อิศวรนิรมิตวาท (บาลีวันละคำ 2,804)
อิศวรนิรมิตวาท
ลัทธิพระเจ้าบันดาล-หนึ่งในความเชื่อของมนุษย์
อ่านว่า อิ-สวน-นิ-ระ-มิด-ตะ-วาด
แยกคำเป็น อิศวร + นิรมิต + วาท
(๑) “อิศวร”
บาลีเป็น “อิสฺสร” (อิด-สะ-ระ) รากศัพท์มาจาก –
(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ
: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)
(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย
: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่”
(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)
: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง
“อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)
(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)
“อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้ว่า “อิสร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”
พจนานุกรมฯ บอกว่า อิสฺสร > อิสระ ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเปนเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler of the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”
พจน.54 เก็บคำว่า “อีศวร” ไว้ โดยบอกว่า อีศวร คือ “อิศวร” หมายความว่าคำหลักเขียนเป็น “อิศวร” แต่จะเขียนเป็น “อีศวร” ก็ได้ ถ้าเขียนเป็น “อีศวร” ก็ให้หมายถึง “อิศวร” นั่นเอง
ที่คำว่า “อิศวร” พจน.54 บอกไว้ว่า –
“อิศวร : (คำนาม) ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์; ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส และแผลงเป็น เอศวร เช่น นเรศวร ราเมศวร, ใช้ย่อเป็น อิศร (อ่านว่า อิสวน) ก็มี เช่น ใยยกพระธำมรงค์ สำหรับองค์อิศรราช. (เพชรมงกุฎ). (ส. อีศฺวร).”
(๒) “นิรมิต”
บาลีเป็น “นิมฺมิต” (นิม-มิ-ตะ) รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + มา (ธาตุ = วัด, กะประมาณ) + ต ปัจจัย, ซ้อน มฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + มฺ + มา), แปลง อา ที่ มา เป็น อิ (มา > มิ)
: นิ + มฺ + มา = นิมฺมา + ต = นิมฺมาต > นิมฺมิต แปลตามศัพท์ว่า “อันเขาวัดเอาไว้”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิมฺมิต” ว่า measured out, planned, laid out; created [by supernatural power, iddhi]; measured, stately (วัดเอาไว้, กะแผน, วางแผน; เนรมิต [โดยอิทธิฤทธิ์]; สร้างสรรค์, ดลบันดาล)
บาลี “นิมฺมิต” สันสกฤตเป็น “นิรฺมิต” ในที่นี้เขียนอิงสันสกฤตเป็น “นิรมิต”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิรมิต : (คำกริยา) นิมิต, เนรมิต, สร้าง, แปลง, ทํา, บันดาลให้เป็นขึ้นมีขึ้น. (ส. นิรฺมิต; ป. นิมฺมิต).”
(๓) “วาท”
บาลีอ่านว่า วา-ทะ รากศัพท์มาจาก วทฺ (ธาตุ = พูด, กล่าว) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ (ยืดเสียง) อะ ที่ ว-(ทฺ) เป็น อา (วทฺ > วาทฺ)
: วทฺ + ณ = วทณ > วท > วาท (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “คำเป็นเครื่องพูด”
คำว่า “วาท” ที่ใช้ในภาษาบาลีมีความหมายมากกว่าที่เราเข้าใจกันในภาษาไทย กล่าวคือ :
(1) การพูด, คำพูด, การคุย (speaking, speech, talk)
(2) สิ่งที่พูดกัน, ชื่อเสียง, คุณสมบัติ, ลักษณะพิเศษ (what is said, reputation, attribute, characteristic)
(3) การสนทนา, การทะเลาะกัน, การโต้เถียง, ความขัดแย้ง, การคัดค้าน (discussion, disputation, argument, controversy, dispute)
(4) คำสอน, ทฤษฎี, ความเชื่อ, หลักความเชื่อ, ลัทธิ, นิกาย (doctrine, theory put forth, creed, belief, school, sect)
ในที่นี้ “วาท” มีความหมายตามข้อ (4)
การประสมคำ :
๑ อิสฺสร + นิมฺมิต = อิสฺสรนิมฺมิต แปลว่า “พระผู้เป็นเจ้านิรมิต”
๒ อิสฺสรนิมฺมิต + วาท = อิสฺสรนิมฺมิตวาท (อิด-สะ-ระ-นิม-มิ-ตะ-วา-ทะ) แปลว่า “ลัทธิที่เชื่อว่าผลทุกอย่างที่มนุษย์ได้รับในชาตินี้เกิดจากการบันดาลของพระผู้เป็นเจ้า”
“อิสฺสรนิมฺมิตวาท” ในที่นี้ใช้เป็น “อิศวรนิรมิตวาท”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ข้อ [101] ขยายความไว้ดังนี้ –
อิสสรนิมมานเหตุวาท : ลัทธิพระเป็นเจ้า คือ พวกที่ถือว่า สิ่งใดก็ตามที่ได้ประสบ จะเป็นสุขก็ตาม ทุกข์ก็ตาม มิใช่สุขมิใช่ทุกข์ก็ตาม ล้วนเป็นเพราะการบันดาลของเทพผู้ยิ่งใหญ่ — Issarakaraṇavāda: a determinist theory that whatever is experienced is due to the creation of a Supreme Being; theistic determinism) เรียกสั้นๆ ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมยังบอกด้วยว่า “อิศวรนิรมิตวาท” เป็นหนึ่งในลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 ลัทธิ ที่บาลีเรียกว่า “ติตถายตนะ” แปลว่า แดนเกิดลัทธิ, ชุมนุมหรือประมวลแห่งลัทธิ (Titthāyatana: beliefs of other sects; grounds of sectarian tenets; spheres of wrong views; non-Buddhist beliefs)
ลัทธินอกพระพุทธศาสนา 3 ลัทธิดังกล่าวนี้ คือ –
1. ปุพเพกตเหตุวาท ลัทธิกรรมเก่า เรียกสั้นๆ ว่า บุพเพกตวาท
2. อิสสรนิมมานเหตุวาท ลัทธิพระเป็นเจ้าบันดาล เรียกสั้นๆ ว่า อิศวรกรณวาท หรือ อิศวรนิรมิตวาท
3. อเหตุอปัจจัยวาท ลัทธิเสี่ยงโชค เรียกสั้นๆ ว่า อเหตุวาท
…………..
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอแปลชื่อลัทธิทั้ง 3 เป็นไทยดังนี้ –
1. ปุพเพกตเหตุวาท หรือ “บุพเพกตวาท” = ลัทธิกรรมเก่า
2. อิสสรนิมมานเหตุวาท หรือ “อิศวรนิรมิตวาท” = ลัทธิพระเจ้าบันดาล
3. อเหตุอปัจจัยวาท หรือ “อเหตุวาท” = ลัทธิหาตัวการไม่ได้
…………..
ดูก่อนภราดา!
เทวา น อิสฺสนฺติ ปุริสปรกฺกมสฺส.
(เทวา นะ อิสสันติ ปุริสะปะรักกะมัสสะ)
: คนที่มีความบากบั่น
: ต่อให้เทพก็เกียดกันไม่ได้
(จอมเทพกล่าวไว้เองในจุลลกาลิงคชาดก จตุกนิบาต
พระไตรปิฎกเล่ม 28 ข้อ 505)
#บาลีวันละคำ (2,804)
15-2-63