บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ความคิดคำนึงเรื่องความอยุติธรรมในสังคม

ความคิดคำนึงเรื่องความอยุติธรรมในสังคม

——————————————-

คำว่า “อยุติธรรม” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่มีคำหนึ่งที่มีความหมายอย่างเดียวกัน คือ “อธรรม”

คำว่า “อธรรม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายไว้ว่า 

(๑) ไม่เป็นธรรม, ไม่เที่ยงธรรม, ไม่ยุติธรรม 

(๒) ความไม่มีธรรม, ความชั่วร้าย 

ทั้งหมดนั่นคือความหมายของ “อยุติธรรม”

วาดภาพเป็นการปฏิบัติก็คือ: 

– ไม่ควรถูกกระทำเช่นนั้น ก็มาถูกกระทำ เช่นไม่ควรถูกยิงตายก็มาถูกยิง

– ควรได้รับการปฏิบัติอย่างเหมาะสม แต่กลับไม่ได้

– ควรได้สิ่งนั้น แต่ไม่ได้

– ไม่ควรได้ แต่กลับได้

– ของของตน แต่มีคนมาแย่ง มาโกง มาบังคับเอาไป

– ถูกบังคับให้ทำสิ่งที่ไม่เต็มใจทำอันไม่ใช่หน้าที่

– ถูกทำให้เข้าใจผิด เป็นเหตุให้ตัดสินใจผิดจนเกิดผลเสียต่างๆ

ฯลฯ

อาจมีบางกรณี มีองค์ประกอบแวดล้อมหรือมีรายละเอียดเบื้องหน้าเบื้องหลังเบื้องลึก ซึ่งอาจทำให้บางคนเห็นว่ายุติธรรม แต่บางคนเห็นว่าไม่ยุติธรรม นั่นก็ต้องว่ากันเป็นเรื่องๆ ไป แต่หลักๆ จะเป็นดังที่ว่ามา

ความอยุติธรรมเกิดจากใคร? 

เดินอยู่ใต้ต้นไม้ กิ่งไม้หักลงมาถูกหัว อยุติธรรมไหม?

เดินอยู่ใต้ต้นไม้ มีคนอยู่บนต้นไม้จงใจโยนกิ่งไม้ลงมาถูกหัว อยุติธรรมไหม?

บ้านอยู่ชายป่า มีไฟป่าลามมาไหม้บ้าน อยุติธรรมไหม?

บ้านอยู่ชายป่าเหมือนกัน แต่มีคนลอบวางเพลิงเผาบ้าน อยุติธรรมไหม?

จะเห็นได้ว่า ได้รับผลเหมือนกัน แต่เหตุอันเป็นที่มาของผลต่างกัน ก็เป็นเงื่อนไขให้เราเห็นว่าอยุติธรรมหรือไม่อยุติธรรม

แต่ถ้าคิดแบบคนชอบหาเรื่อง ก็อาจมองไปอีกแบบ

กิ่งไม้หักลงมาถูกหัว ก็โทษเจ้าของต้นไม้ว่าไม่ดูแลต้นไม้ 

ถ้าเป็นต้นไม้สาธารณะ ก็โทษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองว่าไม่ดูแลต้นไม้ เป็นเหตุให้เกิดอันตรายแก่ราษฎร

ไฟป่าลามมาไหม้บ้าน ก็โทษเจ้าหน้าที่บ้านเมืองว่าไม่ดูแลป่า ปล่อยปละละเลยทำให้เกิดไฟป่า-หรือปล่อยให้คนเข้าไปทำเหตุให้เกิดไฟในป่า

แต่-

ทำไมตนจึงไปอยู่ใต้ต้นไม้ 

ทำไมจึงไปปลูกบ้านอยู่ชายป่า 

ไม่พูด 

หรือถ้าจะพูด ก็พูดหาเหตุอื่นๆ แต่ไม่ใช่ตัวเองเป็นต้นเหตุ

แต่โดยทั่วไปแล้ว ผลที่เห็นชัดๆ (ไม่ต้องมองแบบหาเรื่อง) ว่าเกิดจากการกระทำอย่างจงใจของมนุษย์เท่านั้นที่เราจะยกเอามาพูดว่ายุติธรรมหรืออยุติธรรม 

สั้นๆ – อยุติธรรมเกิดจากการกระทำของมนุษย์ 

ต่อจากตรงนี้ วิธีแก้ไข วิธีจัดการ จะแตกต่างกันออกไปแล้วแต่วิธีคิดของแต่ละคน

วิธีจัดการแบบหนึ่งที่ยอมรับกันทั่วไปก็คือ แก้ด้วยระบบ คือจัดระบบหรือวางระบบให้ดี ให้รัดกุม 

ประชาธิปไตยเป็นระบบหนึ่งที่คนคิดขึ้นมาเพื่อแก้ไขความอยุติธรรม

ระบบกฎหมายก็ใช่

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น —

ในตัวประชาธิปไตยเองก็มีความอยุติธรรม

โกงเลือกตั้ง ได้เป็น ส.ส. ได้เป็นรัฐมนตรี หรือแม้แต่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

ในกระบวนการกฎหมาย-ซึ่งเราอุตส่าห์เรียกกันเสียหรูว่า “กระบวนการยุติธรรม” แท้ๆ-ก็มีความอยุติธรรม 

เราตกลงกัน-โดยหลักฎหมาย-ว่า ใครฆ่าคน ต้องติดคุกหรือต้องประหาร

ไม่ได้เกิดสงคราม ไม่ได้ทำการตามหน้าที่ ไม่ได้มีกฎหมายยกเว้น อยู่ๆ ไม่พอใจขึ้นมา ชักปืนออกมายิงคน ตาย 

แต่คนยิงยังเดินปร๋ออยู่จนทุกวันนี้ ไม่ต้องติดคุก มีถมไป

อีกวิธีหนึ่งที่คนคิดขึ้นเพื่อแก้ไขความอยุติธรรมก็คือ ใช้อำนาจจัดการกับคนที่ก่อความอยุติธรรม 

แนวคิดนี้เกิดจาก-มองเห็นว่าความอยุติธรรมเกิดจากคนหนึ่งหรือฝ่ายหนึ่งกระทำเอากับอีกคนหนึ่งหรืออีกฝ่ายหนึ่งอย่างไม่เกรงกลัวความผิด 

ถ้าเรามีอำนาจ เราก็จะสามารถปราบปรามคนที่กระทำเช่นนั้นได้ ก็จะไม่มีใครกล้าก่อความอยุติธรรม เท่ากับเป็นการสร้างความยุติธรรมให้สังคม

ดังนั้น จึงมีผู้แสวงหาอำนาจ เพื่อให้มีอำนาจ และเพื่อจะได้ใช้อำนาจตามที่ต้องการ

แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นก็คือ ผู้มีอำนาจนั่นแหละที่กลายเป็นผู้สร้างความอยุติธรรมขึ้นมาเสียเอง

จึงต้องสรุปว่า – อยุติธรรมเกิดจากการกระทำของมนุษย์ที่ไม่มีธรรม คือมนุษย์ที่ถูกกิเลสครอบงำ

กิเลสตัวหลักๆ ที่ครอบงำมนุษย์ก็คือ โลภะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง

พอพูดว่า-โลภะ โทสะ โมหะ หรือโลภ โกรธ หลง มักจะมีท่านจำพวกหนึ่งฟังอย่างดูแคลนว่าเป็นคำตื้นๆ เป็นธรรมะพื้นๆ ไม่น่าสนใจ 

ต้อง-อตัมยตา อัปปมัญญาเจตสิก ปัจจยปริคคหญาณ – นั่นจึงค่อยมีระดับหน่อย

………………..

พฤติกรรมอันเกิดจากโลภ โกรธ หลง เกิดขึ้นสร้างความอยุติธรรมเกลื่อนกลาดไปในสังคม 

เราพยายามแก้ไขกันด้วยระบบสารพัดที่จะคิดกันขึ้นมา 

แต่สิ่งที่เราไม่คิด ไม่ทำ ไม่เห็นความสำคัญ ก็คือการส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้นเตือน ให้มนุษย์ฝึกฝนอบรมตนให้โลภ โกรธ หลง เบาบางจางหายไปจากใจ

โลภ โกรธ หลง เบาบางจางหายไปจากใจมากเพียงไร พฤติกรรมที่ก่อให้เกิดความอยุติธรรมก็จะลดน้อยลงเพียงนั้น

สั้น ตรง 

แต่เราไม่ทำ 

ใครคิดทำ เชย ล้าสมัย 

นอกจากไม่ทำและดูถูกคนคิดทำแล้ว ยังลิดรอนกีดขวางด้วย 

วิชาศีลธรรมถูกถอดออกไปจากโรงเรียน 

วิชาหน้าที่พลเมืองดีถูกถอดออกไปจากโรงเรียน 

ยิ่งเรียนสูง ยิ่งเลิกพูดเรื่องศีลธรรม 

นักเรียนชั้นประถมสวดมนต์ไหว้พระก่อนเข้าชั้นเรียน 

นักศึกษามหาวิทยาลัย ไม่ต้อง ไม่มี

ใครอยากโดนด่า ลองไปเสนอให้มีดูสิ

คุณธรรม-ศีลธรรมไม่ได้อยู่ที่การสวดมนต์ก่อนเข้าชั้นเรียน – นั่นแน่! แนวร่วมมาทีเดียว

แม้แต่ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ – ผมไม่แน่ใจว่ายังสวดมนต์ก่อนเริ่มชั้นเรียนอยู่หรือเปล่า

เรามองไปว่ากิจกรรมประจำวันพวกนี้ไร้สาระ 

………………..

การขัดเกลาจิตใจให้โลภ โกรธ หลง เบาบางจางหายต้องทำในชีวิตประจำวัน พยายามหาโอกาสทำ สร้างโอกาสที่จะทำ ทำทุกโอกาสที่จะทำได้ 

แต่เรากลับพยายามตัดโอกาสนั้นเสีย

เราทุ่มเททรัพยากรจำนวนมหาศาลไปเพื่อแก้ปัญหาอันเกิดจากความอยุติธรรม-ซึ่งเป็น “ผล” 

แต่ตัว “เหตุ” คือโลภ โกรธ หลง เรากลับมองข้าม ปล่อยปละละเลย 

เย้ยหยันผู้ที่ฝักใฝ่ในทางธรรมว่าคร่ำครึ ล้าสมัย 

เหยียบย่ำกิจกรรมที่ทำเพื่อขัดเกลาจิตใจ 

เรารำคาญเสียงสวดมนต์

แต่เราชื่นชมเสียงคนตะโกนหาความยุติธรรม

………….

ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปเช่นนี้-ความเป็นไปที่สังคม-อันมีผู้บริหารบ้านเมืองเป็นแกนไม่สนใจและไม่ให้ความสำคัญแก่ศีลธรรม — 

ทางรอดของเราแต่ละคนก็คือ อย่ารอ หรือมัวแต่เรียกร้องให้คนอื่นมีศีลธรรม 

แต่จงศึกษาเรียนรู้ และลงมือปฏิบัติดำเนินตามหลักศีลธรรมด้วยตัวของเราเองเป็นเบื้องต้น 

ต่อจากนั้นก็แนะนำ บอกกล่าว ชักชวนคนใกล้ชิดเท่าที่จะสามารถทำได้-ตามสติปัญญาและตามกำลังความสามารถ 

ทำได้อย่างนี้ แม้อาจจะไม่สามารถแก้ปัญญาความอยุติธรรมในสังคมได้ แต่อย่างน้อยที่สุดเราก็มั่นใจและสบายใจได้ว่า-ความอยุติธรรมในสังคมไม่ได้เกิดจากเรา 

เราเป็นคนหนึ่งแน่ๆ ที่ไม่ได้สร้างความอยุติธรรมให้สังคม

แม้ว่าบางที-จะมีเราเพียงคนเดียวก็ตาม 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๓

๑๑:๔๔

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *