บาลีวันละคำ

บรมชนกาธิเบศร (บาลีวันละคำ 4,559)

บรมชนกาธิเบศร

ศึกษาคำน้อมนำถวายพระราชกุศล

อ่านว่า บอ-รม-ชะ-นะ-กา-ทิ-เบด

แยกศัพท์เป็น บรม + ชนก + อธิเบศร 

(๑) “บรม” 

บาลีเป็น “ปรม” อ่านว่า ปะ-ระ-มะ รากศัพท์มาจากหลายทาง แสดงในที่นี้พอเป็นตัวอย่าง :

(1) ปร (ข้าศึก) + มรฺ (ธาตุ = ตาย) + กฺวิ ปัจจัย ลบที่สุดธาตุ และลบปัจจัย

: ปร + มรฺ = ปรมร + กฺวิ = ปรมรกฺวิ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยังธรรมอันเป็นข้าศึกให้ตาย

(2) (ทั่วไป) + รมฺ (ธาตุ = ยินดี) + ปัจจัย, ลบ

: + รมฺ = ปรม + = ปรมณ > ปรม แปลตามศัพท์ว่า “ยินดีในความยิ่งใหญ่

(3) ปรฺ (ธาตุ = รักษา) + ปัจจัย

: ปร + = ปรม แปลตามศัพท์ว่า “รักษาความสูงสุดของตนไว้

ปรม” หมายถึง สูงสุด, พิเศษสุด, เป็นเลิศ, ดีที่สุด (highest, most excellent, superior, best)

ปรม” ที่ใช้ภาษาไทยว่า “บรม” (บอ-รม) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บรม, บรม– : (คำวิเศษณ์) อย่างยิ่ง, ที่สุด, (มักใช้นำหน้าคำที่เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า พระเจ้าแผ่นดิน และพระอัครมเหสี เป็นต้น เพื่อแสดงพระเกียรติยศยิ่งใหญ่) เช่น บรมศาสดา บรมบพิตร บรมราชินี บรมมหาราชวัง. (ป., ส. ปรม); (ภาษาปาก) อย่างที่สุด เช่น โง่บรม บรมขี้เกียจ”

(๒) “ชนก

บาลีอ่านว่า ชะ-นะ-กะ รากศัพท์มาจาก ชนฺ (ธาตุ = เกิด) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ) 

: ชนฺ + ณฺวุ = ชนณฺวุ > ชนก แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้เกิด” หรือ “ผู้ให้กำเนิดบุตร” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ชนก” ว่า producing, production (ผลิต, การผลิตหรือทำให้เกิดขึ้น, ให้กำเนิด) 

ความหมายสามัญที่เข้าใจกันคือ บิดา หรือ พ่อ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ชนก, ชนก– : (คำนาม) ชายผู้ให้กำเนิด, พ่อ, คู่กับ ชนนี. (ป., ส.).”

(๓) “อธิเบศร” 

แยกศัพท์เป็น อธิบ + อิศร 

(ก) “อธิบ” บาลีเป็น “อธิป” อ่านว่า อะ-ทิ-ปะ รากศัพท์มาจาก อธิ (คำอุปสรรค = ยิ่ง, ใหญ่, ทับ) + ปา (ธาตุ = รักษา) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อา ที่ ปา (ปา > )

: อธิ + ปา = อธิปา > อธิป + = อธิป แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักษาอย่างยิ่ง

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อธิป, อธิป– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, นาย, หัวหน้า, ผู้เป็นใหญ่, มักใช้พ่วงท้ายศัพท์ เช่น นราธิป ชนาธิป, แต่เมื่อนําหน้าคําที่ขึ้นต้นด้วยสระ มักใช้ อธิบ เช่น นราธิเบศร์ นราธิเบนทร์. (ป., ส.).”

(ข) “อิศร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิศร : (คำนาม) ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น นริศร มหิศร, หรือแผลงเป็น เอศร เช่น นฤเบศร. (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นใหญ่ในตัวเอง, เป็นไทแก่ตัวไม่ขึ้นแก่ใคร. (จาก ส. อีศฺวร ซึ่งมักใช้ อิศวร).”

คือพจนานุกรมฯ บอกว่า “อิศร” (อ่านว่า อิด) มาจาก “อีศฺวร” ในสันสกฤต

สันสกฤต “อิศวร” บาลีเป็น “อิสฺสร” อ่านว่า อิด-สะ-ระ รากศัพท์มาจาก –

(1) อิ (ตัดมาจาก “อิฏฺฐ” = น่าปรารถนา) + อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) + อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อิ + อสฺ

: อิ + สฺ + อสฺ = อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มี คือผู้เกิดในภูมิที่น่าปรารถนา” (อยากมี อยากเป็น อยากได้อะไร สมปรารถนาทั้งหมด ไม่มีใครขัดขวาง)

(2) อิสฺสฺ (ธาตุ = เป็นใหญ่) + อร ปัจจัย

: อิสฺส + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่

(3) อีสฺ (ธาตุ = ครอบงำ) อร ปัจจัย, ซ้อน สฺ ระหว่าง อีสฺ + อร, รัสสะ อี ที่ อี-(สฺ) เป็น อิ (อีสฺ > อิสฺ)

: อีส > อิสฺ + สฺ + อร = อิสฺสร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ครอบงำ” หมายถึงปกครอง

อิสฺสร” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้ปกครอง, ผู้เป็นนาย, หัวหน้า (lord, ruler, master, chief)

(2) พระเจ้าผู้สร้างโลก, พระพรหม (creative deity, Brahmā)

อิสฺสร” ในภาษาไทยตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง ใช้เป็น “อิสร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อิสร-, อิสระ : (คำวิเศษณ์) เป็นใหญ่, เป็นไทแก่ตัว, เช่น อิสรชน, ที่ปกครองตนเอง เช่น รัฐอิสระ, ไม่ขึ้นแก่ใคร, ไม่สังกัดใคร, เช่น อาชีพอิสระ นักเขียนอิสระ.น. ความเป็นไทแก่ตัว เช่น ไม่มีอิสระ แยกตัวเป็นอิสระ. (ป. อิสฺสร; ส. อีศฺวร).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า อิสฺสร > อิสระ ตรงกับสันสกฤตว่า “อีศฺวร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า – 

(สะกดตามต้นฉบับ

อีศฺวร : (คำนาม) พระอีศวรเปนเจ้า, พระเจ้า; ศัพท์นี้ใช้หมายความถึงเทพดาต่างๆ ทั่วไป; ‘īśvara’ the supreme ruler of the universe, God; this word is applied to all the different divinities.”

พจนานุกรมฯ เก็บคำว่า “อีศวร” ไว้ โดยบอกว่า อีศวร คือ “อิศวร” หมายความว่าคำหลักเขียนเป็น “อิศวร” แต่จะเขียนเป็น “อีศวร” ก็ได้ ถ้าเขียนเป็น “อีศวร” ก็ให้หมายถึง “อิศวร” นั่นเอง

ที่คำว่า “อิศวร” พจนานุกรมฯ บอกไว้ว่า –

อิศวร : (คำนาม) ชื่อเรียกพระศิวะซึ่งเป็นพระเจ้าองค์หนึ่งของพราหมณ์; ความเป็นเจ้าเป็นใหญ่, มักใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส และแผลงเป็น เอศวร เช่น นเรศวร ราเมศวร, ใช้ย่อเป็น อิศร (อ่านว่า อิสวน) ก็มี เช่น ใยยกพระธำมรงค์ สำหรับองค์อิศรราช. (เพชรมงกุฎ). (ส. อีศฺวร).”

สรุปว่า “อิศร” มาจาก “อีศฺวร” และมักใช้เป็น “อิศวร” 

และ “อีศฺวร” หรือ “อิศวร” บาลีเป็น “อิสฺสร” เขียนแบบไทยเป็น “อิสร

อิศร” (อีศฺวร) และ “อิสร” (อิสฺสร) เป็นคำที่มีมูลอันเดียวกัน

อธิป + อิสฺสร = อธิปิสฺสร > อธิเปสสร : อธิบ + อิศร = อธิเบศร แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นเจ้าผู้เป็นใหญ่

โปรดสังเกตว่า ทั้ง “อธิบ” (อธิป) และ “อิศร” (อิสฺสร) ต่างก็แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่” แต่การใช้คำซ้ำซ้อนกันเช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นข้อพิรุธในภาษาไทย กลับจะเป็นที่นิยมกันด้วยซ้ำ

การประสมคำ :

บรม + ชนก = บรมชนก อ่านตามหลักภาษาว่า บอ-รม-มะ-ชะ-นก แปลว่า “ชายผู้ให้กำเนิดผู้ยอดยิ่ง” พูดคำสามัญว่า พ่อผู้ยอดยิ่ง ใช้ทับศัพท์ว่า “พระบรมชนก” ใช้หมายถึงพระราชบิดาของพระมหากษัตริย์องค์ปัจจุบัน

บรมชนก + อธิเบศร = บรมชนกาธิเบศร อ่านตามประสงค์ว่า บอ-รม-ชะ-นะ-กา-ทิ-เบด แปลความว่า “พระบรมชนกผู้ยิ่งใหญ่” 

ขยายความ :

คำว่า “บรมชนกาธิเบศร” เป็นส่วนหนึ่งของพระปรมาภิไธยในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 

พระปรมาภิไธยอย่างเต็มเป็นดังนี้ –

…………..

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร 

มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช 

บรมนาถบพิตร

…………..

คำอ่าน –

…………..

พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-บอ-รม-ชะ-นะ-กา-ทิ-เบด-

มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด-มะ-หา-ราด-

บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด

…………..

พระปรมาภิไธยอย่างย่อเป็นดังนี้ –

…………..

พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช

บรมนาถบพิตร

…………..

คำอ่าน –

…………..

พระ-บาด-สม-เด็ด-พระ-มะ-หา-พู-มิ-พน-อะ-ดุน-ยะ-เดด-มะ-หา-ราด-

บอ-รม-มะ-นาด-บอ-พิด

…………..

หมายเหตุ:

พระปรมาภิไธยและคำอ่าน อ้างอิงจาก –

ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 136 ตอนพิเศษ 117 ง ลงวันที่ 10 พฤษภาคม 2562

https://ratchakitcha.soc.go.th/documents/17079767.pdf

…………..

ดูก่อนภราดา!

ภาษาเป็นสมบัติวัฒนธรรมประจำชาติ

: ชาติที่ไม่มีภาษาประจำชาติตัวเอง น่าสงสาร

: คนที่ลืมภาษาประจำชาติตัวเอง น่าสังเวช

#บาลีวันละคำ (4,559)

5-12-67 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *