บาลีวันละคำ

ทรัพย์พยากรณ์ (บาลีวันละคำ 2,818)

ทรัพย์พยากรณ์

พูดถูก แต่เขียนผิด

คำวิปริต อย่าเอาไปใช้

คำที่เราออกเสียงว่า ซับ-พะ-ยา-กอน นั้น คำที่ถูกต้องสะกดว่า “ทรัพยากร” แยกศัพท์เป็น ทรัพย + อากร

ทรัพย” (ซับ-พะ-ยะ) รูปคำสันสกฤตเป็น “ทฺรวฺย” บาลีเป็น “ทพฺพ” (ทับ-พะ) มีคำแปลดังนี้ –

(1) (คำนาม) วัสดุ, สิ่งของ, สมบัติ; ของที่มีแก่นสาร, สิ่งที่มีคุณค่า (material, substance, property; something substantial, a worthy object)

(2) (คำนาม) ต้นไม้, พุ่มไม้, ไม้ (a tree, shrub, wood)

(3) (คำคุณศัพท์) เหมือนต้นไม้, ทำด้วยไม้ (tree-like, wooden)

(4) (คำคุณศัพท์) เหมาะสำหรับ, สามารถ, ทรงคุณค่า, ดี (fit for, able, worthy, good)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ทรัพย-, ทรัพย์ : (คำนาม) เงินตรา เช่น ไม่มีทรัพย์ติดตัว, สมบัติพัสถาน เช่น เขาเป็นคนมีทรัพย์; (คำที่ใช้ในกฎหมาย) วัตถุมีรูปร่าง; โดยปริยายหมายถึงสิ่งที่ถือว่ามีค่า อาจไม่มีรูปร่างก็ได้ เช่น มีปัญญาเป็นทรัพย์ อริยทรัพย์. (ส. ทฺรวฺย).”

อากร” บาลีอ่านว่า อา-กะ-ระ ไทยอ่านว่า อา-กอน แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทำไปทั่วๆ” “ผู้ทำไปข้างหน้า” หมายถึง บ่อ, แหล่งกำเนิดของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง (a mine)

ทรัพย + อากร = ทรัพยากร

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

ทรัพยากร : (คำนาม) สิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์.”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับปรุงคำนิยามใหม่เป็นดังนี้ –

ทรัพยากร : (คำนาม) สิ่งทั้งปวงอันเป็นทรัพย์หรือมีค่า.”

เรื่องที่ไม่ควรจะเป็นก็คือ คำที่เราออกเสียงว่า ซับ-พะ-ยา-กอน นี้ มีผู้สะกดเป็น “ทรัพย์พยากรณ์

คือเอาคำว่า “ทรัพย์” กับคำว่า “พยากรณ์” มาปนกัน!

ทรัพย์” คือ เงินตราหรือสิ่งที่ถือว่ามีค่า ดังแสดงความหมายข้างต้น

พยากรณ์” บาลีเป็น “วฺยากรณ” (วฺยา-กะ-ระ-นะ) หมายถึง –

(1) การตอบคำถาม, การอธิบาย, การไขความ (answer, explanation, exposition)

(2) ไวยากรณ์ (grammar)

(3) การทำนาย (prediction)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

พยากรณ์ : (คำกริยา) ทํานายหรือคาดการณ์โดยอาศัยหลักวิชา. (คำนาม) ชื่อคัมภีร์โหราศาสตร์ว่าด้วยการทํานาย. (ป., ส. วฺยากรณ).”

จะเห็นได้ว่า เขียนเป็น “ทรัพย์พยากรณ์” อ่านเท่ากับ “ทรัพยากร” เหมือนกัน ฟังแต่เสียงอาจเข้าใจว่าถูกต้อง แต่เห็นตัวหนังสือจึงจะรู้ว่าความหมายไปคนละทาง

ทรัพย์พยากรณ์” เป็นคำเพี้ยนที่เกิดขึ้นเพราะขาดการสังเกต และความไม่รู้รากศัพท์เป็นเหตุใหญ่ เมื่อเขียนไปแล้วจึงไม่ได้เฉลียวใจว่า นั่นเป็นคำที่เขียนผิด

กรณีคำที่สะกดผิดนี้ บางท่านมีความเห็นว่าควรเอาคำที่สะกดถูกต้องเท่านั้นมาแสดง ไม่ควรเอาคำสะกดผิดมาแสดงให้เห็น เพราะจะเป็นเหตุให้คนจำเอาไปเขียนผิดตามต่อไปอีก การไม่ให้เห็นคำผิดเสียเลยจึงย่อมจะปลอดภัยกว่า

เรื่องนี้ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นตรงกันข้าม คือเห็นว่า เอาคำผิดมาแสดงให้เห็นแล้วชี้ให้เข้าใจชัดแจ้งว่าผิดอย่างไร แบบนี้ปลอดภัยกว่า เพราะเมื่อเข้าใจชัดว่าผิดแล้ว ไปเจอเข้าที่ไหนอีกก็ย่อมจะรู้ชัดว่าผิดทุกทีไป ต่างจากคนที่ไม่เคยเห็นคำผิด ถ้าไปเจอเข้าอาจเข้าใจไปว่าเป็นคำถูกอีกคำหนึ่งก็เป็นได้

อย่างไรก็ตาม ทั้งสองวิธีนี้เป็นเพียงทฤษฎี ไม่มีผิดมีถูก และยังพิสูจน์ตัดสินเด็ดขาดไม่ได้ว่าวิธีไหนดีกว่ากัน จึงไม่ควรเถียงกัน แต่พึงเลือกใช้ให้เกิดประโยชน์ตามที่เห็นสมควร

แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ไม่ควรพยายามอธิบายคำที่เขียนผิดให้เกิดเป็นคำที่มีความหมายขึ้นมา เพราะนั่นคือการช่วยกันทำผิดให้กลายเป็นถูก

วิธีที่ควรทำคือ ช่วยกันแก้ไขที่ผิดให้กลับเป็นถูก

ดูเพิ่มเติม:

ทรัพย์” บาลีวันละคำ (929) 3-12-57

พยากรณ์” บาลีวันละคำ (1,024) 8-3-58

ทรัพยากร” บาลีวันละคำ (1,344) 3-2-59

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เปลี่ยนคำ

: ง่ายกว่าเปลี่ยนคน

#บาลีวันละคำ (2,818)

29-2-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย