บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ภาระของคนเขียนกับภาระของคนอ่าน

ภาระของคนเขียนกับภาระของคนอ่าน

——————————-

ผมเขียนเรื่อง “ปัญหาเกี่ยวกับภาษาในคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา” ไปเมื่อวันก่อน (๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔) 

………………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/3702196529874057

………………………………………….

มีญาติมิตรเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเยอะ

ผมเข้าใจว่าผมเขียนไว้ชัดแล้วว่าผมสงสัยเรื่องอะไร แต่อาจจะยังมีญาติมิตรที่เข้าใจคลาดเคลื่อน เพราะฉะนั้นจึงขออนุญาตชี้แจงเล็กน้อย

เรื่องเกิดจากผมได้เห็นคำสั่งเจ้าคณะจังหวัดฉะเชิงเทรา เรื่อง แต่งตั้งผู้รักษาการแทนเจ้าอาวาสพระอารามหลวง อ่านแล้วเกิดความสงสัย ๒ ข้อ 

ผมสงสัยเฉพาะในแง่ของภาษาเท่านั้น ไม่ได้ติดใจสงสัยในแง่อื่นๆ เช่นใครมีอำนาจหน้าที่แต่งตั้งใคร หรือใครอยากจะตั้งใครให้เป็นอะไรเป็นต้น

ข้อย้ำว่า-สงสัยเฉพาะเรื่องถ้อยคำภาษาที่ใช้ในคำสั่ง 

………………………………….

๑ เป็นเหตุให้ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดโสธรวราราม วรวิหาร ว่างลง

………………………………….

ผมสงสัยว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง” หรือว่า “ตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง”

ถ้าใช้คำว่า “ตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง” 

ถามว่า ว่างจากอะไร 

ตอบว่า ว่างจากผู้ดำรงตำแหน่ง 

แต่ถ้าใช้คำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง” 

ถามว่า ว่างจากอะไร 

จะตอบอย่างไร? 

ก็คงตอบว่า “ว่างจากตำแหน่งเจ้าอาวาส” พูดเต็มๆ ว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างจากตำแหน่งเจ้าอาวาส” ซึ่งเป็นภาษาที่ฟังชอบกล 

ถ้าจะไม่ให้ฟังชอบกล ก็ต้องแปลความหมายกันใหม่ คือคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง” ต้องแปลว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสหายไปจากตำแหน่ง” หมายความว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสไม่มี” 

ตำแหน่งเจ้าอาวาสยังคงมีอยู่ แต่ในกรณีที่ยังไม่มีผู้มาดำรงตำแหน่ง เราพูดกันว่า “ตำแหน่งว่าง” 

คำว่า “ตำแหน่งว่าง” ไม่ได้แปลว่าตำแหน่งที่มีอยู่นั้นหายไป เช่นถูกยุบหรือถูกยกเลิก แต่หมายความว่า “ไม่มีผู้ดำรงตำแหน่ง”

เทียบให้เห็นชัดๆ – 

เก้าอี้ตัวหนึ่งมีคนนั่งอยู่ ก็คือ “เก้าอี้ไม่ว่าง”

ต่อมาคนที่นั่งเก้าอี้นั้นลุกออกไป

ตอนนี้เก้าอี้ตัวนั้นไม่มีคนนั่ง ก็คือ “เก้าอี้ว่าง”

เราอาจพูดได้ ๒ แบบ

แบบหนึ่ง “ตอนนี้เก้าอี้ว่างแล้ว” = “ตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง”

อีกแบบหนึ่ง “ตอนนี้คนนั่งเก้าอี้ว่างแล้ว” ซึ่งหมายความว่า “ตอนนี้คนนั่งเก้าอี้ไม่มีแล้ว” = “ผู้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส-ว่างลง”

ผมแค่อยากได้ความรู้ว่า กรณีอย่างนี้ภาษาที่เป็นทางการเขาใช้แบบไหน 

ในโพสต์นั้นผมเขียนไว้ชัดๆ แล้วว่า “ขอแรงผู้รู้หลักภาษาไทยช่วยวินิจฉัยครับ” 

………………………………….

๒ พระเทพรัตนมุนี ฉายา สุรชโย

………………………………….

ผมสงสัยว่า เวลาออกนามพระราชาคณะในที่ทั่วไป แม้แต่ในราชกิจจานุเบกษา ก็ออกแต่นามสมณศักดิ์ เช่น 

… มีพระบรมราชโองการโปรดพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ พระราชปริยัติกวี เป็น พระเทพวัชรบัณฑิต … (ประกาศพระราชทานสัญญาบัตรตั้งสมณศักดิ์ ราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๘ ตอนที่ ๒ ข ๒๗ มกราคม ๒๕๖๔)

ออกนามสมณศักดิ์แต่เพียง “พระราชปริยัติกวี” ไม่ได้ออกนามว่า “พระราชปริยัติกวี ฉายา สมฺมาปญฺโญ”

กรณีออกนามพระราชาคณะ ผมเข้าใจว่า เมื่อออกนามสมณศักดิ์ก็เป็นอันสมบูรณ์แล้วว่าหมายถึงบุคคลใด ไม่ต้องมีคำขยายใดๆ อีก ถ้ามีคำขยายก็ควรมีโดยหลักเกณฑ์ เช่นบอกชื่อเดิม ฉายา วิทยฐานะ เป็นการยืนยันตัวบุคคลให้หนักแน่นเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง เพราะนามสมณศักดิ์นั้นอาจเคยเป็นของ “บุคคลอื่น” มาก่อน จึงต้องมีคำขยายยืนยันตัวบุคคลเพื่อป้องกันความเข้าใจคลาดเคลื่อน อย่างนี้เป็นต้น คณะสงฆ์มีหลักเกณฑ์เช่นว่านี้อยู่หรือไม่

แต่ในคำสั่งนั้นออกนามว่า “พระเทพรัตนมุนี ฉายา สุรชโย” จึงสงสัยว่าท่านมีกฎเกณฑ์หรือแบบฟอร์มกำหนดไว้เช่นนั้น หรือเป็นเพียง “สำนวนของผู้ร่างคำสั่ง” หมายความจะใส่เฉพาะฉายาแบบนี้ก็ได้ จะใส่ชื่อเดิมด้วยก็ได้ จะไม่ใส่อะไรเลยบอกเฉพาะนามสมณศักดิ์เฉยๆ ก็ได้ ทั้งนี้แล้วแต่ผู้ร่างคำสั่งจะเห็นสมควร เป็นเช่นนี้ใช่ไหม สงสัยตรงนี้

ผมแค่อยากได้ความรู้ว่า กรณีอย่างนี้คณะสงฆ์มีระเบียบการออกนามสมณศักดิ์ไว้อย่างไรหรือไม่ 

ในโพสต์นั้นผมเขียนไว้ชัดๆ แล้วว่า “ขอแรงผู้รู้ระเบียบคณะสงฆ์ช่วยวินิจฉัยครับ”

————-

ผมไม่ทราบว่าคนสมัยนี้เขามีหลักเกณฑ์ในการอ่านหนังสือกันอย่างไรบ้างหรือไม่ แต่รู้สึกว่าชักจะสื่อสารกันยากขึ้นเรื่อยๆ 

เขียนไปด้วยเจตนาอย่างหนึ่ง 

อ่านออกมาเป็นอีกอย่างหนึ่ง

นึกถึงคำของผู้รู้ที่ว่าไว้เป็นทำนองว่า-เวลาพูดอะไร อย่าโทษคนฟังว่าเขาฟังไม่รู้เรื่อง แต่จงโทษตัวเราคนพูดว่าทำไมไม่พูดให้เขาฟังรู้เรื่อง 

เป็นภาระของคนเขียนที่จะต้องเขียนให้คนอ่านเข้าใจ?

ไม่ใช่ภาระของคนอ่านที่จะต้องอ่านที่เขาเขียนให้เข้าใจ?

หรือว่าเป็นภาระของทั้งสองฝ่ายที่จะต้องพยายามเข้าใจซึ่งกันและกัน?

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔

๑๐:๕๕

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *