บาลีวันละคำ

โมกษะพยาน (บาลีวันละคำ 2,815)

โมกษะพยาน

คำที่พระภิกษุสามเณรต้องรู้

อ่านว่า โมก-สะ-พะ-ยาน

โมกษะ” เป็นรูปคำสันสกฤต “พยาน” เป็นคำไทย

(๑) “โมกษะ

บาลีเป็น “โมกฺข” (มีจุดใต้ กฺ) อ่านว่า โมก-ขะ รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + (อะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น (มุจฺ > โมจ >โมข), ซ้อน กฺ ระหว่าง กับ (โม + กฺ + )

: มุจฺ + = มุจ > โมจ > โมข : โม + กฺ + = โมกฺข แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่หลุดพ้น” (2) “ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นจากราคะเป็นต้น

โมกฺข” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) การเปลื้อง, ความพ้น (release, freedom from)

(2) การปลดเปลื้อง, การหลุดพ้น, การช่วยให้หลุดพ้น (release, deliverance, salvation)

(3) ปล่อย, ส่งแสง ส่งเสียง หรือส่งออก, เปล่ง [วาจา] (letting loose, emission, uttering [of speech])

ในบาลียังมี “โมกฺข” อีกความหมายหนึ่ง ใช้เป็นคุณศัพท์ รากศัพท์มาจาก มุจฺ (ธาตุ = หลุด, พ้น) + (ตะ) ปัจจัย, แผลง อุ ที่ มุ-(จฺ) เป็น โอ แล้วแปลง จฺ เป็น (มุจฺ > โมจ >โมก), แปลง เป็น

: มุจฺ + = มุจต > โมจต > โมกฺต > โมกฺข แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะที่พ้นจากความต่ำต้อยและปานกลาง” หมายถึง สูงสุด, ที่หนึ่ง, นำหน้า, เลิศ (the headmost, first, foremost)

ในที่นี้ “โมกฺข” มีความหมายตามคำแรก

บาลี “โมกฺข” สันสกฤตเป็น “โมกฺษ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

โมกฺษ : (คำนาม) บรมคติ, ความหลุดพ้นแห่งอาตมันจากร่างกาย, และพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดอีกต่อไป; มรณะ; ความพ้นทุกข์; final emancipation, the liberation of the soul from the body, and its exemption from further transmigration; death; liberation or freedom.”

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) โมกข-, โมกข์ ๑ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, นิพพาน. (ป.; ส. โมกฺษ).

(2) โมกษ-, โมกษะ : (คำนาม) ความหลุดพ้น, นิพพาน. (ส.; ป. โมกฺข).

(๒) “พยาน

เป็นคำไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

พยาน : (คำนาม) หลักฐานเครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริง, ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักฐานเครื่องพิสูจน์ได้; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลซึ่งให้การในเรื่องหรือสิ่งที่ตนได้เห็น ได้ยิน หรือได้รับรู้มาโดยวิธีอื่น. (อ. witness).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามใหม่ ตัดข้อความที่เป็นคำที่ใช้ในกฎหมายออก เหลือเพียงว่า –

พยาน : (คำนาม) หลักฐานเครื่องพิสูจน์ข้อเท็จจริง, ผู้ที่รู้เห็นเหตุการณ์หรือข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักฐานเครื่องพิสูจน์ได้. (อ. witness).

คำว่า “พยาน” บาลีใช้คำว่า “สกฺขิ” (เป็น “สกฺขี” ก็มี) อ่านว่า สัก-ขิ รากศัพท์มาจาก + อกฺขิ

(ก) “” (สะ) ในคำนี้อาจมีที่มาได้ 3 ทาง คือ –

(1) ตัดมาจากคำว่า “สก” (สะ-กะ) แปลว่า ของตน, ของตัวเอง (own)

(2) ตัดมาจากคำว่า “สห” (สะ-หะ) เป็นคำบุรพบทและอุปสรรค แปลว่า พร้อม, กับ, พร้อมด้วย

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สห” ว่า conjunction with, together, accompanied by (ต่อเนื่อง, ด้วยกัน, ติดตามด้วย)

(3) ตัดมาจากคำว่า “สํ” (สัง) คำอุปสรรค นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลอุปสรรคตัวนี้ว่า “สํ = พร้อม, กับ, ดี

สํ” มีความหมายว่า พร้อมกับ, พร้อมด้วย (together) และ พร้อมกัน, ด้วยกัน (conjunction & completeness)

(ข) “อกฺขิ” (อัก-ขิ) รากศัพท์มาจาก –

(1) อสฺ (ธาตุ = แผ่ไป) + ขิ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่ (อ)-สฺ เป็น กฺ (อสฺ > อกฺ)

: อสฺ + ขิ = อสฺขิ > อกฺขิ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่แผ่ไปคือเป็นเหมือนเอิบอาบไปในอารมณ์ทั้งหลาย

(2) อกฺข (ธาตุ = เห็น) + อิ ปัจจัย

: อกฺข + อิ = อกฺขิ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเห็น”

อกฺขิ” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง นัยน์ตา (the eye)

+ อกฺขิ = สกฺขิ (+ อี ปัจจัย = สกฺขี) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ผู้มีตาเป็นของตัวเอง” (2) “ผู้เห็นด้วยตาของตัวเอง” (3) “ผู้เห็นพร้อมกับเหตุที่เกิดขึ้น” (มีเหตุเกิดขึ้น และเห็นเหตุที่กำลังเกิดขึ้นนั้น)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลคำนี้ในความตอนหนึ่งว่า with his own eyes, as an eyewitness (ด้วยตาของเขาเอง, เป็นสักขีพยาน)

สกฺขิ (สกฺขี)” จึงหมายถึง พยาน (an eyewitness)

บาลี “สกฺขิ (สกฺขี)” ภาษาไทยใช้เป็น “สักขี

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สักขี ๑ : (คำนาม) พยานผู้รู้เห็นเหตุการณ์ด้วยตาตนเอง, มักใช้เข้าคู่กับคํา พยาน เป็น สักขีพยาน. (ป.; ส. สากฺษี).”

โมกษะ + พยาน = โมกษะพยาน เขียนแบบคำไทย แต่แปลแบบบาลีสันสกฤต คือแปลจากหลังมาหน้าว่า “พยานที่พ้น

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

โมกษะพยาน : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) พยานที่พ้นแล้ว ได้แก่ พระภิกษุหรือสามเณรในพระพุทธศาสนาซึ่งไม่จําต้องไปศาลตามหมายเรียก และแม้มาเป็นพยานก็ไม่ต้องสาบานตนก่อนเบิกความ และจะไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใด ๆ ก็ได้.”

อภิปราย :

เชื่อว่าพระภิกษุสามเณรส่วนมากไม่รู้จักคำว่า “โมกษะพยาน” คนทั่วไปก็น่าจะไม่รู้ด้วย

นี่เป็นคติอย่างหนึ่งที่น่าคิด กล่าวคือ เราเรียนเรารู้อะไรต่อมิอะไรกันมาก เรียนไปไกล แต่เรื่องใกล้ตัวหรือเรื่องสิทธิหน้าที่ของตัวเองแท้ๆ เรามักไม่รู้ หรือมองข้าม

โมกษะพยาน” เป็นคำที่พระภิกษุสามเณรควรต้องรู้ (ทั้ง “ควร” ทั้ง “ต้อง”) เพราะเกี่ยวกับสิทธิพิเศษของตนในกรณีที่ถูกอ้างหรือถูกเรียกไปเป็นพยานในศาล

สรุปสิทธิพิเศษของพระภิกษุสามเณรในพระพุทธศาสนาตามคำนิยามในพจนานุกรมฯ ก็คือ

– ไม่ต้องไปศาลตามหมายเรียกก็ได้

– ไปเป็นพยานในศาลไม่ต้องสาบานตนก่อนเบิกความ

– ไม่ยอมเบิกความหรือตอบคําถามใดๆ ก็ได้

มีบางประเด็นที่ควรหาความรู้ที่ชัดเจนต่อไป เช่น

– คำว่า “ไม่จําต้องไปศาลตามหมายเรียก” หมายถึงกรณีไหน เฉพาะถูกเรียกไปเป็นพยาน หรือรวมทั้งถูกฟ้องเป็นจำเลยด้วย

– หลักการตามที่ปรากฏในคำนิยามนี้ยังใช้อยู่จนถึงปัจจุบัน หรือว่ายกเลิกไปแล้ว

– ตามหลักการนี้มีเงื่อนไขอะไรอีกบ้างที่ควรต้องรู้

ญาติมิตรที่มีความรู้หลักกฎหมาย ถ้าจะกรุณาเข้ามาช่วยกันอธิบายเรื่องนี้ ก็จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง-โดยเฉพาะ เป็นประโยชนแก่พระภิกษุสามเณรโดยตรง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: กฎหมายยังให้เกียรติผ้ากาสาวพัสตร์

: ชาววัดต้องให้เกียรติพระธรรมวินัย

#บาลีวันละคำ (2,815)

26-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย