ชินบัญชร (บาลีวันละคำ 2,813)
ชินบัญชร
อ่านว่า ชิน-นะ-บัน-ชอน
ประกอบด้วยคำว่า ชิน + บัญชร
(๑) “ชิน”
บาลีอ่านว่า ชิ-นะ รากศัพท์มาจาก ชิ (ธาตุ = ชนะ) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ)
: ชิ + ยุ > อน = ชิน แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้ชนะ” (2) “ผู้ชนะบาปอกุศลธรรม” หมายถึง พิชิต, มีชัย (conquering, victorious)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ระบุไว้ว่า often of the Buddha, “Victor” (มักใช้เป็นพระคุณนามของพระพุทธเจ้า มีความหมายว่า “พระผู้มีชัย”)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ชิน– ๔ : (คำนาม) ผู้ชนะ, พระพุทธเจ้า, ใช้ประกอบกับคําอื่นเป็น ชินวร ชิเนนทร์ หมายความว่า พระพุทธเจ้า. (ป., ส.).”
(๒) “บัญชร”
บาลีเป็น “ปญฺชร” (ปัน-ชะ-ระ) รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + ชรฺ (ธาตุ = ถึงความเสื่อม, แก่) + อ ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมระหว่างอุปสรรคกับธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น ญฺ (ป + อํ = ปํ > ปญฺ + ชรฺ)
: ป + อํ = ปํ > ปญฺ + ชรฺ = ปญฺชรฺ + อ = ปญฺชร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ถึงความเสื่อมไปตามปกติ”
“ปญฺชร” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) ร่างกาย (the body)
(2) ซี่โครง (the skeleton)
(3) กรง (a cage)
(4) ช่อง (slit)
บาลี “ปญฺชร” สันสกฤตก็เป็น “ปญฺชร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ปญฺชร : (คำนาม) ‘ปัญชร, บัญชร,’ กัญกาลหรือกระดูกร่างกาย, ‘โครงร่าง’ ก็เรียก; กรงนก; กุฏิ์นกพิลาป; ซี่โครง; ร่าง, กาย; กลิยุค; ผู้ผอมเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก; the skeleton; a cage, an aviary, a dove-cot; the ribs; the body; the Kaliyuga or Kaliyug; a skeleton, a very lean person.”
บาลี “ปญฺชร” ในภาษาไทยใชเป็น “บัญชร” (บัน-ชอน) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“บัญชร : (คำนาม) กรง, ซี่กรง; (ราชาศัพท์) หน้าต่างพระที่นั่ง พระมหาปราสาท ในพระราชวัง. (ป., ส. ปญฺชร).”
ชิน + ปญฺชร = ชินปญฺชร (ชิ-นะ-ปัน-ชะ-ระ) แปลตามศัพท์ว่า “กรงแห่งพระผู้ชนะ” “กรงแห่งพระชินเจ้า” หมายถึง กรอบ หรือเกราะ หรือเครื่องป้องกันของพระพุทธเจ้า
“ชินปญฺชร” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ชินบัญชร” (ชิน-นะ-บัน-ชอน)
คำว่า “ชินบัญชร” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
จะเข้าใจความหมายของคำว่า “ชินบัญชร” หรือ “กรงแห่งพระชินเจ้า” ต้องพิจารณาบทร้อยกรองภาษาบาลีที่เรียกกันว่า “พระคาถาชินบัญชร”
“พระคาถาชินบัญชร” รจนาเป็นฉันท์ (ฉันท์ หรือ “คาถา” หมายถึงกาพย์กลอนในภาษาบาลี) เนื้อความเป็นการอัญเชิญพระพุทธเจ้าทั้ง 28 พระองค์พร้อมทั้งพระอรหันตสาวกจำนวนหนึ่งมาสถิตอยู่ที่ส่วนต่างๆ ของร่างกาย เช่น ศีรษะ ดวงตา อุระ หัวใจ แขนซ้าย-ขวาเป็นต้น ตลอดจนเบื้องหน้า เบื้องหลัง และอัญเชิญพระสูตรและพระปริตรบางบทมากางกั้นในเบื้องบนและเป็นกำแพงโดยรอบ
จินตนาการออกมาเป็นภาพ ก็คือ บุคคลผู้สาธยายพระคาถาชินบัญชรอยู่ตรงกลาง พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก พระสูตรและพระปริตรเป็นเสมือนกรงที่ป้องกันอยู่โดยรอบ สรรพภัยอันตรายมิอาจล่วงล้ำกล้ำกรายเข้ามาได้ นี่คือความหมายของ “ชินบัญชร”
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ใครรักษาสารพัดในปัฐพี
: ไม่ยอดดีเท่ารู้จักรักษาใจ
#บาลีวันละคำ (2,813)
24-2-63