สติสัมปชัญญะ (บาลีวันละคำ 2,798)
สติสัมปชัญญะ
ส่วนมากรู้ แต่ไม่มี
อ่านว่า สะ-ติ-สำ-ปะ-ชัน-ยะ
ประกอบด้วยคำว่า สติ + สัมปชัญญะ
(๑) “สติ”
รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > ส)
: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท”
“สติ” (อิตถีลิงค์) หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)
(๒) “สัมปชัญญะ”
เขียนแบบบาลีเป็น “สมฺปชญฺญ” (สำ-ปะ-ชัน-ยะ) รากศัพท์มาจาก สมฺปชาน + ณฺย ปัจจัย
(ก) “สมฺปชาน” (สำ-ปะ-ชา-นะ) รากศัพท์มาจาก สํ (คำอุปสรรค = พร้อมกัน, ร่วมกัน) + ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ญา (ธาตุ = รู้) + ยุ ปัจจัย, แปลงนิคหิตที่ สํ เป็น มฺ (สํ > สมฺ), แปลง ญา เป็น ชา, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: สํ + ป + ญา = สํปญา + ยุ > อน = สํปญาน > สมฺปญาน > สมฺปชาน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทั่วพร้อม”
(ข) สมฺปชาน + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ (ณฺย > ย), แปลง นฺย (คือ –น ที่ ปชาน และ ย ที่ ณฺย) เป็น ญฺญ
: สมฺปชาน + ณฺย = สมฺปชานณฺย > สมฺปชานฺย > สมฺปชญฺญ แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะของผู้รู้ทั่วพร้อม”
สมฺปชญฺญ (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ความเอาใจใส่, การพิจารณา, การพินิจพิเคราะห์, ความเข้าใจ, ความระมัดระวัง (attention, consideration, discrimination, comprehension, circumspection)
“สติ” กับ “สมฺปชญฺญ” เป็นคำคู่กัน คือเป็นคนละคำ แต่มักจะพูดคู่กัน ในภาษาไทยใช้คู่กันเป็น “สติสัมปชัญญะ”
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ไทย-อังกฤษ ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [25] บอกความหมายไว้ดังนี้ –
ธรรมมีอุปการะมาก 2: ธรรมที่เกื้อกูลในกิจหรือในการทำความดีทุกอย่าง (Bahukāra-dhamma: virtues of great assistance)
1. สติ: ความระลึกได้, นึกได้, สำนึกอยู่ไม่เผลอ (Sati: mindfulness)
2. สัมปชัญญะ: ความรู้ชัด, รู้ชัดสิ่งที่นึกได้, ตระหนัก, เข้าใจชัดตามความเป็นจริง (Sampajañña: clear comprehension)
…………..
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“สติสัมปชัญญะ : (คำนาม) ความระลึกได้และความรู้ตัว, ความรู้สึกตัวด้วยความรอบคอบ, เช่น จะทำอะไรต้องมีสติสัมปชัญญะ.”
ขยายความ :
“สติ” กับ “สัมปชัญญะ” มีลักษณะคล้ายกัน จนแทบจะเป็นอย่างเดียวกัน
ท่านเจ้าพระคุณสมเด็จพระพุทธโฆษจารย์ ฟื้น ชุตินธรมหาเถระ วัดสามพระยา เคยอธิบายเทียบกับการสวดมนต์ไว้ว่า –
“สติ” คือรู้ตัวว่าเรากำลังสวดมนต์
“สัมปชัญญะ” คือรู้ตัวว่ากำลังสวดคำว่าอะไร
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใฝ่ศึกษาวิทยาการ ช่วยทำให้รู้ทั่ว
: ฝึกสติสัมปชัญญะกำกับตัว ช่วยทำให้รู้ทัน
#บาลีวันละคำ (2,798)
9-2-63