บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

บทความเรื่อง ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด

ชี้โทษ ไม่ใช่จับผิด (๑)

——————-

เมื่อเช้า (๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓) ผมเดินออกกำลังไปทางฝั่งทหาร ข้ามสะพานธนะรัชต์ (จากใต้ไปเหนือ) แล้วลอดใต้สะพานรถไฟไปทางสโมสรนายทหาร ผ่านตรงหัวมุมก็เห็นป้ายประกาศดังภาพที่นำมาลงประกอบ

ทีแรกก็ว่าจะผ่านไปเฉยๆ ไม่อยากยุ่ง แต่แล้วก็อดไม่ได้

โปรดอ่านข้อความบนป้ายประกาศ

ผมขอคัดมาเฉพาะที่ประสงค์ดังนี้

……………………….

ประกาศปิดการจราจร

การรถไฟ จะปิดถนนลอดทางรถไฟเพื่อก่อสร้างโครงสร้างสะพานรถไฟ

ตั้งแต่วันที่ 21 มีนาคม 2563

ถึงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2564 เป็นต้นไป

ขอให้หลีกเลี่ยงการใช้เส้นทางอื่นในวันดังกล่าว

ขออภัยในความไม่สะดวก

……………………….

ข้อความตามป้ายประกาศนี้มีข้อผิดพลาด ๒ แห่ง

คงมีหลายท่านอยากจะรุมกระ-หน่ำผมว่า-อีตานี่เที่ยวจับผิดชาวบ้านเขาอีกแล้ว

เพราะฉะนั้น จับเข่าคุยกันก่อน

จับผิดกับชี้โทษเป็นการกระทำที่ดูเผินๆ แล้วคล้ายกัน แต่ไม่เหมือนกัน

“จับผิด” หมายถึง มีคนทำผิด หรือทำไม่ผิด แต่เราเห็นว่าผิด เขาปกปิดการกระทำของเขาไว้ ไม่ต้องการให้ใครเห็น ไม่ต้องการให้ใครรู้ ไม่ต้องการให้ใครเอาไปเปิดเผย แล้วเราไปเที่ยวขุดคุ้ยเอามาเปิดเผย มีเจตนาจะประจานให้เขาเสียหายหรือไม่รับความอับอาย

นั่นคือ “จับผิด”

“ชี้โทษ” หมายถึง มีคนทำผิด-อย่างน้อยก็ผิดตามความเข้าใจของเรา เขาทำโดยเปิดเผย เป็นที่รู้เห็นกันทั่วไป แทบทุกกรณีเป็นเรื่องที่โฆษณาประชาสัมพันธ์ต้องการให้มีคนรู้เห็นกันมากๆ-อย่างกรณีป้ายประกาศต่างๆ เช่นป้ายประกาศในที่นี้เป็นต้น ไม่ต้องไปเที่ยวขุดคุ้ยใดๆ เลย เห็นตำตากันอยู่ทั่วไปเป็นสาธารณะ แล้วเราหยิบข้อผิดนั้นขึ้นมาชี้ให้เห็น มีเจตนาที่จะให้เข้าใจสิ่งที่ถูกต้อง

นี่คือ “ชี้โทษ”

“จับผิด” นั้น โดยปกติแล้วท่านไม่ให้ทำ เป็นสิ่งไม่ดี จะมีบ้างบางกรณีเท่านั้นที่อาจจะทำได้ แต่ต้องรอบคอบ ข้อสำคัญต้องมีเจตนาสุจริตเป็นที่ตั้ง

ส่วน “ชี้โทษ” นั้น ท่านแนะให้ทำ และสำหรับบางคนบางสถานะท่านว่า-ต้องทำ ไม่ทำมีโทษ เช่นพระอุปัชฌาย์อาจารย์เห็นสัทธิวิหาริกอันเตวาสิกประพฤติผิด ต้องทักท้วง ต้องห้ามปราม ต้องแนะนำ ต้องสั่งสอน ต้องขนาบ

การปล่อยปละละเลยไม่ว่าจะด้วยอ้างเหตุผลใดๆ ก็ตาม ท่านอุปมาว่า-เหมือนเอาขยะมาทิ้งลงในพระศาสนา

เวลานี้เราสับสนและเข้าใจผิดเรื่องจับผิดกับชี้โทษนี้กันทั่วไปหมด คือเห็นการชี้โทษเป็นการจับผิดไปหมดทุกเรื่อง

แยกไม่เป็นเห็นไม่ถูกว่าสองอย่างนี้ต่างกันอย่างไร

หลายท่านนิยมยกพุทธภาษิตมาอ้างสนับสนุนด้วย

พุทธภาษิตที่ชอบยกขึ้นมาอ้างก็คือ

น ปเรสํ วิโลมานิ

น ปเรสํ กตากตํ

อตฺตโน ว อเวกฺเขยฺย

กตานิ อกตานิ จ.

ที่มา: ปุปผวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๔

แล้วก็สรุปกันง่ายๆ ว่า-พระพุทธเจ้าสอนว่าอย่าไปสนใจเรื่องของคนอื่น ให้สนใจเฉพาะเรื่องของตัวเอง

ส่วนมากไม่ได้ศึกษาเบื้องหลังของพุทธภาษิตบทนี้

เพราะฉะนั้น ขออนุญาตพาไปดู จะได้เลิกอ้างผิดๆ กันเสียที

ตามมานะครับ

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๕:๐๕


ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *