บาลีวันละคำ

ประสาท (บาลีวันละคำ 2,816)

ประสาท

ถ้าประมาทก็กลายเป็นคำไม่ดี

อ่านว่า ปฺระ-สาด

ประสาท” บาลีเป็น “ปสาท” (ปะ-สา-ทะ) รากศัพท์มาจาก (คำอุปสรรค = ทั่วไป, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + สทฺ (ธาตุ = ยินดี, ชื่นชม; เลื่อมใส, ผ่องใส) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (สทฺ > สาท)

: + สทฺ = ปสทฺ + = ปสทณ > ปสท > ปสาท แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภาวะที่ทำให้ยินดีโดยพิเศษ” (2) “ภาวะเป็นเครื่องผ่องใสแห่งนัยน์ตา” (คือทำให้ตาผ่องใส)

ปสาท” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ความชัด, ความแจ่มใส, ความบริสุทธิ์ (clearness, brightness, purity)

(2) ความดีใจ, ความพอใจ, ความสุขหรือความครึ้มใจ, ความดี, ศรัทธา (joy, satisfaction, happy or good mind, virtue, faith)

(3) การพักผ่อน, ความสำรวมใจ, ความสงบเยือกเย็น, ความราบรื่นไม่ไหวหวั่น (repose, composure, allayment, serenity)

บาลี “ปสาท” สันสกฤตเป็น “ปฺรสาท

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกความหมายไว้ดังนี้ –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ปฺรสาท น. ‘ประสาท,’ ความแจ่มใสหรือเข้าใจง่าย, ความสะอาด, ความสุกใส; ความอนุเคราะห์, ความกรุณา; ความสุข, ความอยู่เย็นเปนสุข; วสังกรม, ประศานติหรือความสงบอารมณ์; กาพย์อันรจนาตามพฤตติ์ที่งามแต่ง่าย; ไวศัทย์, ความเข้าใจง่าย; สังโยค, สมาคม; อาหารอันพึงบูชาแต่ประติมาหรือบูชาครู; clearness, cleanliness, brightness; favour, kindness; well-being, welfare; composure, calmness of mind; poetry written in an elegant but easy style; perspicuity; connection, association; food offered to an idol or to a spiritual teacher.”

ในที่นี้ภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ประสาท

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “ประสาท” ไว้หลายคำ บอกไว้ดังนี้ –

(1) ประสาท ๑, ประสาท– ๑ : (คำนาม) ส่วนของร่างกาย มีลักษณะคล้ายเส้นใย มีหน้าที่นําคําสั่งและความรู้สึกไปสู่หรือออกจากสมองหรืออวัยวะส่วนอื่นของร่างกาย, โดยปริยายหมายความว่า จิตใจ, ความรู้สึก. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

(2) ประสาท ๒, ประสาท– ๒ : (คำนาม) ความเลื่อมใส. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

(3) ประสาท ๓ : (คำนาม) ยินดีให้, โปรดให้, เช่น ประสาทปริญญา ประสาทพร. (ส. ปฺรสาท; ป. ปสาท).

ประสาท” ตามข้อ (1) และ (2) เป็นความหมายตามบาลีสันสกฤต แต่ “ประสาท” ตามข้อ (3) เป็นความหมายที่กลายไปในภาษาไทย

ประสาท” ในภาษาไทย ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า ปฺระ-สา-ทะ- เช่น

ประสาทการ” อ่านว่า ปฺระ-สา-ทะ-กาน แปลว่า การเลื่อมใส

ประสาทรูป” อ่านว่า ปฺระ-สา-ทะ-รูบ แปลว่า เส้นประสาท

แต่ “ประสาทปริญญา” อ่านว่า ปฺระ-สาด-ปะ-ริน-ยา ไม่อ่านว่า ปฺระ-สา-ทะ-ปะ-ริน-ยา เพราะเป็นคำประสมแบบไทย ไม่ใช่คำสมาส

ประสาทพร” ก็ไม่อ่านว่า ปฺระ-สา-ทะ-พอน แต่อ่านว่า ปฺระ-สาด-พอน ด้วยเหตุผลเดียวกัน

อภิปราย :

ในภาษาไทย เมื่อพูดว่า “ประสาท” เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงสิ่งที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า nerve

โปรดดูคำแปล “ปสาท” ที่เป็นคำอังกฤษข้างต้นซึ่งเป็นคำที่ฝรั่งแปลไว้เอง จะเห็นว่าไม่มีความหมายใดที่แปล “ปสาท” ว่า nerve เลย

คำบาลีที่ภาษาอังกฤษแปลว่า nerve คือคำว่า “สิรา” แปลว่า (1) a bloodvessel, vein (เส้นโลหิต) (2) nerve, tendon, gut (ประสาท, เส้นเอ็น, ไส้พุง)

ปสาท” ในบาลีที่พอจะมีความหมายใกล้กับ nerve ก็คือ “ปสาทรูป” ที่พจนานุกรมฯ แปลว่า เส้นประสาท แต่ “ปสาทรูป” ในบาลีหมายถึงธาตุชนิดหนึ่งทำหน้าที่รับกระทบ (sensitive material qualities) เมื่อ รูป เสียง กลิ่น รส ผัสสะ ธัมมารมณ์ ที่เรียกว่า “อายตนะภายนอก” มาสัมผัสกับ ตา หู จมูก ลิ้น กาย จิต ที่เรียกว่า “อายตนะภายใน”

ในภาษาไทย คำว่า “ประสาท” ยังมีความหมายเชิงสำนวน หมายถึง ตระหนกตกตื่น หวาดกลัว วิตกกังวลว่าจะเกิดเรื่องไม่ดีต่างๆ ทั้งๆ ที่เรื่องเหล่านั้นยังไม่เกิด

ประสาท” ตามความหมายนี้เข้าใจว่าพูดตัดมาจากคำว่า “ประสาทหลอน” ซึ่งพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ว่า –

ประสาทหลอน : (คำนาม) ความผิดปรกติของการรับรู้ เช่น เห็นภาพหลอน ได้ยินเสียงคนพูดโดยไม่มีคนพูดจริง ได้กลิ่นที่ไม่มีอยู่จริง. (อ. hallucination).”

พจนานุกรมฯ บอกว่า “ประสาทหลอน” คำอังกฤษว่า hallucination

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล hallucination เป็นบาลีว่า –

matibbhama มติพฺภม (มะ-ติบ-พะ-มะ) แปลว่า “ความสับสนแห่งการรับรู้” คือเหตุการณ์จริงเป็นอย่างหนึ่ง แต่เข้าใจไปว่าเป็นอีกอย่างหนึ่ง ไม่ตรงกับที่เป็นจริง

ประสาทหลอน” นี่เองเอาไปพูดตัดคำเหลือแค่ “ประสาท” แล้วบางทีก็เสริมคำเข้าไปว่า “ประสาทกิน” แล้วแผลงเป็นคำคะนองต่อไปว่า “ประสาทแดก” แล้วพูดเป็นคำย่อว่า “ปอ-สอ-ดอ” ก็เป็นที่เข้าใจกัน

…………..

ดูก่อนภราดา!

: คนเขลาใช้ข่าวคุมประสาท

: คนฉลาดใช้สติคุมข่าว

#บาลีวันละคำ (2,816)

27-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย