บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

อิติปิโสถอยหลัง

อิติปิโสถอยหลัง

—————

ผมได้ยินคำว่า “อิติปิโสถอยหลัง” ตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ สมัยเป็นเด็กวัด นักเลงเก่าๆ นับถือกันว่าอิติปิโสถอยหลังนั้นสะเดาะกุญแจได้ 

ตอนนั้นเดาเอาเป็นเงาๆ ว่า อิติปิโสถอยหลังก็คือสวดคำหลังกลับไปหาคำหน้า 

เช่น อิติปิโส ก็สวดว่า โส ปิ ติ อิ 

ตอนนั้นได้แต่รู้สึกว่าน่าจะขลังดี แต่ไม่เคยท่อง และไม่เคยคิดจะท่องด้วย 

ตอนเป็นวัยรุ่น ผมก็ชอบคาถาอาคมอยู่เหมือนกัน ใครท่องคาถาอะไรก็แอบจำเอามาท่องบ้าง เป็นค่านิยมอย่างหนึ่งของหนุ่มบ้านนอกสมัยโน้น

บวชเณรแล้ว อยู่วัดบ้านนอก ผมก็ยังชอบคาถาอาคม หลวงลุงที่เป็นผู้ปกครองผมท่านก็ร่ายให้ฟังบ้างเป็นบางบท ผมก็จำเอาบ้าง ไม่ได้จำบ้าง เรียกว่าไม่เป็นล่ำเป็นสันหรือไม่ได้เอาจริงเอาจังอะไร 

คราวหนึ่งมีพระเกจิมาจาก “วัดแคใน นนทบุรี” – นี่เป็นชื่อที่จำได้ แต่ผมไม่รู้ว่าอยู่ที่ไหน ชื่อหลวงพ่อคง ท่านมาจำพรรษาอยู่ด้วย หลวงพ่อคงเป็นอาจารย์สัก ท่านสักให้ลูกศิษย์หลายคน ผมก็เอากับเขามั่ง ผมให้ท่านสักลงกระหม่อม เดี๋ยวนี้ก็ยังติดมองเห็นอยู่ ผมเป็นคนผมบาง ใครที่เคยเข้ามาคุยใกล้ๆ ผม คงจะเคยเห็น 

ผมยังให้ท่านสักยามอุบากอง และยันต์ทิศเทวดา-ผีหลวง ไว้กับตัวด้วย แต่สักในที่มิดชิด นุ่งห่มแล้วไม่มีใครเห็น ผมสักในฐานะเป็นของขลังของศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่สักเป็นจิตรกรรมประดับผิวกายโชว์เปิดเผยเหมือนชายหญิงสมัยนี้

เล่ามานี้เพื่อจะบอกว่า คาถาอาคมของขลังผมก็เคยสัมผัสมาบ้าง 

แต่พอเข้ามาเรียนบาลี ค่านิยมก็เปลี่ยนไป ยังคงนับถือคาถาอาคมเหมือนเดิม แต่เพิ่มความรู้ความเข้าใจและเหตุผลเข้าไปอีกด้วย 

อย่างเช่น-เริ่มคิดว่า ท่องอิติปิโสถอยหลังทำไม มีเหตุผลอะไร 

…………………

ตอนเป็นอนุศาสนาจารย์ทหารเรือแล้ว ผมไปเรียนหลักสูตรนายทหารอนุศาสนาจารย์ชั้นต้นที่กรมยุทธศึกษาทหารบก เจอนายทหารท่านหนึ่ง (ไม่ใช่อนุศาสนาจารย์) ท่านคุยเรื่องพระคาถาชินบัญชรว่าขลังอย่างนั้นอย่างนี้ ผมก็เกิดสนใจขึ้นมา 

ความจริงผมเคยได้ยินคนพูดถึงพระคาถาชินบัญชรมาก่อนแล้ว เคยอ่านผ่านตามาด้วย แต่ไม่ได้ท่อง และไม่เคยคิดจะท่อง เพราะ-ค่อนข้างยาว นั่นก็เป็นเหตุผลประกอบอย่างหนึ่งที่ไม่ท่อง 

พอได้ฟังนายทหารท่านนั้นพูด ผมก็มาคิดดูว่า นายทหารท่านนั้นไม่ได้มาจากวัด ไม่ใช่อนุศาสนาจารย์ ท่านยัง “เล่น” พระคาถาชินบัญชร เรา-ผู้มาจากวัดก็น่าจะลอง “เล่น” ดูบ้าง

ผมก็อัญเชิญพระคาถาชินบัญชรมาศึกษา แล้วก็ลองท่องดู 

แต่ผมไม่ได้ท่องตามต้นฉบับที่มีเผยแพร่กันเป็นสาธารณะไปหมดทุกถ้อยคำ คำไหนที่ผมเห็นว่าไม่น่าจะถูก ผมก็ท่องตามที่ผมเห็นว่าถูก-โดยเฉพาะอย่างยิ่ง-ถูกหลักภาษาบาลี 

อย่าง – อาสุง อานันทะราหุโล – แบบนี้ผมไม่เอา 

เพราะผมรู้ว่านี่มันผิดชัดๆ ผมรู้ด้วยว่าที่ถูกคืออย่างไร และพอจะสันนิษฐานได้ด้วยว่า-ทำไมจึงผิด

การรู้ภาษาบาลีมีประโยชน์ตรงนี้

เนื่องจากพระคาถาชินบัญชรค่อนข้างยาว เทคนิคการท่องของผมก็คือ-ท่องวันละวรรค 

พระคาถาชินบัญชรนั้นท่านรจนาเป็น “คาถา”

คำว่า “คาถา” ในภาษาบาลีหมายถึงบทกลอน มีคำเรียกอีกคำหนึ่งว่า “ฉันท์” ไม่ได้หมายถึงถ้อยคำศักดิ์สิทธิ์ที่เล่าบ่นเพื่อให้เกิดความขลังเกิดอานุภาพตามที่ต้องการ-อย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย

“คาถา” ในภาษาบาลีมีหลายรูปแบบ ทำนองเดียวกับกาพย์กลอนในภาษาไทย เป็นกลอนแปดก็มี กลอนหกก็มี เป็นโคลงสี่สุภาพก็มี เป็นกาพย์ยานีก็มี เป็นฉันท์ก็มี – ฉันใดก็ฉันนั้น

พระคาถาชินบัญชรนั้นท่านรจนาเป็น “คาถา” ชนิดที่มีชื่อเรียกว่า “ปัฐยาวัต” (อ่านว่า ปัด-ถะ-หฺยา-วัด) บทหนึ่งมี ๔ วรรค เรียกว่า “บาท” (คาถาหรือฉันท์ในภาษาบาลีไม่ว่าจะเป็นชนิดไร ปกติมีบทละ ๔ บาททั้งนั้น) 

คาถาชนิดปัฐยาวัตมีบาทละ ๘ พยางค์ -คงพอเทียบได้กับกลอนแปดของเรา- ๔ บาทก็เป็น ๓๒ พยางค์

พระคาถาชินบัญชรมีความยาวประมาณ ๑๕ บท 

บทหนึ่ง ๔ บาท (วรรค)

ผมท่องวันละ ๑ บาท 

๔ วันท่องได้ ๑ บท

ใช้เวลาท่อง ๖๐ วัน หรือ ๒ เดือน ก็จบ

ท่องจบแล้ว ผมก็หมั่นสวด 

ผมสวดมนต์ทุกวัน จึงมีโอกาสสวดพระคาถาชินบัญชรทุกวัน 

ตั้งแต่ท่องจบ มาถึงวันนี้เป็นเวลาเกือบ ๔๐ ปี

ผมสวดพระคาถาชินบัญชรโดยไม่ต้องกางหนังสืออ่าน 

และสวดได้ทุกที่ ทุกเวลา แม้แต่กำลังเดินออกกำลังตอนเช้าๆ

ต่างจากท่านที่กางหนังสืออ่าน (แต่เรียกกันว่า “สวด”) ท่านกางหนังสืออ่านพระคาถาชินบัญชรเมื่อ ๔๐ ปีที่แล้ว 

จนถึงวันนี้ ท่านก็ยังคงต้องกางหนังสืออ่านอยู่ และอ่านได้เฉพาะที่ที่มีแสงสว่างพอ คืออ่านได้เป็นบางที่และบางเวลา

เขียนมาตั้งแต่ต้น เจตนาก็อยู่ตรงนี้-ตรงที่จะชวนให้คิดว่า-สวดมนต์ ทำไมจะมามัวกางหนังสืออ่านกันอยู่?

…………………

คำว่า “สวดมนต์” นั้น ความหมายคือสวดสาธยายทบทวนความรู้ (มนต์ = ความรู้)

เริ่มแรก ความรู้อยู่ในหนังสือ-คือตำรา 

เราอ่านหนังสือก็เพื่อถ่ายเอาความรู้มาไว้ในใจเรา 

เมื่อความรู้อยู่ในใจเราแล้ว เพื่อไม่ให้ลืม เราก็เอาความรู้นั้นมาสาธยาย (สาธยาย แปลว่า “สวด”) 

นั่นคือ เราต้องมี “ความรู้” อยู่ในใจ แล้วก็ทบทวนความรู้นั้นเพื่อไม่ให้เลอะเลือน และเพื่อให้แม่นยำ 

การสวดมนต์ในพระพุทธศาสนามีเจตนารมณ์ดั้งเดิมอยู่ตรงนี้-คือทบทวนความรู้

เวลานี้เราฝากบทสวดมนต์ไว้ในหนังสือ ไม่ได้ถ่ายมาไว้ในใจ พอกางหนังสืออ่านจบ-ซึ่งเราพากันเรียกผิดๆ ว่า “สวดมนต์”- บทสวดมนต์ก็ยังคงอยู่ในหนังสือตามเดิม ในใจเราก็ว่างเปล่าเหมือนเดิม 

เวลานี้เป็นอย่างนี้กันไปหมดทุกสังคม ทุกระดับ – ขอประทานโทษ แม้แต่ชาววัด คือ ไม่ท่อง แต่กางหนังสืออ่าน 

พระสมัยก่อน ทำวัตรสวดมนต์เอาหนังสือไปกาง ถือว่าขี้เกียจ “ขี้เต็มถาน เจ็ดตำนานไม่จบ” – ถูกปรามาสถึงขนาดนี้ 

แต่เวลานี้ ทำวัตรสวดมนต์ถือหนังสือไปด้วย เป็นสัญลักษณ์แห่งความขยัน ไปมือเปล่าถูกมองว่าไม่ตั้งใจ ไม่จริงจังจริงใจ 

โลกกลับตาลปัตร ผิดเป็นถูก ถูกกลายเป็นผิด

เวลานี้ใครจะมาบอกว่า กางหนังสืออ่านไม่ใช่สวดมนต์ เป็นต้องโดนแย้งโดนเถียง อาจจะถูกชี้หน้าว่าเป็นมิจฉาทิฐิเอาด้วยซ้ำ เพราะเราทำอย่างนี้กันทุกสังคมและทุกระดับ ทำกันทั้งบ้านทั้งเมือง 

ต้องขออภัยญาติมิตรทั้งหลายและท่านทั้งปวงที่สวดมนต์ด้วยวิธีกางหนังสืออ่าน 

ผมไม่มีเจตนาจะทำให้ท่านไม่สบายใจ เพียงแต่เสนอแนวคิด วิธีคิด และวิธีทำ 

ถ้าท่านถนัดแบบนั้น พอใจจะทำแบบนั้น ก็โปรดทำต่อไปด้วยความสบายใจ อย่ากังวลใดๆ ทั้งสิ้น

ท่านไม่จำเป็นต้องเห็นด้วยกับผม-ที่บอกว่าควรจะท่องจำแล้วสวดมนต์ออกมาจากความจำ คือจากใจ ผมเข้าใจดีอย่างยิ่งว่าเหตุผลของท่านคือ-ท่านต้องยุ่งอยู่กับภารกิจ ไม่มีเวลาท่อง อยากท่องเหมือนกัน แต่-ขอโทษที ไม่มีเวลา ทำไม่ได้จริงๆ 

…………………

เขียนมาจนจะจบ ไม่เห็นจะเกี่ยวกับชื่อเรื่อง-อิติปิโสถอยหลัง

กำลังจะเกี่ยวอยู่เดี๋ยวนี้แล้วครับ 

คือเมื่อราวๆ ปีที่แล้ว ผมก็มานึกถึง “อิติปิโสถอยหลัง” คิดใคร่ครวญหาเหตุผลว่า คนเก่าท่านท่องถอยหลังทำไม ท่องแล้วดีอย่างไร 

ผมไม่ได้คิดในแง่ขลัง แต่คิดในแง่คุณ 

คนโบราณจะมีเหตุผลอย่างไร ผมไม่รู้ แต่ผมเห็นคุณอย่างหนึ่ง นั่นคือ-การออกกำลังสัญญา 

“สัญญา” เป็นส่วนประกอบอย่างหนึ่ง- ๑ ใน ๕ ที่ประกอบอยู่ในชีวิตคน (รูป เวทนา “สัญญา” สังขาร วิญญาณ) 

“สัญญา” แปลว่า ความจำได้หมายรู้

การออกกำลังสัญญา-หมายถึง ฝึกให้สัญญาทำงานพิเศษ 

อุปกรณ์การฝึกคือ สติ

สิ่งที่ถูกฝึกคือ สัญญา

แบบฝึกหัดคือ “อิติปิโสถอยหลัง”

ว่าแล้วผมก็ลงมือท่อง “อิติปิโสถอยหลัง” 

ไม่ใช่ท่อง “อิติปิโส” แล้วก็เดินถอยหลังนะครับ นั่นมันตลกเอาไปล้อเล่น

คือท่องตั้งแต่คำปลายย้อนขึ้นมาหาคำต้น 

ติ วา คะ ภะ โธ พุท นัง สา …..ฯลฯ ….. โส ปิ ติ อิ

เริ่มท่องนี่สับสนอลเวงสุดๆ เลยครับ เหมือนม้าพยศไม่เคยขี่ 

ตกแล้วขึ้นใหม่

ตกอีก ขึ้นอีก 

สัญญาร้อนฉ่า 

ไม่ง่ายเลย แต่ไม่เหนือความพยายาม 

ในที่สุดผมก็ท่องจบ 

แล้วก็สวดทุกวัน

แรกๆ ก็ตะกุกตะกักบ้าง สวดไป สวดไป ก็ค่อยๆ คล่องขึ้น 

จนกระทั่งเวลานี้ สวด “อิติปิโสถอยหลัง” ได้คล่องเท่ากับอิติปิโสเดินหน้าธรรมดา

น่าประหลาดมาก ผมได้ยินและคุ้นกับคำว่า “อิติปิโสถอยหลัง” มาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ 

แต่มาลงมือท่อง “อิติปิโสถอยหลัง” เมื่ออายุจวนจะ ๘๐ 

ตอนนี้ผมชักจะมีลูกเล่น คือลองท่อง “อิติปิโสถอยหลัง” แบบถอยเป็นบทๆ 

เรารู้กันว่า “อิติปิโส” นั้นคือพระพุทธคุณ 

และเราก็รู้กันว่าพระพุทธคุณนั้นมี ๙ บท 

ผมก็ลองเอาพระพุทธคุณมา “ถอยหลัง” ทีละบท เช่น –

อิติปิโส = โส ปิ ติ อิ

ภะคะวา = วา คะ ภะ 

อะระหัง = หัง ระ อะ 

ฯลฯ 

นับอย่างไรเป็นบทหนึ่ง คือตั้งแต่คำไหนถึงคำไหนเป็นบทหนึ่ง คนไม่รู้บาลีก็จะงงหน่อย เรื่องนี้คนเรียนบาลีค่อนข้างได้เปรียบ 

ตอนนี้ผมท่อง “อิติปิโสถอยหลัง” แบบถอยทีละบทได้ค่อนข้างจะคล่องแล้ว อีกไม่นานก็คงคล่องเหมือนอิติปิโสถอยหลังธรรมดา

โครงการระยะต่อไป ผมกะว่าจะลองท่องถอยหลังไปถึงห้องพระธรรมคุณด้วย แล้วถ้าบุญพาวาสนาส่งก็จะเลยไปถึงห้องพระสังฆคุณให้บริบูรณ์ไปพร้อมกัน 

หรือว่าตอนนี้มีท่านผู้ใดก้าวหน้าไปก่อนแล้ว โปรดยกมือขึ้น

ผมว่าชาตินี้ถ้าไม่มีกรรมเก่ามาเบียดเบียน โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer) คงไม่กล้ามาถามหาผม 

มีอุตสาหะที่จะท่องสวดมนต์กันบ้างไหมครับ พี่น้องทั้งหลาย? 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๗:

—————

ภาพประกอบ: จาก google

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *