า วิตก มีตรอง ซึ่งเรียกว่า วิจาร เหมือนอารมณ์แห่งจิตของคนสามัญ มีปีติ คือความอิ่มใจ มีสุข คือความสบายใจอันเกิดแต่วิเวกคือความเงียบ และประกอบด้วยจิตมีอารมณ์เป็นหนึ่งลงไปซึ่งเรียกว่า เอกัคตา, ทุติยฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๒ มีองค์ ๓ คือ ละวิตกวิจารเสียได้ คงอยู่แต่ปีติและสุขอันเกิดแต่สมาธิกับเอกัคตา, ตติยฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๓ มีองค์ ๒ คือ ละปีติเสียได้ คงอยู่แต่สุขกับเอกัคตา, จตุตถฌาน ได้แก่ ฌานที่ ๔ มีองค์ ๒ เหมือนกัน ละสุขเสียได้กลายเป็นอุเบกขาคือเฉย ๆ กับเอกัคตา, ฌานทั้ง ๔ นี้จัดเป็นรูปฌาน เป็นรูปสมาบัติ มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ สงเคราะห์เข้าในรูปาวจรภูมิ. (ป.; ส. ธฺยาน).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่เหลืองเพียงว่า –

ฌาน : (คำนาม) ภาวะที่จิตสงบแน่วแน่เนื่องมาจากการเพ่งอารมณ์ หรือการเพ่งอารมณ์จนจิตแน่วแน่เป็นสมาธิ แบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ รูปฌาน กับ อรูปฌาน. (ป.; ส. ธฺยาน).”

บาลี “ฌาน” สันสกฤตเป็น “ธฺยาน

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ธฺยาน : (คำนาม) ธยาน, สมาธิ, ภาวนา, วิมรรศ์; meditation, reflection.”

(๒) “วิสัย”

บาลีเขียน “วิสย” (วิ-สะ-ยะ) รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + สิ (ธาตุ = เสพ, คบหา; ผูก, พัน) + ปัจจัย, ลบ , แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ แล้วแปลง เอ เป็น อย (สิ > เส > สย)

: วิ + สิ = วิสิ + = วิสิณ > วิสิ > วิเส > วิสย แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภูมิภาคเป็นที่เสพอาศัย” (2) “ภาวะที่ผูกอินทรีย์ไว้

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วิสย” ไว้ดังนี้ –

(1) locality, spot, region; world, realm, province, neighbourhood (ที่ตั้ง, แหล่งที่; ภูมิภาค, โลก, อาณาจักร, จังหวัด, บริเวณ)

(2) reach, sphere [of the senses], range, scope; object, characteristic, attribute (ขอบเขต, โลก [ของความรู้สึก], แนว, วง; วิสัย, ลักษณะ, คุณสมบัติ)

จับความหมายของ “วิสย > วิสัย” สั้น ๆ ว่า –

(1) ขอบเขต

(2) สิ่งที่จิตไปรับรู้เกาะเกี่ยว = อารมณ์

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

วิสย-, วิสัย : (คำนาม) ความสามารถ เช่น อยู่ในวิสัยที่จะเลี้ยงดูบุตรภรรยาได้ เป็นเรื่องเหลือวิสัยที่จะทำได้; ขอบ, เขต, เช่น คามวิสัย โคจรวิสัย อยู่ในทัศนวิสัย. (ป.).”

ฌาน + วิสย = ฌานวิสย (ชา-นะ-วิ-สะ-ยะ) แปลว่า “วิสัยแห่งฌาน” หรือ “วิสัยของผู้ได้ฌาน

ฌานวิสย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ฌานวิสัย” (ชาน-นะ-วิ-ไส) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

ฌานวิสัย” เป็นข้อหนึ่งในสิ่งที่เรียกว่า “อจินไตย

คำว่า “อจินไตย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

อจินไตย : (คำวิเศษณ์) ที่พ้นความคิด, ไม่ควรคิด, (สิ่งที่เป็นอจินไตยมีอยู่ ๔ อย่างด้วยกัน คือ พุทธวิสัยของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ๑ ฌานวิสัยของผู้ได้ฌาน ๑ วิบากแห่งกรรม ๑ ความคิดเรื่องโลก ๑). (ป. อจินฺเตยฺย; ส. อจินฺตฺย).”

เรื่องอจินไตยมาในพระไตรปิฎก คือคัมภีร์อังคุตรนิกาย จตุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม 20 ข้อ 77 ขอยกมาโดยประสงค์เพื่อเจริญปัญญา ดังนี้ –

…………..

จตฺตารีมานิ  ภิกฺขเว  อจินฺเตยฺยานิ  น  จินฺเตตพฺพานิ  ยานิ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อจินไตย 4 อย่างนี้ไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

กตมานิ  จตฺตาริ.

อจินไตย 4 คืออะไรบ้าง

พุทฺธานํ  ภิกฺขเว  พุทฺธวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

พุทธวิสัยแห่งพระพุทธทั้งหลายเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำบากเปล่า

ฌายิสฺส  ภิกฺขเว  ฌานวิสโย  อจินฺเตยฺโย  น  จินฺเตตพฺโพ  ยํ  จินฺเตนฺโต  อุมฺมาทสฺส  วิฆาตสฺส  ภาคี  อสฺส.

ฌานวิสัยแห่งผู้ได้ฌานเป็นอจินไตยไม่ควรคิด ผู้ที่คิดก็จะพึงมีส่วนแห่งความเป็นบ้า ได้รับความลำปากเปล่า

…………..

คัมภีร์มโนรถปูรณีอันเป็นอรรถกถาของอังคุตรนิกาย ขยายความคำว่า “ฌานวิสโย” ไว้ดังนี้

…………..

ฌานวิสโยติ  อภิญฺญาฌานวิสโย.

คำว่า  ฌานวิสโย ได้แก่ ฌานวิสัยในอภิญญา

ที่มา: มโนรถปูรณี ภาค 2 หน้า 534

…………..

คำว่า “อภิญญา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า

อภิญญา, อภิญญาณ : (คำนาม) “ความรู้ยิ่ง” ในพระพุทธศาสนามี ๖ อย่าง คือ ๑. อิทธิวิธิ การแสดงฤทธิ์ได้ ๒. ทิพโสต หูทิพย์ ๓. เจโตปริยญาณ ญาณรู้จักกําหนดใจผู้อื่น ๔. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ การระลึกชาติได้ ๕. ทิพจักขุ ตาทิพย์ ๖. อาสวักขยญาณ ญาณรู้จักทําอาสวะให้สิ้นไป. (ป.; ส. อภิชฺญา, อภิชฺญาน).”

ขยายความตามอัตโนมัตยาธิบายว่า ไม่ควรคิดหาคำตอบหรือคำอธิบาย เช่นว่า – ทำไมคนที่สำเร็จฌานจึงเหาะเหินเดินอากาศได้ แสดงอิทธิฤทธิ์แปลกประหลาดมหัศจรรย์ได้

ท่านไม่ได้ห้ามสงสัย ใครจะสงสัยก็ได้ เชิญสงสัยได้เต็มที่ แต่จะค้นหาคำตอบที่จุใจหรือพอใจตัวเองนั้น จะหาไม่พบ ได้คำตอบตรงนี้ ก็จะไปเจอข้อเยื้องแย้งตรงโน้น ซึ่งในที่สุดก็มักจะจบลงด้วยคำว่า “เป็นไปไม่ได้” ทั้งนี้เพราะเอาวิสัยหรือขอบเขตของผู้คิดหาคำตอบนั่นเองเป็นเกณฑ์ (อะไรที่ฉันทำไม่ได้ คนอื่นก็ต้องทำไม่ได้ด้วย)

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เหาะได้ ถ้ายังมีกิเลส

: ก็ไม่วิเศษไปกว่ามนุษย์เดินดิน

#บาลีวันละคำ (2,795)

6-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย